สุขภาพ
"อุปกรณ์พ่นยา-หุ่นยนต์กระตุ้นเด็กออทิสติก" คว้ารางวัลเวทีโลกเจนีวา


 

 
วช.นำทัพนักประดิษฐ์ไทยกวาดรางวัลระดับโลกที่สวิตเซอร์แลนด์มาเพียบถึง 48 รางวัล  ผลงาน“อุปกรณ์ช่วยพ่นยาชนิดทำได้ด้วยตนเอง” ของทีมนักวิจัย มธ. ศูนย์รังสิตและ“หุ่นยนต์เสริมการกระตุ้นพัฒนาการเด็กออทิสติก” จากทีมวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล คว้ารางวัลเหรียญทองเกียรติยศหรือ“Super Gold  Medal”  กลุ่มงานด้านวิศวกรรมทางการแพทย์สำหรับผู้ทุพพลภาพและด้อยโอกาส
 
ระหว่างวันที่ 10 – 14 เมษายน 2556 ณ กรุงเจนีวา ประเทศสมาพันธรัฐสวิสที่ผ่านมามีงานนิทรรศการใหญ่ระดับโลก “International Exhibition of Inventions of Geneva” ซึ่งจัดขึ้นโดยการสนับสนุนของรัฐบาลสวิส และองค์กรทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก (The World Intellectual Property Organization-WIPO) งานนี้นับว่าได้รับความสนใจมีนักประดิษฐ์จากภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาทั่วโลกเข้าร่วมประกวดผลงานกว่า 98 หน่วยงาน 14 องค์กร รวมผลงานประดิษฐ์มากกว่า 1,000 ผลงาน
 
สำหรับประเทศไทย ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุทธิพร  จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ นำทัพนักนักประดิษฐ์ไทยจาก 14 หน่วยงาน 37 ผลงาน เข้าประกวดใน 11 กลุ่มเรื่องเช่นกันและเป็นที่น่ายินดีว่า สามารถคว้ารางวัลมาถึง 48 รางวัล ทั้งระดับรางวัลเหรียญทองเกียรติยศ (Gold Medal with the Congratulations of the Jury) หรือ “Super Gold Medal” ถึง 3 ผลงาน  รางวัลเหรียญทอง 11 ผลงาน รางวัลเหรียญเงิน 12 ผลงาน รางวัลเหรียญทองแดง 9 ผลงาน และยังมีรางวัลพิเศษจากประเทศต่าง ๆ ได้แก่ ไต้หวัน จำนวน 4 ผลงาน เกาหลีใต้ 3 ผลงาน อิหร่าน 3 ผลงาน มาเลเซีย 1 ผลงาน และจากสมาพันธ์นักประดิษฐ์นานาชาติ(IFIA) อีก2 ผลงาน
 
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุทธิพร กล่าวระหว่างแถลงความสำเร็จของนักประดิษฐ์ไทยว่า  สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)  ส่งเสริมและสนับสนุนนักประดิษฐ์ในการนำผลงานประดิษฐ์คิดค้นและนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์เข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการและประกวดผลงานในระดับโลกและระดับนานาชาติมาโดยตลอด เช่น เมื่อปลายปี 2012 ที่ผ่านมา นักประดิษฐ์ไทยสามารถคว้ารางวัลผลงานประดิษฐ์ระดับรางวัลกรังปรีซ์จากประเทศสาธารณรัฐเกาหลีมาแล้ว ในปีนี้วช. จึงสนับสนุนให้นักประดิษฐ์นำผลงานเข้าร่วมที่สวิตเซอร์แลนด์และรางวัลที่ได้มาครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า ไทยมีคนเก่งอยู่มากขณะที่การสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์จำเป็นต้องอิงความรู้เพิ่มขึ้น ซึ่งเราได้เดินมาถูกทางแล้ว เพื่อผลักดันให้มีการวิจัย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและผลักดันสู่การใช้ประโยชน์ในระดับอุตสาหกรรม โดยมีแนวโน้มไปในทางที่ดีขึ้น
 
 
 
