แม้ที่ผ่านมาโลกต้องเผชิญกับ “โรคจากสัตว์สู่คน” มาแล้วหลายครั้ง ทั้งโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงหรือซาร์ส (Sars) ที่เชื่อว่ามีแหล่งมาจากตัวชะมดในตลาดค้าเนื้อสัตว์ป่ามณฑลกวางตุ้งของจีน โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 (H1N1) ในปีนี้ยังมี “หวัดมรณะ”ที่เกิดจากเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่คล้ายซาร์ส (SARS-like coronavirus) ส่วนไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ก็ยังคงมีอยู่ในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างเวียดนาม กัมพูชา และแม้แต่จีน ซึ่งจีนเหมือนเจอศึกหนัก 2 เด้ง มีไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่ H7N9 โผล่มาให้ต้องแก้ เร่งหาต้นตอและควบคุมการระบาดที่กำลังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทางตะวันออกของประเทศ รวมถึงต้องเร่งรีบพัฒนาวัคซีนใหม่ ๆ เพื่อใช้รับมือ ป้องกันการระบาดระหว่างคนสู่คนที่มีความเป็นไปได้เสียด้วย แม้องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่า ยังไม่พบสัญญาณดังกล่าวก็ตาม
เปิดศักราชใหม่ปี 2013 มานี้ กล่าวได้ว่า ยังคงมีโรคร้ายให้ต้องระวังกันไม่ต่างจากปีอื่น ๆ ดังไข้หวัดลึกลับที่เกิดจากเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่คล้ายซาร์ส ซึ่งข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ (CDC) พบว่า นับจากเดือนเมษายน 2012- มีนาคม 2013 มีผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันรวม 17 คน จากจอร์แดน ซาอุดิอารเบีย กาตาร์ อังกฤษ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และมีผู้เสียชีวิต 11 คน โดยเชื่อว่าเชื้อไวรัสนี้มีที่มาจากค้างคาว
สำหรับไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ยังพบว่ามีผู้ติดเชื้อในกัมพูชาอย่างน้อย 10 ราย เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 2 ราย ส่วนที่เวียดนามเพิ่งรายงานพบผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดนก H5N1 เป็นรายแรกในรอบ 14 เดือนเมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเหยื่อเป็นเด็กน้อยวัย 4 ปีจากครอบครัวที่มีอาชีพเกษตรกร เคยมีประวัตินั่งดูยายเชือดไก่ก่อนมีอาการไข้สูงและถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลในเวลาต่อมา แต่อาการไม่ดีขึ้นและเสียชีวิตในที่สุด
แม้แต่จีนเอง ยังมีรายงานผู้เสียชีวิตจากไวรัสไข้หวัดนก H5N1 เช่นกัน 2 ราย และช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ยังพบผู้ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่ H7N9 อีกเป็นครั้งแรก ซึ่งที่ผ่านมาแม้ไวรัสกลุ่ม H7 ที่มีชนิดแยกย่อยเป็น N1-N9 จะมีรายงานติดเชื้อในคนหลายครั้ง แต่ยังไม่เคยปรากฎการติดเชื้อ H7N9 มาก่อน
โดยจีนพบผู้ติดเชื้อแล้วอย่างน้อย 60 คน และมีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 13 คน ในหลายพื้นที่ทางภาคตะวันออกของประเทศ เช่น ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ,เมืองซูโจว มณฑลอานฮุย, หลายเมืองของมณฑลเจียงซู ทั้งหนานจิง สู้เฉียน ซูโจว อู๋ซี ไท้ชาง เจินเจียง หยางโจว,มณฑลเหอหนาน,เมืองหังโจว มณฑลเจ้อเจียง และยังบุกไปถึงนครหลวงปักกิ่งแล้ว เชื่อว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ไอ หอบ และพัฒนาไปเต็มขั้นมีภาวะปอดอักเสบรุนแรง ซึ่งพัฒนาการของโรคใช้เวลารวดเร็วเพียง 1 วันเท่านั้น
นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษายีนไวรัสพันธุ์ใหม่นี้อย่างละเอียด พบว่า เป็นเชื้อที่มีการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่าง H7N9 และ H9N2 โดยมียีนที่เรียกว่า internal gene ซึ่งกําหนดการสร้างโปรตีนภายในเปลือกหุ้มหลายชนิดเหมือนกับเชื้อ H9N2 ผู้เชี่ยวชาญจาก CDC เชื่อว่า ยีนดังกล่าวอาจช่วยให้เชื้อไวรัสกลายพันธุ์สามารถปรับตัวและเจริญเติบโตอยู่ในสัตว์เลือดอุ่นได้ดีเช่นเดียวกับเชื้อ H9N2
