การตลาด
สกู๊ป : "ซีพีเอฟ" เปิดแผน "อาหารพร้อมทาน" บุกอาเซียน






 


 
 
 
จากการที่ปี 2558 จะมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี  ส่งผลให้ผู้ประกอบการทั้งรายเล็กและรายใหญ่ต่างออกมาเตรียมความพร้อม  เพื่อรับมือการแข่งขันที่จะเกิดขึ้น  ซึ่งบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ "ซีพีเอฟ"  ถือเป็นอีกบริษัทหนึ่งที่ออกมาเตรียมความพร้อมรับมือการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นดังกล่าว

แม้ว่าภาพใหญ่ของ ซีพีเอฟ จะมีการส่งออกอาหาร ทั้งอาหารสด อาหารพร้อมปรุง และอาหารพร้อมทาน ไปทั่วโลก จนมีรายได้มากมายนับหลายแสนล้านบาท แต่ในส่วนของภาพเล็กการผลิตสินค้าพร้อมทานเข้าทำตลาดในภูมิภาคอาเซียน  ซึ่งจะมีการรวมตัวกันทางด้านเศรษฐกิจในอีก 2 ปีข้างหน้า จะส่งผลให้ 10 ประเทศอาเซียน มีประชากรรวมกันมากกว่า  600 ล้านคน จึงทำให้ ซีพีเอฟ เล็งเห็นโอกาสในการเข้ามาขยายธุรกิจในภูมิภาคนี้

สำหรับ กลยุทธที่ซีพีเอฟเลือกนำมาใช้ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือการแข่งขันและการขยายธุรกิจในครั้งนี้ คือ การขยายกำลังการผลิตในโรงงานแห่งใหม่

 
 
 
 
นายสุขวัฒน์ ด่านเสริมสุข รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ด้านธุรกิจอาหารสำเร็จรูป บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ   กล่าวว่า เพื่อรองรับการเปิดเออีซีที่จะเกิดขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้า ขณะนี้บริษัทได้เตรียมความพร้อมทั้งในด้านของวัตถุดิบ  กำลังการผลิต และบุคลากร ไว้ค่อนข้างพร้อมพอสมควร โดยเฉพาะในด้านของกำลังการผลิตสินค้า   

ปัจจุบันซีพีเอฟมีโรงงานผลิตอาหารหลักๆ อยู่ด้วยกัน   3 แห่ง ประกอบด้วย  1.โรงงานในย่านหนองจอก ทำหน้าที่ผลิตไส้กรอกและอาหารพร้อมทาน 2. โรงงานใน จ.สระบุรี ทำหน้าที่ผลิตไส้กรอกและอาหารพร้อมทาน และ 3.โรงงานใน จ.ฉะเชิงเทรา ทำหน้าที่ผลิตอาหารแปรรูปสุกร

สำหรับกำลังการผลิตในส่วนของไส้กรอกในขณะนี้มีอยู่ประมาณ  1.3  แสนตันต่อเดือน  ขณะที่การผลิตอาหารสำเร็จรูปมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 35,000 ตันต่อเดือน และการผลิตอาหารแปรูปสุกร มีกำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณ  5,000 ตันต่อเดือน ซึ่งแม้กำลังการผลิตดังกล่าวจะอยู่ในระดับที่สูง แต่เพื่อรองรับจำนวนประชากรที่จะเพิ่มสูงขึ้น หลังจากเปิดเออีซี  ซีพีเอฟจึงมีแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นใน 3 โรงงานใหม่ภายใต้งบการลงทุนเบื้อต้นประมาณ  4,500  ล้านบาท ประกอบด้วย  การลงทุนในส่วนของการแปรรูปสุกร ตั้งอยู่บนพื้นที่เดิม และการลงทุนโรงงานผลิตซอส  เช่น ซอสสำหรับแม่บ้าน และซอสสำหรับอาหารสำเร็จรูป  เป็นต้น

 
 
นอกจากนี้  ซีพีเอฟยังมีแผนขยายไลน์การผลิตต่างๆ ในโรงงานเดิม  เช่น การขยายไลน์บรรจุภัณฑ์ และเพิ่มเครื่องจักรใหม่สำหรับไลน์อาหารพร้อมทาน ซึ่งจากแผนการดำเนินงานดังกล่าวจะส่งผลให้ในปี 2560  ซีพีเอฟจะมียอดการผลิตสินค้าโดยรวมกว่า 2.3 แสนตัน และส่งผลให้มีรายได้รวมไม่ต่ำกว่า  20,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในส่วนของกำลังการผลิตดังกล่าวสัดส่วนกว่า 50% จะเน้นไปกับการทำตลาดเออีซี  ซึ่งจากการออกมาบุกทำตลาดอาหารพร้อมทานในตลาดต่างประเทศมากขึ้น จะส่งผลให้ในปี  2560 จะมีสัดส่วนรายได้มาจากตลาดในประเทศ  50% และต่างประเทศ  50% จากปัจจุบันยอดขายสินค้าดังกล่าวในตลาดต่างประเทศยังน้อยมาก

