เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
จับตา "ส่งออก" หลุดเป้า หลังบาทแข็ง










 


 
 
"ธุรกิจส่งออก" นับเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากการปรับตัวแข็งค่าขึ้นของเงินบาท ทำให้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ ทั้งภาครัฐและเอกชน เริ่มส่งสัญญาณที่จะต้องปรับลดเป้าหมายการส่งออกในปีนี้ลง แม้เศรษฐกิจไทยพึ่งจะผ่านพ้นต้นปี 2556 มาได้ แค่ 4 เดือน  
 
โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย  ระบุว่า ทิศทางเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปี 2556 และทำสถิติแข็งค่าที่สุดในรอบ 16 ปี ที่ 28.57 บาท/ดอลลาร์ฯ ในระหว่างเดือน เม.ย.2556  ทำให้อัตราการแข็งค่าของเงินบาทที่มากกว่าร้อยละ 6.0 เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2555 นำมาเป็นอันดับ 1 ของภูมิภาคเอเชีย   และมีความเป็นไปได้ที่จะเห็นผลกระทบของเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วต่อสินค้าส่งออกหลายรายการชัดเจนขึ้นในช่วงไตรมาส 2/2556  ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้สินค้าไทยซึ่งประสบปัญหาภาวะต้นทุนแพงกว่าคู่แข่งโดยเปรียบเทียบ (อีกทั้งบางชนิดก็สูญเสียความสามารถการแข่งขันด้านราคาอยู่ก่อนแล้ว) ต้องเผชิญกับภาวะการส่งออกที่ยากลำบากมากขึ้น (อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นคู่แข่งการส่งออกพลาสติกและผลิตภัณฑ์ไปยังจีน รวมไปถึง เวียดนาม และกัมพูชา ซึ่งเป็นคู่แข่งการส่งออกเครื่องนุ่งห่ม ไปยังสหรัฐฯ และยูโรโซน เป็นต้น)
 
 
 
 
นอกจากนี้ เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็อาจส่งผลให้ผู้ประกอบการซึ่งส่วนใหญ่รับชำระค่าสินค้าในด้วยเงินสกุลดอลลาร์ฯ และเยน (ซึ่งอ่อนค่าลงอย่างมากเมื่อเทียบกับเงินบาท) ใช้ความระมัดระวังมากขึ้นในการตัดสินใจรับคำสั่งซื้อจากลูกค้าในต่างประเทศ หรือเปลี่ยนมารับคำสั่งซื้อขนาดเล็กลง เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งผลดังกล่าว เมื่อรวมกับปัจจัยฐานเปรียบเทียบที่ค่อนข้างสูงในปี 2555 ก็อาจทำให้การส่งออกของไทยในไตรมาส 2/2556 มีภาพรวมที่น่ากังวลมากขึ้น  
 
 
 
 
 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงทำการปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตของการส่งออกของไทยในปี 2556 ลงมาที่ร้อยละ 7.0 โดยมีกรอบคาดการณ์ใหม่ที่ร้อยละ 4.0-9.0 เทียบกับกรอบคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 8.0-13.0
 
 
ประมาณการ ปี 2556                      ตัวเลขคาดการณ์ใหม่             "ตัวเลขคาดการณ์เดิม  (ร้อยละ)

การส่งออก                                             7.0                                            10.5

(กรอบคาดการณ์)                              (4.0-9.0)                                    (8.0-13.0)


ที่มา:  คาดการณ์โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ณ วันที่ 23 เม.ย. 2556
 
 
 
 
ขณะที่ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นายธนวรรธน์ พลวิชัย    ผู้อำนวยการศูนย์ฯ  ห่วงว่า   หากสถานการณ์ค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าอยู่ที่ระดับ 28-28.90 ต่อดอลลาร์สหรัฐ  จะทำให้การส่งออกขยายตัวได้เพียงร้อยละ 6-8 ไม่ถึงเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าไว้  และทำให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวได้ ร้อยละ 5  แต่หากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น จนถึงระดับ 27 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จะทำให้การส่งออกขยายตัวได้เพียง ร้อยละ 3  และเศรษฐกิจของประเทศขยายได้เพียงร้อยละ 4-5
 
 
 
 
ด้านกระทรวงพาณิชย์  นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์  ยอมรับว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะเริ่มส่งผลกระทบต่อการส่งออก โดยไตรมาสแรกค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 3% ขณะที่ค่าเงินประเทศคู่แข่งมาเลเซีย เวียดนาม จีน กลับอ่อนค่าหมด  แต่การส่งออกไตรมาสแรกยังกระทบไม่มาก เพราะส่วนใหญ่เป็นคำสั่งซื้อล่วงหน้าตั้งแต่ปลายปี แต่เป็นห่วงว่า ในไตรมาส 2  อาจได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้น  

LastUpdate 23/04/2556 20:36:38 โดย : Admin
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 3:10 pm