 
หนึ่งในผลงานสร้างชื่อให้แก่ประเทศไทยได้แก่ “อุปกรณ์ช่วยพ่นยาชนิดทำได้ด้วยตนเอง” หรือ “DIY Spacer (Do it yourself)” ของ รศ.พญ.อรพรรณ  โพชนุกูล และนายปริญญา  จันทร์หุณีย์ แห่งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) ที่คว้ารางวัลระดับเหรียญทองเกียรติยศ  ในกลุ่มงานวิศวกรรมทางการแพทย์สำหรับผู้ทุพพลภาพและด้อยโอกาส และยังได้รับรางวัลพิเศษหรือ Special Prize จากประเทศไต้หวัน (Taiwan Invention Association)ด้วย โดย DIY Spacer เป็นอุปกรณ์ที่ใช้พ่นยาขยายหลอดลมแบบสูดดม (Meter dose inhalation-MDI)เพื่อให้ผู้ป่วยโรคหืดได้รับยาพ่นอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งผู้ป่วยหรือสมาชิกภายในบ้านสามารถทำใช้เองได้ด้วยอุปกรณ์ที่สามารถหาได้ง่ายทั่วไปและยังเปลี่ยนได้บ่อยครั้งตามที่ต้องการได้
 
ทั้งนี้อุปกรณ์เป็นการนำชิ้นส่วนที่มีอยู่ทั่วไปในท้องตลาดมาประกอบ เช่น การนำลิ้นวาล์วสูบน้ำมาใช้ ช่วยในการบังคับทิศทางการหายใจการนำขวดน้ำมาดัดแปลงให้มีลักษณะเป็นกระบอกเพื่อเก็บละอองของตัวพ่นยา รวมทั้งนำขวดน้ำพร้อมกับสายยางท่อลมมาตัดแต่งเป็นที่ครอบปากให้ เหมาะหน้าของผู้ป่วย นอกจากนี้นักวิจัยได้ทำเอกสาร การสอนและสาธิตการประดิษฐ์ให้ บุคคลทั่วไปนำไปประดิษฐ์ด้วยตนเอง รวมทั้งสร้างอาสาสมัครจิตอาสาประดิษฐ์ อุปกรณ์นี้ขายในราคาถูกเพื่อนำเงินมาซื้ออุปกรณ์เบื้องต้นมาพัฒนาต่อ ขยายการเข้าถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยโรคหืดทั่วไป
 
 
นอกจากนี้ อีกหนึ่งผลงานที่สร้างชื่อให้ประเทศไทย คือ “หุ่นยนต์เสริมการกระตุ้นพัฒนาการเด็กออทิสติก” ของ ผศ.ดร.ปัณรสี  ฤทธิประวัติ และนางสาวอรวรรณ  คำดี แห่งภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับรางวัลในกลุ่ม วิศวกรรมทางการแพทย์สำหรับผู้ทุพพลภาพและด้อยโอกาส และยังได้รับรางวัล Special Prize จากประเทศไต้หวัน (Taiwan Invention Association)ด้วย เป็นหุ่นยนต์ที่มุ่งพัฒนาขึ้นสำหรับช่วยผ่อนเบาภาระของนักบำบัด ผู้ปกครอง เพื่อช่วยฝึกฝนให้เด็กพิเศษกลุ่มนี้มีพัฒนาการที่ดีขึ้น อนาคตอาจนำไปใช้ตามคลินิก โรงพยาบาล โรงเรียนและตามบ้าน
 
สำหรับรางวัลระดับเหรียญทองเกียรติยศ ชิ้นสุดท้ายได้แก่ ผลงาน “ลูกหมุนระบายอากาศผลิตกระแสไฟฟ้าและมอเตอร์” ของ นายระพี  บุญบุตร และดร.เอกกมล  บุญยะผลานันท์ แห่งห้างหุ้นส่วนจำกัด อาทิตย์เวนติเลเตอร์ ได้รางวัลจากกลุ่มการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงาน และยังได้รับรางวัล Special Prize จากประเทศสาธารณรัฐเกาหลี (Korea Invention Promotion Association, KIPA) เป็นการวิจัยต่อยอดลูกหมุนระบายอากาศที่หมุนอยู่แล้วด้วยแรงลมให้มีประโยชน์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ได้ด้วย
 
ส่วนรางวัลเหรียญทอง (Gold Medal) มี 11  ผลงาน ซึ่งล้วนน่าสนใจทั้งสิ้น  มีดังนี้คือ
 
