สุขภาพ
ระวัง ป้องกันภัย ก่อนไข้เลือดออกมาถึงตัว


สถานการณ์ไข้เลือดออกช่วง 2 เดือนที่ผ่านมานี้ ค่อนข้างรุนแรงมากขึ้น เพราะขณะนี้มียอดผู้ป่วยพุ่งขึ้นนับหมื่นราย อีกทั้งมีผู้เสียชีวิตแล้วถึง 16 ราย เนื่องจากเมื่อเป็นโรคนี้แล้วรักษาไม่ทัน หรือมองข้ามคิดว่าไม่ได้เป็นอะไรมาก วันนี้จึงต้องมาย้ำเตือนกันอีกครั้ง เพื่อการป้องกันและดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคไข้เลือดออกที่กำลังคุกคามอยู่ในขณะนี้


ไข้เลือดออก (Dengue hemorrhagic fever) เป็นโรคติดเชื้อจากไวรัสเดงกี่ (Dengue virus) ที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ปัจจุบันมีไวรัสเดงกี่ทั้งหมด 4 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ 1, 2, 3 และ 4 โดยทุกสายพันธุ์มีโอกาสก่อให้เกิดโรคได้ทุกความรุนแรง ดังนั้นการป้องกันอย่างแรกก็คือ การเทภาชนะที่มีน้ำขังออกเพื่อป้องกันการแพร่พันธุ์ของยุงลายสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และกำจัดลูกน้ำยุงลายโดยใส่ทรายอะเบต (Abate) ลงในภาชนะใส่น้ำ


อาการของโรคส่วนใหญ่ร้อยละ 90 จะไม่แสดงอาการ ในส่วนที่แสดงออกมา จะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ ไข้ไวรัส โดยผู้ป่วยมีไข้แค่ 2-3 วัน และมีผื่นตามตัว , ไข้แดงกี่ ผู้ป่วยมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ เมื่อยตามตัว และพบจุดเลือดออกจากการทำทดสอบ tourniquet test ถ้าเจาะเลือดมักจะมีเม็ดเลือดขาวต่ำ บางรายอาจมีเกล็ดเลือดต่ำร่วมด้วย, ไข้เลือดออกแดงกี่ ผู้ป่วยมีไข้สูงลอย 2-7 วัน มีอาการเลือดออกที่ผิวหนัง ตับโตและพบจุดเลือดออกจากการทำทดสอบ tourniquet test ลักษณะเฉพาะของโรคคือมีการรั่วของพลาสมาหรือน้ำเหลืองออกจากเส้นเลือด ทำให้มีโอกาสเกิดภาวะช็อก (Dengue shock syndrome) ได้ โดยส่วนใหญ่จะมีการรั่วของพลาสมาประมาณ 24-48 ชั่วโมง หลังจากระดับเกร็ดเลือดลดต่ำลง  


ทั้งนี้อาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นยังแบ่งออกเป็น 3 ระยะได้แก่

1) ระยะไข้สูง ผู้ป่วยจะมีไข้สูง 39-41 องศาเซลเซียส ส่วนใหญ่ติดต่อกันเป็นเวลา 2-7 วัน มักมีอาการหน้าแดง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร อาเจียน ปวดท้องบริเวณลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงขวา ตับโตกดเจ็บ บางรายอาจมีจุดเลือดออกเล็กๆ กระจายที่ผิวหนัง มักไม่มีอาการหวัดชัดเจน 

2) ระยะวิกฤต เป็นระยะที่ไข้มักลดลงอย่างรวดเร็วและมีการรั่วของพลาสมา ถ้าหากมีการรั่วอย่างมาก จะเกิดภาวะช็อกได้ ผู้ป่วยจะมีอาการกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเร็วและเบา มีความดันโลหิตต่ำ และอาจมีอาการเลือดออกที่อวัยวะอื่นๆ ในรายที่รุนแรงอาจมีอาเจียนและถ่ายอุจจาระเป็นเลือดซึ่งมักจะเป็นสีดำ

3) ระยะฟื้นตัว เป็นระยะที่พลาสมากลับเข้าสู่กระแสโลหิต ผู้ป่วยจะมีอาการทั่วไปดีขึ้น มีความอยากอาหาร ปัสสาวะเพิ่มขึ้น มีผื่นเป็นวงกลมสีขาวกระจายอยู่บนปื้นสีแดง และอาจมีอาการคันร่วมด้วย


เมื่อเป็นโรคไข้เลือดออกแล้ว การรักษาผู้ป่วยจะต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อตรวจปริมาณเกล็ดเลือดและระดับความเข้มข้นของเลือด โดยในระยะแรก ต้องหมั่นเช็ดตัวเพื่อลดไข้ และถ้าเป็นเด็ก ต้องระวังเรื่องอาการชัก และควรให้ยาลดไข้อย่างรอบคอบในเวลาที่มีไข้สูงเท่านั้น ไม่ควรใช้ยาพวกแอสไพริน และอีบูเทอเฟน เนื่องจากเสี่ยงต่อภาวะเลือดออก ควรให้พาราเซตามอลแทน ในกรณีที่เริ่มเข้าสู่ระยะวิกฤตหรือระยะที่มีการรั่วของพลาสมา  เบื่ออาหาร ไม่ดื่มน้ำ ถ่ายปัสสาวะน้อย อาเจียนมาก ปงดท้องรุนแรง ซึม มือเท้าเย็น ซึ่งอาจเป็นภาวะช็อก ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล เพื่อเฝ้ารอดูอาการจากแพทย์ตลอดเวลา ไม่ควรพากลับบ้าน


คำแนะนำ

ถ้าผู้ป่วยมีไข้สูงติดต่อกันเกิน 3 วัน ควรพบแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง ระวังไม่ให้ยุงกัดในเวลากลางวัน

และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

โรงพยาบาลเวชธานี

 


LastUpdate 25/04/2556 18:30:09 โดย : Admin
22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 6:01 pm