แม้ว่าจะมีผู้เล่นรายหลักแค่ 2 รายสำหรับตลาดน้ำผลไม้ 100% และน้ำส้มก็ยังคงเป็นน้ำผลไม้หลักที่ที่ขับเคลื่อนให้ตลาดเติบเติบโต ด้วยเหตุนี้ผู้เล่น 2 รายหลัก อย่าง "ทิปโก้" และ "มาลี" จึงต้องออกมาปรับแผนการทำตลาดใหม่ ด้วยการหันออกมาใช้งบผ่านสื่อโฆษณาเพื่อสื่อสารไปยังผู้บริโภคให้เห็นว่ากว่าจะได้น้ำส้ม 1 กล่องเข้ามาทำตลาดมีความพิถีพิถันในการคัดเลือกอย่างไร
ในด้านของผู้นำตลาดน้ำผลไม้ 100% อย่าง "ทิปโก้" ขอออกมามาสื่อสารผ่านสื่อโฆษณา ด้วยแคมเปญ "285 ล้านลูกต่อปี ทิปโก้คั้นสด...เพื่อความสดชื่นของคุณ" โดยเน้นว่า น้ำผลไม้ทิปโก้แท้ 100% นั้นไม่ได้ทำจากน้ำส้มผสมน้ำ ไม่ได้แต่งกลิ่น ไม่ได้เจือสี ไม่ได้ใส่น้ำตาล ไม่ได้ใส่สารกันเสีย แต่คั้นจากน้ำส้มแท้ๆ 24 ลูก ต่อ 1 กล่องลิตร
ปัจจุบัน ทิปโก้ มีน้ำส้ม 100% ให้ลูกค้าได้เลือกซื้อด้วยกัน 5 รสชาติ ประกอบด้วย น้ำส้มเขียวหวาน น้ำส้มโชกุน น้ำส้มสายน้ำผึ้ง น้ำส้มสีทอง และ น้ำส้มเมดเลย์ ซึ่งการออกมาทำกิจกรรมการตลาดในรูปแบบดังกล่าว ทิปโก้ มุ่งหวังที่จะสร้างความเข้าใจให้ผู้บริโภคได้ทราบถึงการดื่มน้ำผลไม้เพื่อสุขภาพ เพราะในปัจจุบันคนไทยบริโภคน้ำผลไม้อัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 4 ลิตร/คน/ปี ซึ่งน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น และเกาหลี ที่มีอัตราการบริโภคน้ำผลไม้ 20 ลิตร/คน/ปี
ดังนั้น ทิปโก้ จึงต้องการสื่อสารให้กับคุณประโยชน์ของน้ำส้ม 100% ของทิปโก้ว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทิปโก้ ได้คั้นส้มต่อปีมากถึงถึง 285 ล้านลูกเพื่อผู้บริโภค นับเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีจุดเหนือคู่แข่ง และเพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำในตลาดทิปโก้ จึงขออัดงบมากถึง 500 ล้านบาท ในการทำกิจกรรมการตลาดและโฆษณาประชาสัมพันธ์อย่างครบวงจรผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่อออนไลน์ รวมถึงสื่อกลางแจ้ง BTS, LED, Billboard และสื่อโรงภาพยนตร์ ด้วยภาพยนตร์โฆษณาตัวใหม่ ภายใต้ชื่อ "การเดินทาง"
นายเอกพล พงศ์สถาพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทิปโก้ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แผนการดำเนินธุรกิจนับจากนี้ บริษัทจะเดินหน้าขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ด้วยการจับมือกับบริษัท ซันโตรี โดยใช้ฐานการผลิตจากโรงงานในเครือของบริษัท ซันโตรี ที่ประเทศอินโดนีเซีย และเวียดนาม เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตน้ำผลไม้ 100% ของทิปโก้ เนื่องจากโรงงานในประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.วังน้อย จ.อยุธยา มีกำลังผลิตเหลือเพียง 30% อาจไม่เพียงพอต่อการขยายธุรกิจ เนื่องจากในอนาคตมีแผนที่จะขยายธุรกิจไปในตลาดต่างประเทศให้มากขึ้น จากปัจจุบันมีการส่งออกไปแล้วทั้งยุโรป จีน เกาหลี และกลุ่มประเทศอาเซียน ส่งผลให้ขณะนี้มีสัดส่วนยอดขายมาจากต่างประเทศอยู่ที่ประมาณ 15%