1.การใช้ประโยชน์จากไมโครเวฟในงานวิศวกรรมการกักเก็บสารสำคัญจากพืชด้วยเบต้าไซโคลเด็กซ์ตริน ของ ผศ.ดร.พิษณุ  ตู้จินดา และรศ.ดร.ลักขณา  หล่อตระกูล แห่งสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต)ได้รับรางวัลในกลุ่ม อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง วิทยาศาสตร์การแพทย์ และสาธารณสุข และได้รับรางวัล Special Prize จากประเทศมาเลเซีย
 
2.ข้าววรางกูร ของ นายแพทย์สิทธิพร  บุณยนิตย์ แห่งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับรางวัลในกลุ่ม วิศวกรรมทางการแพทย์สำหรับผู้ทุพพลภาพและด้อยโอกาส และได้รับรางวัล Special Prize จากประเทศอิหร่าน
 
3. ชุดทดสอบ “Salmonella-DNAsensor test kit I” สำหรับเชื้อแซลโมเนลลา ของ รศ.ดร.โกสุม  จันทร์ศิริ และคณะ แห่งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้รับรางวัลในกลุ่ม วิศวกรรมทางการแพทย์สำหรับผู้ทุพพลภาพและด้อยโอกาส และได้รับรางวัล Special Prize จากประเทศอิหร่าน
 
4.การพัฒนาระบบสารรักษาสภาพน้ำยางไร้แอมโมเนียสำหรับผลิตภัณฑ์จุกนมยาง ของ ดร.สุรพิชญ์  ลอยกุลนันท์ และคณะ แห่งศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)ได้รับรางวัลในกลุ่ม การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงาน และได้รับรางวัล Special Prize จากประเทศสาธารณรัฐเกาหลี (Korea Invention Promotion Association, KIPA)
 
5.การพัฒนาระบบการจัดการน้ำยางสกิมและของเสียจากกระบวนการผลิตน้ำยางข้น ของ ดร.สุรพิชญ ลอยกุลนันท์ และคณะ แห่งศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สวทช.ได้รับรางวัลในกลุ่ม สื่อสิ่งพิมพ์ และบรรจุภัณฑ์
6.ฝาจุกสำหรับภาชนะบรรจุของเหลว เพื่อช่วยป้องกันการสำลักในระหว่างริน ของ ดร.พัชรี  ลาภสุริยกุล และคณะ แห่งศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สวทช.ได้รับรางวัลในกลุ่ม สื่อสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์
 
7.เอนไซม์ฟอกเยื่อกระดาษจากแบคทีเรียในลำไส้ปลวก (เอนบลีช)  ของ ดร.ธิดารัตน์  นิ่มเชื้อ 
แห่งห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีเอนไซม์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สวทช.ได้รับรางวัลในกลุ่ม การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงาน
 
8.อุปกรณ์ช่วยผ่าตัดโรคพังผืดกดรัดเส้นประสาทข้อมือ สงขลานครินทร์ ของ ผศ.นายแพทย์สุนทร  วงษ์ศิริ แห่งอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ สวทช.ได้รับรางวัลในกลุ่ม วิศวกรรมทางการแพทย์สำหรับผู้ทุพพลภาพและด้อยโอกาส
 
9.เครื่องเจียระไน รูใน ของ นายบุญทัน  พุฒลา และคณะ แห่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เหมืองแม่เมาะ ได้รับรางวัลในกลุ่ม กระบวนการทางวิศวกรรมเครื่องจักรกลและโลหะวิทยา
 
10.โทรศัพท์สำหรับผู้พิการทางการได้ยิน ของ นายพิเชษฐ์  พานเที่ยง และคณะ แห่งสถาบันนวัตกรรม บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)ได้รับรางวัลในกลุ่ม วิศวกรรมทางการแพทย์สำหรับผู้ทุพพลภาพและด้อยโอกาส
 
11.เครื่องกำจัดการสะสมตะกอนน้ำมันดิบ ปตท. ของ ดร.วิชาพันธ์  วีระภาคย์การุณ และคณะ แห่งสถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)ได้รับรางวัลในกลุ่ม การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงาน และได้รับรางวัล Special Prize จากประเทศไต้หวัน (Taiwan Invention Association)

LastUpdate 21/04/2556 07:33:01 โดย : Admin
26-10-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ October 26, 2024, 6:58 pm