เรื่องที่จะบอกเล่าเก้าสิบเกี่ยวกับการพิจารณาสินเชื่อบ้านหรือสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่เชื่อมโยงมายังการทำงานของเครดิตบูโรในแง่ที่ว่า ข้อมูลจากเครดิตบูโรที่สถาบันการเงินใช้ในการวิเคราะห์สินเชื่อ ภายใต้การให้ความยินยอมของเจ้าของข้อมูลที่ยื่นขอกู้ เพื่อเป็นการเตรียมตัวของท่านผู้อ่านบทความ หรือท่านที่สนใจ หรือท่านที่กำลังวางแผนจะยื่นคำขอกู้บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ และคอนโดมิเนียม กับสถาบันการเงินในช่วงเวลานี้ ผมขอนำเสนออย่างเป็นขั้นเป็นตอน ดังนี้นะครับ
1. ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ การให้ข่าวของนายธนาคารที่เป็นผู้ให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยรายใหญ่ท่านหนึ่งที่ได้แสดงความเห็นดังนี้ ยอดการปฏิเสธบ้านในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา อยู่ที่ 30-35% ของใบสมัครขอสินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งเพิ่มขึ้น 2-3% เป็นผลมาจากกลุ่มผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน มีภาระหนี้สินด้านอื่นๆ เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ธนาคารได้เฝ้าระวังไม่ให้เกิดการเก็งกำไรที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะบ้านหลังที่ 2 จะเข้มงวดมากขึ้น และนำรายได้ของผู้กู้มาพิจารณาในการอนุมัติหรือไม่อนุมัติสินเชื่อด้วย ส่วนบ้านหลังที่ 3 ธนาคารจะไม่ปล่อยกู้ เนื่องจากเกินความจำเป็น เพราะสินเชื่อที่ปล่อยให้กับลูกค้าจะมุ่งเน้นเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยตามวัตถุประสงค์เป็นหลัก
2. ผมเห็นว่าจากใบสมัคร 100 รายการ จะผ่านการอนุมัติ 65-70 รายการ ทั้งที่เป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน มีการจ่ายดาวน์ให้แก่โครงการจำนวนหนึ่งแล้ว แสดงว่าการพิจารณาสินเชื่อได้ลงลึกไปถึงขีดความสามารถในการชำระหนี้โดยดูจากรายได้ของผู้ขอกู้ว่าได้รับมาเท่าใด มีภาระเดิมจากหนี้เดิมที่อาจเป็นค่าผ่อนรถยนต์ ค่าผ่อนหนี้บัตรเครดิต ค่าผ่อนเงินกู้ส่วนบุคคลที่กู้มาเป็นก้อนแต่ผ่อนเป็นงวด
ถ้าหากว่าภาระหนี้เดิมดังกล่าวบวกกับภาระหนี้ใหม่ในการกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยครั้งนี้แล้วเกินกว่า 40-50% ของรายได้แล้ว คนที่ยื่นขอกู้อาจต้องผิดหวังครับ ตัวอย่างเช่น มีรายได้ 30,000 บาทต่อเดือน ก็ควรมีภาระหนี้ทั้งหลายของเดิมบวกที่จะต้องผ่อนในหนี้ก้อนที่กำลังขอกู้ใหม่นี้ไม่เกิน 12,000-15,000 บาท ส่วนที่เหลือต้องกินต้องใช้ประมาณ 10,000 บาท เก็บออมอีกประมาณ 5,000-8,000 บาท จึงจะถือว่าอยู่รอดปลอดภัย อย่าลืมว่าดอกเบี้ยเงินกู้อาจเพิ่มในอนาคต ซึ่งก็จะไปเบียดเอาจากส่วนที่เก็บออมนั่นเอง
3. ในรายงานเครดิตบูโรจะมีข้อมูลว่า เจ้าของข้อมูลที่ไปยื่นขอกู้นั้น ในเดือนปัจจุบันล่าสุดนั้นมีสินเชื่อทั้งหลายนั้นกี่บัญชี เปิดอยู่กี่บัญชี ปิดอยู่กี่บัญชี เป็นสินเชื่ออะไรบ้าง หากเข้าไปดูไส้ในของรายงานแล้ว พบว่า คนที่ยื่นขอกู้มีบัญชีสินเชื่อบ้าน สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยกี่บัญชี ถ้าสถาบันการเงินเขาพบว่า นายสุรพลคนนี้ คนที่มาขอกู้ครั้งนี้ มีจำนวนบัญชีสินเชื่อเพื่อที่อยูกี่บัญชี หากพบว่ามีอยู่แล้ว 2 บัญชี หรือ 3 บัญชี เขาต้องถามแน่ๆ ว่าบ้านหรือคอนโดที่จะขอกู้ครั้งนี้เป็ที่อยู่อาศัยลำดับที่เท่าใด ทำไมต้องมี 3 ที่ หรือ 4-5 ที่ เก็งกำไรเพื่อซื้อมาขายไปหรือไม่ ถ้าบอกว่าปล่อยเช่าเขาต้องถามว่าคนเช่ามีหรือยัง เช่ามานานหรือยัง หรือจะเช่านานเท่าใด เป็นต้น
4. จริงๆ แล้ว คนที่จะไปขอกู้ ต้องไม่ลืมว่า สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย คือ กู้มาเพื่อซื้อบ้านหรือคอนโดมิเนียม เพื่อเอาไว้พักอาศัย เอาไว้พักอาศัยครับย้ำอีกครั้งหนึ่ง หากเอาเงินเพื่อให้เรื่องอื่นๆ มันก็ไม่ใช่สินเชื่อเพื่อการเคหะ เพื่อที่อยู่อาศัย ไม่ใช่เรื่องกู้มาแล้วเอาไปซื้อบ้าน คอนโดอีกต่อไป แต่เป็นการกู้มาเพื่อซื้อบ้านเก็งกำไร ท่านผู้อ่านว่าจริงไหม ใครทำอย่างนี้ถือว่า ใช้เงินกู้จากสถาบันการเงินผิดวัตถุประสงค์แน่นอน
สุดท้ายครับ ท่านที่จะไปขอกู้ ท่านต้องตรวจเครดิตบูโรของท่านก่อนนะครับ เพื่อป้องกันมิให้จุดเสี่ยงของเราๆ ท่านๆ ระเบิดออกมาในยามนี้ มันเสี่ยงจริงๆ นะไม่ได้โม้ครับ
สุรพล โอภาสเสถียร
ผู้จัดการใหญ่
บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด
ข่าวเด่น