หลังจากออกมาเตรียมความพร้อมด้วยการขยายโรงงานเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตแล้ว ในอนาคตซีพีเอฟยังมีแผนที่จะสร้างโรงงานผลิตอาหารทั้งหมดเป็น  “ฟู้ด คอมเพล็กซ์” ด้วยการสร้างไลน์ผลิตอาหารแบบครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นไลน์ขนมหวาน อาหารแปรรูป น้ำซุป ไส้กรอก ข้าวกล่อง  หรือซอส        

               
 
 
 
นายวิทวัส  ตันติเวสส  รองกรรมการผู้จัดการบริหารด้านการตลาด  บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่าตอนนี้โรงงานที่หนองจอก ถือเป็นโรงงานแปรรูปไส้กรอกที่ทันสมัยที่สุด เนื่องจากมีเทคโนโลยีการผลิตมาตราฐานระดับโลกแห่งแรกในภูมิภาคเอเชีย แม้ว่าจะก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2525 ด้วยงบลงทุนกว่า 1,500 ล้านบาท แบ่งเป็นด้านการผลิต 1,100 ล้านบาท และในส่วนอาคารบ่อบำบัดน้ำเสียอีก 400 ล้านบาท เน้นผลิตไส้กรอกเกรดเอ แบรนด์ ซีพี ขณะที่โรงงานที่สระบุรีจะผลิตไส้กรอกเกรดบี แบรนด์ บีเคพี

ปัจจุบันไส้กรอกถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มสินค้าที่สร้างรายได้หลักให้กับ ซีพีเอฟ  เนื่องจากมี 2 แบรนด์สินค้าเข้าทำตลาด และปัจจุบันซีพีเอฟก็ครองความเป็นผู้นำตลาดไส้กรอก ด้วยการครองส่วนแบ่งการตลาด  25%  และจากการออกมาทำตลาดไส้กรอก 2 แบรนด์  คือ ซีพี และบีเคพี  อย่างต่อเนื่องในปีนี้ คาดว่าสิ้นปีซีพีเอฟจะมีส่วนแบ่งการตลาดรวมไส้กรอกไม่ต่ำกว่า 35%
ความสำเร็จ ที่ "ซีพีเอฟ"  ได้รับจากการทำตลาดไส้กรอกทั้ง 2 แบรนด์ดังกล่าว ส่วนหนึงเกิดจากสินค้าที่่้ผ่านการรับรองมาตรฐานจากหลายสถาบัน เช่น มาตรฐานระบบคุณภาพและความปลอดภัยในอาหารของสหภาพยุโรป (The British Retail Consortium หรือ BRC), HACCP, ISO 9001, ISO 14001  และ  ISO 18000  จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมซีพีเอฟ  จึงเป็นผู้นำตลาดไส้กรอกในประเทศไทย

สำหรับภาพรวมตลาดไส้กรอกในประเทศไทยปัจจุบัน มีมูลค่ารวมอยู่ที่ประมาณ 40,000 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตต่อปีอยู่ที่ประมาณ 10% แบ่งเป็น ตลาดไส้กรอกระดับเอ ระดับราคาระหว่าง 220-230 บาทต่อกิโลกรัม มีสัดส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดประมาณ 50% ส่วนอีก 50%  เป็นตลาดไส้กรอกระดับบี ที่มีราคาจำหน่ายอยู่ระหว่าง 120-130 บาทต่อกิโลกรัม และกลุ่มระดับซี ราคาประมาณ 80 บาทต่อกิโลกรัม

หลังจากออกมาวางกลยุทธระยะยาวจนเป็นรูปธรรม ในส่วนของแผนระยะสั้น ซีพีเอฟยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยสิ้นปีนี้ ซีพีเอฟ คาดว่าจะมีรายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 30% หรือมีรายได้ไม่ต่ำกว่า  10,000-12,000 ล้านบาท  แบ่งเป็นรายได้จากไส้กรอก 60%  และอาหารพร้อมทาน 40%
 
 

LastUpdate 22/04/2556 10:23:01 โดย : Admin
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 1:53 pm