เวลานี้ทางการจีนยังได้เร่งรีบหาต้นตอเชื้อไวรัสเพื่อหวังสกัดการระบาดครั้งใหญ่ พร้อมมาตรการร่วมด้วยช่วยกันตรวจหาผู้ติดเชื้อร่วมกับโรงพยาบาลและห้องปฏิบัติการทั่วประเทศ เพื่อมุ่งให้การรักษาตั้งแต่ระยะแรกเริ่มเพื่อลดโอกาสเสียชีวิต อีกทั้งเร่งพัฒนาวัคซีนด้วยเกรงว่า เชื้อไวรัสหวัดนกใหม่อาจมีการกลายพันธุ์ให้สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ง่ายขึ้นและอาจนำไปสู่การระบาดครั้งใหญ่ได้ แม้ยังไม่พบสัญญาณดังกล่าวในขณะนี้
สำหรับสถานการณ์ในไทยนั้น กรมปศุสัตว์รายงานว่า ตรวจพบเชื้อไข้หวัดนก (H5N1, H5N2) ในสัตว์ปีกครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2008 กระทั่งปัจจุบันมากกว่า 5 ปีแล้วที่ไม่พบเชื้อไข้หวัดนก รวมทั้งเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 ในสัตว์ปีก
ส่วนผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ที่พบในไทยมีจํานวนทั้งสิ้น 25 ราย เสียชีวิต 17 ราย พบผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดนกรายสุดท้ายในปี 2006 และยังคงเฝ้าระวังอยู่อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังพบไข้หวัดนกระบาดในสัตว์ปีกในหลายประเทศ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้มอบนโยบายในการเฝ้าระวังแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกรมวิทยาศาสตร์-การแพทย์ ซึ่งรับผิดชอบในการตรวจวินิจฉัยและสนับสนุนน้ำยาในการเก็บตัวอย่างการตรวจหาเชื้อไข้หวัดนกสายพันธ H7N9 โดยประสานความร่วมมือกับ WHO และ CDC ห้องปฏิบัติการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุขและศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์
ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สามารถตรวจวิเคราะห์หาสายพันธุ์ไข้หวัดนกชนิด H7 ด้วยเทคนิค Polymerase Chain Reaction (PCR) เพื่อคัดกรองหาสารพันธุกรรมของเชื้อไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนก จากนั้นจึงตรวจยืนยันสายพันธุ์ไข้หวัดนกชนิด H7 ด้วยวิธีการหาลําดับเบส (Gene sequencing) อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม การรับมือกับไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่ H7N9 ส่อเค้าว่าจะกลายเป็นหนังเรื่องยาว ให้ต้องแก้กันต่อไป เมื่อผู้เชี่ยวชาญสรุปปัจจัยเสี่ยงไว้หลายอย่าง ดังนี้ คือ
1. สัตว์ปีกที่ติดเชื้อมักไม่ปรากฎอาการ
2. เชื้อไวรัสกลายพันธุ์ใหม่แพร่สู่คนได้ง่ายกว่าไวรัสที่คล้ายกัน
3. วัคซีนที่พัฒนาเพื่อต้านเชื้อไวรัส H7 ชนิดย่อยอื่น ๆ ไม่มีประสิทธิภาพ ในขณะที่วัคซีนที่จีนและสหรัฐกำลังพัฒนายังต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน ราว 5-8 เดือน
4. ไวรัส H7N9 ยังมีแนวโน้มดื้อยา โดยก่อนหน้านี้จีนรายงานว่า ยาชนิดรับประทานและชนิดพ่นยังสามารถรักษาผู้ติดเชื้อได้ผล อย่างไรก็ตามล่าสุดเวบไซต์โครงการแลกเปลี่ยนข้อมูลไข้หวัดนก( the Global Initiative on Sharing Avian Influenza Data) เปิดเผยว่า ได้ค้นพบตัวอย่าง ไวรัส H7N9 จากผู้ป่วยในเซี่ยงไฮ้ 1 ใน 3 ดื้อยาต้านเชื้อไวรัสทามิฟลู ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสที่ใช้ได้ผลดีกับการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนก H5N1 มาก่อน ผลจากไวรัสใหม่มียีนกลายพันธุ์ที่เรียกว่า R292k ที่ยังส่งผลให้มีการตอบสนองต่อยาต้านไวรัสขนานอื่นน้อยลงไปด้วย
โดยภาพรวมจะเห็นได้ว่า คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะปราบไวรัสสายพันธุ์ใหม่ สิ่งที่ทำได้ในขณะนี้คือ การพึ่งพามาตรการคุมเข้มของทางการ ขณะที่เราในฐานะประชาชนทั่วไปสามารถช่วยได้ ด้วยการช่วยสอดส่องดูแลทั้งสัตว์และคน รวมถึงป้องกันตัวเองและให้ความรู้แก่คนใกล้ชิดไปพร้อม ๆ กัน เช่น บริโภคเนื้อไก่ ไข่ ให้สุกไว้ก่อน เลี่ยงสัมผัสและห้ามอยู่ใกล้นกหรือสัตว์ปีกทุกชนิด รักษาความสะอาดล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งที่ต้องสัมผัสสัตว์ปีก และสังเกตตนเองและบุคคลใกล้ชิดหากมีอาการไข้ อาการระบบทางเดินหายใจ ให้รีบนำตัวพบแพทย์
ข่าวเด่น