ในวันนี้ผมอยากจะพูดถึงโครงการเผยแพร่ความรู้ของธนาคารแห่งประเทศไทยกับคุณครู ท่านอาจารย์ทั่วประเทศทั้ง 4 ภาคในหัวข้อเกี่ยวกับ ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ การเงินและการบริหารจัดการการเงินส่วนบุคคล ซึ่งเป็นเรื่องที่องค์กรอย่างแบงค์ชาติทำต่อเนื่องมาหลายปี สิ่งที่ผมต้องขอชื่นชมในฐานะที่ได้มีส่วนร่วมในการบรรยายหัวข้อ “รู้จักเครดิตบูโร” และได้อ่านเอกสารที่ทางศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือที่เราจะรู้จักในนาม สคบ. ภาคการเงิน ในแบงค์ชาติ เบอร์โทร 1213 จำได้ง่ายๆ การบรรยายให้ความรู้กับคุณครูทั้งหลายของเครดิตบูโร ในงานนี้ก็ด้วยเป้าหมายที่สำคัญหลายประการดังนี้
1. ครูบาอาจารย์ เป็นปราการด่านสุดท้ายหรือเป็นด่านด้านในที่เหลืออยู่เป็นส่วนน้อยแล้วในสังคมไทยที่จะคอยฉุดรั้ง ป้องกันการที่เด็กๆ เยาวชน คนรอบข้าง ญาติมิตร และตัวของครอบครัวคุณครูเองให้ตระหนักถึงการก่อหนี้บนความต้องการที่เกินความจำเป็น หรือการก่อภาระเพิ่มในขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้มีความตึงมืออยู่แล้ว
2. ครูบาอาจารย์ ส่วนใหญ่ที่มุ่งหมายมาอบรมในวันนี้ก็ต้องการมาสะสม บ่มเพาะ เพิ่มเติมองค์ความรู้ในด้านเศรษฐศาสตร์ การเงิน การบริหารเงินส่วนบุคคล ภายใต้กระแสการกระตุ้นการบริโภค การตลาดที่มุ่งเน้นการขายออกไปของสินค้าและบริการเพียงอย่างเดียว
3. ครูบาอาจารย์ จะได้ทราบว่าทำไมต้องมีเครดิตบูโร มีแล้วดีต่อระบบเศรษฐกิจอย่างไร เครดิตบูโรทำงานอย่างไร เครดิตบูโรทำงานอย่างไร และท้ายสุดในการติดต่อกับสถาบันการเงินหากมีข้อปฏิบัติ การกระทำ การให้บริการที่มากเกินไปแล้วตัวผู้เป็นเจ้าของข้อมูลมีทางเลือกทางออกอย่างไรบ้าง จะร้องเรียนได้ที่ไหนอย่างไร อันนี้เป็นการยกระดับหรือติดอาวุธทางปัญญาให้กับผู้คนในสังคมไทย
4. สิ่งที่คุณครูสนใจมากๆ คือ กระบวนการให้สินเชื่อนั้นเขาทำกันอย่างไร ปัจจัยที่ใช้วัดเช่น ความสามารถในการชำระหนี้ ความตั้งใจในการชำระหนี้ ในลักษณะต่างๆ เช่น เป็นบัญชีที่ปกติไม่ค้างชำระ หรือเป็นบัญชีปกติหลังจากที่เกิดการค้างชำระในอดีต และต่อมามีการชำระให้จนครบถ้วน ยังไม่ปิดบัญชี (เราเรียกภาษาชาวบ้านว่า “คนเคยค้างในอดีต ปัจจุบันชำระแล้ว ยังเดินบัญชีได้ปกติ” ไม่ใช่ไปบอกว่า “ติดเครดิตบูโร”ซึ่งไม่มีความหมายอะไรเลย งงเปล่าๆ ใช่ไหม ว่ามันคืออะไรกัน ได้แต่พูดตามๆ กันมาบนความเชื่อที่ไม่ได้มาจากความรู้ เป็นต้น
5. เครดิตบูโรได้สื่อสารไปว่า ความสามารถในการก่อหนี้ที่อยู่ในระดับที่ยังพอรับได้นั้นวัดจาก เอาภาระหนี้ทุกประเภทที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือนเช่น ผ่อนบ้าน ผ่อนคอนโด ผ่อนรถยนต์ ผ่อนบัตรเครดิต ผ่อนบัตรกดเงินสด ผ่อนสินเชื่อเช่าซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ ดอกเบี้ย 0% 6 เดือนให้นำมารวมกันทุกบัญชีมาเป็นตัวตั้งแล้วหารด้วยรายได้ในเดือนนั้นๆ หากตัวเลขออกมาไม่เกิน 40% ถือว่ายังปลอดภัย หากหลุดไป 50-60% ก็ไฟเหลืองระมัดระวังสูง เลยไป 70-80%ก็ต้องถือว่าไฟแดงรีบจัดการตัวเองด่วนมากเป็นต้น
โครการดีๆแบบนี้จะมีทั่วทุกภาค มีครูบาอาจารย์ แจ้งความจำนงเข้ามาถึงกว่า 200คนต่อการจัด ถือว่ามีการตอบรับที่ดีมากๆ ผมเชื่อว่าแม่พิมพ์ พ่อพิมพ์ของชาติที่ผ่านการอบรมจะเป็นผนังทองแดง กำแพงเหล็กป้องกันอันตรายจากความหลงไปในโลกการเงิน ในเรื่องการเป็นหนี้ที่มาจากฐานความรู้สึก ไม่ใช่จากฐานความรู้ ที่กำลังรุกรานสังคมไทยในปัจจุบันครับ
สุรพล โอภาสเสถียร
ผู้จัดการใหญ่
บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด
ข่าวเด่น