"กสิกรไทย"ยอมรับคุมเข้มปล่อยกู้อสังหาฯ ทั้งดีวีลอปเปอร์ และลูกค้ารายบุคคล ชี้จุดโฟกัสหัวเมืองใหญ่ ระมัดระวังการปล่อยกู้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายกลาง-รายเล็ก เหตุการแข่งขันรุนแรง รายใหญ่โดดบุกตลาดหนัก ขณะที่คุมการปล่อยกู้ลูกค้าซื้อบ้านหลังที่ 2 ดูความสามารถชำระหนี้เป็นหลัก ส่วนหลังที่ 3 เลิกพูดถึงเข้าข่ายเก็งกำไร ไม่ปล่อยกู้แน่
นายพัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ปีนี้ธนาคารชะลอการปล่อยกู้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในกลุ่มผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (ดีวีลอปเปอร์) มากพอสมควร โดยเฉพาะธุรกิจที่อยู่ในต่างจังหวัด ซึ่งตอนนี้มีดีวีลอปเปอร์รายใหญ่เข้าไปบุกตลาดค่อนข้างมาก ทำให้รายเล็กในพื้นที่มีความเสี่ยงจากการแข่งขันมากขึ้น ฉะนั้น ธนาคารก็ต้องพิจารณาสินเชื่ออย่างระมัดระวังด้วย
อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าวมิได้หมายความว่า ธนาคารฯจะปฏิเสธการพิจารณาสินเชื่อให้ธุรกิจกลุ่มนี้ โดยนายพัชรอธิบายว่า กรณีที่เป็นลูกค้าเดิมของธนาคารก็พร้อมจะพิจารณาสินเชื่อให้ หรือในกรณีที่มีที่ดินอยู่แล้ว หากยังขาดเงินทุนสำหรับพัฒนาโครงการ ธนาคารก็ยินดีเปิดรับพิจารณาสินเชื่อ แต่กรณีที่ยังไม่มีที่ดิน โดยจะมาขอสินเชื่อทั้งซื้อที่ดินและพัฒนาโครงการด้วยนั้น ธนาคารคงต้องชะลอไว้ก่อน
"เราก็เห็นสัญญาณว่าตลาดที่อยู่อาศัยในหัวเมืองใหญ่ขยายตัวเร็วมาก ยอมรับว่าเป็นห่วงเรื่องนี้อยู่ ถ้าเติบโตเร็วเกินไปจริงๆ บวกกับรายใหญ่ๆ รุกเข้ามาเยอะ เราก็ต้องส่งสัญญาณเตือนผู้ประกอบการด้วย มิฉะนั้นถ้าเกิดความเสียหายก็จะเสียหายไปด้วยกัน ซึ่งพอร์ตนี้มีวงเงินสินเชื่อรวมประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ของพอร์ตสินเชื่อ 4.68 แสนล้านาท จึงไม่น่าจะกระทบต่อเป้าหมายขยายสินเชื่อในปีนี้ที่ตั้งเป้าเติบโต 12.8%" นายพัชรกล่าว
นอกจากฝั่งสินเชื่อที่ปล่อยให้แก่ดีวีลอปเปอร์แล้ว ในฝั่งสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารกสิกรไทยก็เข้มข้นไม่แพ้กัน โดยนายชาติชาย พยุหนาวีชัย รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารก็คัดกรองรายย่อยเช่นกัน ซึ่งนโยบายการพิจารณาสินเชื่อจะดูจากความสามารถในการชำระหนี้เป็นหลัก ลูกค้าทีี่จะได้รับอนุมัติสินเชื่อต้องประเมินแล้วภาระหนี้ไม่เกิน 40% ของรายได้
ยิ่งกว่านั้น ในรายที่ขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลังที่ 2 นายชาติชายกล่าวว่า ธนาคารก็จะพิจารณาอย่างเข้มงวดมากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะเรื่องความสามารถชำระหนี้ ถ้าอยู่ในเกณฑ์ก็สามารถอนุมัติสินเชื่อได้ เพราะลูกค้าบางรายก็อาจจะมีความต้องการซื้อหลังที่ 2 เช่น คอนโดมิเนียมซึ่งอยู่ใกล้ที่ทำงาน อาจไม่ใช่การเก็งกำไรเสมอไป อย่างไรก็ตาม ธนาคารจะจำกัดไว้ไม่ปล่อยสินเชื่อสำหรับการขอกู้ตั้งแต่หลังที่ 3 เป็นต้นไป
"หากแยกตลาดลงไปแล้ว กลุ่มที่เป็นบ้าน ทาวน์เฮาส์ และบ้านเดี่ยว ถือว่าตัดออกไปได้ โอกาสที่จะเก็งกำไรเป็น 0% เลย เพราะโครงการเหล่านี้จะอยู่ออกไปทางชานเมือง เก็งกำไรได้ยาก ส่วนที่ดินเปล่าก็ตัดออก เพราะธนาคารไม่ปล่อยกู้ซื้อที่ดินเปล่าอยู่แล้ว จุดที่อาจจะเก็งกำไรได้ก็คือ คอนโดฯ ซึ่งก็ต้องเลือกทำเลด้วย และคุมค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ถือว่าตลาดยังมีดีมานด์สูง ปริมาณของคอนโดฯ ที่มีอยู่ตอนนี้จึงยังไม่ถือว่าอยู่ในระดับที่โอเวอร์ซัพพลาย"
สำหรับกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาแสดงความกังวลเรื่องภาระหนี้ครัวเรือน และสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เติบโตสูงมากนั้น นายชาติชายให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องดีที่ ธปท. แสดงความกังวลและช่วยคุมในภาพรวมอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งนโยบายของธนาคารก็เดินมาในทางนี้อยู่แล้ว รวมถึงอัตราหนี้เอ็นพีแอลตอนนี้ก็อยู่ในระดับที่ต่ำมากเป็นประวัติการณ์ จึงมองว่าไม่ได้เป็นระดับที่อันตราย
ข่าวเด่น