ภาพยนตร์เรื่อง "Wadjda" นับเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับความสนใจในเวที "Tribeca Film Festival" มากพอสมควร ทั้งนี้ด้วยเหตุผลสองประการ คือ เป็นภาพยนตร์ที่ถ่ายทำในซาอุดิอาระเบียทั้งเรื่อง และเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่กำกับโดยผู้กำกับหญิง ซึ่งเจ้าของผลงานการกำกับ คือ "ไฮฟา อัล มานซูร์"
ถ้าพูดถึงเรื่องความสามารถแล้ว แน่นอนว่าผู้หญิงไม่ได้เป็นรองผู้ชาย แต่ด้วยกฎระเบียบของซาอุดิอาระเบีย ที่ค่อนข้างเข้มงวดในการอยู่ในสถานที่สาธารณะเดียวกันระหว่างหญิงกับชาย ทำให้ "อัล มานซูร์" ต้องสื่อสารผ่านวิทยุสื่อสารในฉากกลางแจ้งที่มีนักแสดงชายเข้าฉาก ซึ่งเธอยอมรับในการฉายรอบปฐมทัศน์ของภาพยนตร์เรื่อง Wadjda เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ว่ากฎระเบียบทำให้เธอทำงานได้ยากลำบากขึ้น
โดยงานนี้ "กลอเรีย สไตเนม" ผู้เรียกร้องเพื่อสิทธิสตรีคนสำคัญ และ "ไซนับ ซัลบี" ผู้ก่อตั้งองค์กรเพื่อผู้หญิง Women for Women International ได้มาพูดคุยกับ มานซูร์ หลังฉายภาพยนตร์รอบปฐมทัศน์เสร็จสิ้น และได้พูดถึงประเด็นการต่อสู้ด้านสิทธิสตรีบนโลกใบนี้ รวมถึงความแตกต่างในภูมิภาคค่างๆ
Wadjda เป็นเรื่องราวของเด็กหญิงวัย 10 ขวบ ซึ่งรับบทโดย "วาด โมฮัมเหม็ด" ซึ่งอยู่ในสังคมมุสลิม โดยเธอและคุณแม่ของเธอ ที่รับบทโดย "รีม อับดุลลาห์" ต้องต่อสู้อะไรมากมาย ซึ่งแม้แต่การที่ตัวของเด็กหญิงเรียกร้องจะขอมีจักรยานเป็นของตัวเองก็เป็นสิ่งที่ยากลำบาก
ภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลซาอุดิอาระเบียในการสร้าง และมีกำหนดที่จะออกสู่สายตาประชาชนทั่วไปช่วงฤดูใบไม้ร่วงที่จะถึงนี้ ซึ่งแม้ว่าตอนนี้หลายสิ่งหลายอย่างยังเป็นเรื่องยากสำหรับผู้หญิงที่จะกระทำ ( ที่ยากไม่ใช่เพราะความสามารถ แต่ยากเพราะกฎระเบียบที่ตั้งขึ้นมาเองโดยผู้ชายคอยกดไว้) แต่ อัล มานซูร์ ยังมองโลกในแง่ดีว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นสิ่งกระตุ้นให้ผู้หญิงลุกขึ้นมาทำอะไรมากขึ้น และเธอก็ยังมองซาอุดิอาระเบียในแง่ดีว่าบทบาทของผู้หญิงมีมากขึ้น มีโอกาสมากขึ้น
เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ทางการซาอุดิอาระเบียประกาศยินยอมให้ผู้หญิงขี่จักรยานได้แม้จะในพื้นที่จำกัด และเมื่อปี 2011กษัตริย์อับดุลลาห์ทรงอนุญาตให้ผู้หญิงมีสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้ (มีสิทธิลงคะแนนในปี 2015) อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงในซาอุดิอาระเบียยังถูกจำกัดสิทธิหลายอย่าง โดยพวกเธอไม่สามารถเดินทาง ทำงาน ไปศึกษาต่างประเทศ แต่งงาน หย่าร้าง หรือเข้าแอดมิตในโรงพยาบาล หากไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองที่เป็นผู้ชาย
ด้วยการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมซาอุดิอาระเบียอย่างช้าๆ ก็ยังไม่แน่ชัดว่า เมื่อไหร่ซาอุดิอาระเบีย จะเหมือนกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งผู้หญิงจะมีบทบาทมากกว่า อย่างในประเทศอียิปต์ ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในการปฏิวัติที่เรียกว่า "Arab Spring"
“คุณได้ก้าวย่างไปสู่ยุคการปฏิวัติสังคมหรือวิวัฒนาการนี่คือคำถาม ภาพยนตร์เรื่อง Wadjda เป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนสังคมได้เป็นอย่างดี ซึ่งคงเป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่จะผลักดันให้สังคมดีขึ้นและผู้หญิงมีบทบาทมากยิ่งขึ้น” ซาลบี กล่าว
อย่างไรก็ตาม Wadjda จะไม่ได้ฉายในโรงภาพยนตร์ของซาอุดิอาระเบีย หากแต่จะได้ออกอากาศทางโทรทัศน์ และจะออกมาเป็นดีวีดีอย่างแน่นอน ซึ่งแม้ภาพยนตร์เรื่องนี้จะมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ อับ มานซูร์ ก็ไม่ได้คิดว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์การเมือง หากแต่เธอบอกว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ที่สร้างด้วยความหวัง การยอมรับการเปลี่ยนแปลง และการก้าวต่อไปข้างหน้า
ซึ่งสำหรับชาวไทยอย่างเราๆ โอกาสที่จะได้ชม "Wadjda" ในโรงภาพยนตร์นั้นเป็นเรื่องยากมากๆ ได้แต่ลุ้นว่า จะมีใครเอาดีวีดีมาจำหน่ายหรือไม่เท่านั้น แต่เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่เราอยากเห็นที่สุด คือ การที่ผู้หญิงมีบทบาทและสิทธิต่างๆ เท่ากับผู้ชายเสียที ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนในโลก
ข่าวเด่น