เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
หมดหวัง พึ่ง "ส่งออก" กระตุ้น "จีดีพี"








การประมาณการเศรษฐกิจไทยของหน่วยงานหลัก  ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ล่าสุด  มีความเห็นที่สอดคล้องในการปรับเพิ่มประมาณการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้เพิ่มขึ้น  แต่ปรับลดการส่งออกลง สะท้อนให้เห็นว่า  การลงทุนและการบริโภคของทั้งภาครัฐและเอกชน ยังเป็นเครื่องจักรที่สำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย 

นายไพบูลย์  กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า ธปท.ประมาณการเศรษฐกิจไทยว่าจะขยายตัวประมาณ 5.1% จากเดิมที่ประมาณการเมื่อเดือนมกราคมที่ระดับ 4.9%  พร้อมกันนั้นได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจของปี 2557 มาอยู่ที่ระดับ 5.0% จากเดิมที่ระดับ 4.8%

เหตุผลสำคัญในการปรับประมาณการดังกล่าว เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 4 ปีก่อน มีการขยายตัวในระดับที่สูง อยู่ที่ระดับ 18.9%  ซึ่งสูงกว่าที่ ธปท.และระบบคาดการณ์ไว้

นอกจากนี้ มองว่าจะมีแรงกระตุ้นเพิ่มเติมจากการลงทุนภาครัฐ รวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าฟื้นตัวมากกว่าที่คาดการณ์  ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ธปท.ประเมินว่า ในปีนี้จะอยู่ในระดับ 1.6% ลดลงจากครั้งก่อนที่ประมาณไว้ 1.7%  ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ในระดับ 2.7% จากเดิมอยู่ที่ 2.8% 

สำหรับประมาณการตัวเลขสำคัญของเศรษฐกิจในปีนี้ ในด้านต่างๆ  ธปท.ประมาณการ ไว้ดังนี้ การบริโภคภาคเอกชนประมาณการไว้ 4.7%  จากเดิม 4.3% โดยการบริโภคภาคเอกชนจะเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจในระยะไป  ส่วนการลงทุนภาคเอกชนอยู่ในระดับ 7.4% จากเดิม 12.1% เนื่องจากส่วนหนึ่งได้มีการเร่งลงทุนไปก่อนหน้านี้แล้ว ส่วนในแง่ของภาครัฐประมาณว่าจะมีการอุปโภคบริโภคขยายตัวที่ 4.5% จากเดิม 2.2% และการลงทุนอยู่ที่ 22.3% จากเดิม 17.1%

ทั้งนี้ ธปท.ประเมินแผนการลงทุนภาครัฐว่า จะสามารถเบิกจ่ายงบประมาณในช่วง 2 ปีแรกได้ประมาณ 40% ของแผนการลงทุนในแต่ละปี  ซึ่งในปี 2556 คาดว่าจะการเบิกจ่ายประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท ปี 2557 จะเบิกจ่ายได้ 9.3 หมื่นล้านบาท

ส่วนมูลค่าการส่งออกเติบโต 7.5% จากเดิม 9.0% มูลค่าการนำเข้า 8.7% จากเดิม 9.2% โดยปัจจัยหลักมาจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น อาจส่งผลให้กำไรของผู้ส่งออกลดลง เมื่อนำรายได้มาแปลงเป็นเงินบาท  ซึ่งสอดคล้องกับยอดการส่งออกในไตรมาส 1 ที่ลดลงเช่นกัน

 

                                     ตารางประมาณการเศรษฐกิจปี 2556-2557

                                                                                                             ร้อยละ   

                                                                    2555         2556          2557

อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ                    6.4          5.1           5.0

(เดิม)                                                           (5.9)        (4.9)         (4.8)

การบริโภคภาคเอกชน                                 6.6          4.7           3.7            

(เดิม)                                                           (5.8)        (4.3)         (3.5)  

การลงทุนภาครัฐ                                          8.9         22.3           6.9

(เดิม)                                                            (6.3)       (17.1)       (7.6)

มูลค่าการส่งออกสินค้า                                 3.2          7.5          10.0              

(เดิม)                                                            (4.4)        (9.0)         (9.7)

มูลค่าการนำเข้าสินค้า                                  7.8          8.7          10.3           

(เดิม)                                                           (7.0)        (9.2)         (9.3)

 

ที่มา :  ธนาคารแห่งประเทศไทย  

 

สอดคล้องกับมุมมองของ สศค. นายสมชัย  สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการ สศค. ที่กล่าวว่า สศค.ได้ปรับประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปี 2556 เพิ่มเป็น 5.3%  จากประมาณการเดิม 5% หลังจากการขยายตัวของเศรษฐกิจไตรมาส 4 ปีที่แล้วสูงมาก  ทำให้มีแรงเหวี่ยงที่เศรษฐกิจจะขยายตัวต่อเนื่องได้   โดยปัจจัยสำคัญมาจากอุปสงค์ภายในประเทศยังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะการบริโภคที่คาดว่าจะขยายตัว 4.6% จากประมาณการเดิม 3.9%  จากรายได้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ และโครงการรับจำนำข้าว ขณะที่การลงทุนคาดว่าจะขยายตัวจากเดิม 9.2% เป็น 9.3% จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐและการลดภาษีนิติบุคคล

ขณะที่การบริโภคภาครัฐก็จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 14.2% จากเดิม 14% ตามการใช้จ่ายภาครัฐ ที่คาดว่าจะมีทั้งสิ้น 3.16 ล้านล้านบาท  ทั้งจากการเบิกจ่ายตามงบประมาณประจำปีประมาณปี 2556 และการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท  ซึ่งยังไม่นับรวมเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ตามแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล

แต่ปัจจัยที่น่ากังวลคือ การส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น สศค. จึงได้ปรับลดเป้าหมายการส่งออกทั้งปีเหลือ 9% เท่ากับกระทรวงพาณิชย์ จากประมาณการเดิม 10.5% พร้อมกับปรับประมาณการค่าเงินบาทว่าจะแข็งค่าอยู่ที่ระดับ 29.40 บาทต่อดอลลาร์  จากเดิม 30.70 บาทต่อดอลลาร์

         

 

              ตารางประมาณการเศรษฐกิจของ สศค.ปี 2556  (ณ เดือนมี.ค.2556)

                                                               ปี 2555       ปี 2556

                                                             (เฉลี่ย)         (เฉลี่ย)          

GDP(%)                                                   6.4           5.3       

การบริโภค                                               6.6           4.4       

 - เอกชน                                                  6.6           4.6       

  -รัฐ                                                         7.4            3.5       

การลงทุน                                              10.2           10.3     

  เอกชน                                                 14.6            9.3      

  รัฐ                                                         8.9           14.2     

ส่งออกสินค้า(%)                                    3.2            9.0        

ที่มา:  สศค. 

 


LastUpdate 14/04/2556 23:36:59 โดย : Admin
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 2:50 pm