หลังจากออกมารุกธุรกิจน้ำผลไม้ 100% มากขึ้น ทิปโก้ คาดว่าสิ้นปีนี้จะมียอดขายเติบโตที่ 13% จากปีที่ผ่านมามียอดขายรวมอยู่ที่ 5,442.1 ล้านบาท แบ่งยอดขายที่มาจากกลุ่มเครื่องดื่มน้ำผลไม้และชา 3,100 ล้านบาท และ สัปปะรดกระป๋อง ประมาณ 2,300 ล้านบาท สัดส่วนยอดขายส่วนใหญ่ยังคงมาจากตลาดในประเทศ 85% และส่งออก 15%
ด้านน้ำผลไม้มาลี แม้ว่าจะโดนผู้นำตลาดโกยส่วนแบ่งการตลาดทิ้งห่างพอสมควร แต่ มาลี ก็ยังคงเดินหน้าฮึดสู้แบบยิบตา ซึ่งในปีนี้ มาลี ก็ขอออกมาทำกิจกรรมการตลาดและโฆษณาประชาสัมพันธ์ เพื่อสื่อสารไปยังผู้บริโภคถึงความพิถีพิถันในการคัดเลือกส้มมาทำเป็นน้ำผลไม้ 100% ผ่านสื่อโฆษณาเช่นกัน
นางสาวรุ่งฉัตร บุญรัตน์ กรรมการและรองผู้จัดการใหญ่-สายงานการขายและการตลาด บริษัท มาลี สามพราน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทจะเน้นการสื่อสารผ่านสื่อโฆษณา เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับทราบคุณค่าที่ดีที่สุดจากธรรมชาติ ทั้งรสชาติที่แสนอร่อย และคุณประโยชน์ที่เต็มเปี่ยม ซึ่ง มาลี มีความใส่ใจ และพิถีพิถันทุกกระบวนการในการผลิตน้ำผลไม้ ตั้งแต่ขั้นตอนการคัดเลือกสายพันธุ์ผลไม้ต่างๆ การปลูก การดูแล การเก็บ ไปจนถึงบรรจุลงกล่อง
จากแผนการดำเนินงานดังกล่าว มาลี จึงขอสรุปเป็นสโลแกนในการดำเนินธุรกิจที่ว่า ‘Fruit with Care’ ซึ่งหมายถึงความห่วงใยของเราที่อยู่ในผลิตภัณฑ์มาลีทุกหยด และความห่วงใยนี้ก็ถูกส่งต่อไปยังผู้บริโภคทุกคนที่ให้มาลีเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลสุขภาพของตนเองและคนที่เขาห่วงใย ซึ่งจะมีการสื่อสารผ่านสื่อภาพยนต์โฆษณาชุดใหม่ภายใต้ชื่อ “ดูแลมาดี”
สำหรับเนื้อหาของภาพยนตร์โฆษณาน้ำผลไม้ 100% ของมาลี จะมีการเล่าถึง “น้ำผลไม้มาลี ถูกดูแลมาดี” อย่างไร ตั้งแต่การปลูกให้มีระยะห่างกัน 5 เมตร เพื่อให้แต่ละต้นได้เติบโตและรับสารอาหารอย่างเต็มที่ ไปจนถึงการไม่เร่งรีบเก็บเกี่ยวผลผลิต แต่เลือกที่จะรอให้ผลไม้โตเต็มที่ เต็มทั้งรสชาติและคุณค่าทางสารอาหาร และสุดท้าย คือการใช้มือเก็บผลส้มแต่ละผลอย่างทะนุถนอม
หลังจากบริษัท มาลีสามพราน หลุดจากแผนฟื้นฟูกิจการเมื่อกลางปี 2554 ทำให้มาลีมีความพร้อมที่จะออกมารุกตลาดน้ำผลไม้อย่างจริงจังมากขึ้นตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดย มาลี ตั้งเป้าว่าแต่ละปีน่าจะมีรายได้เติบโตแบบเท่าตัว โดยเฉพาะธุรกิจเครื่องดื่ม เนื่องจากผู้บริโภคหันมาใส่ใจสุขภาพของตัวเองมากขึ้น
ขณะเดียวกัน ก็จะลดสัดส่วนสินค้าเกษตรส่งออก และกลุ่มผลไม้แปรรูป หรือผลไม้กระป๋อง เพื่อลดความเสี่ยงทางธุรกิจ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ต้องพึ่งพาฤดูกาล ดินฟ้าอากาศ มีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งจะส่งผลให้สัดส่วนระหว่างส่งออกและในประเทศอยู่ที่ประมาณ 50 : 50 ขณะเดียวกันก็จะหันมาให้ความสำคัญกับแบรนด์ของตัวเองมากขึ้น และลดสัดส่วนรับจ้างผลิต หรือ OEM ลง
ด้วยความพร้อมในหลายด้านที่มีมากขึ้น ปีที่ผ่านมา มาลี ได้ใช้งบลงทุน 400 ล้านบาท ในการขยายกำลังผลิตเพิ่มขึ้น 200% ในโรงงานแห่งเดิมเพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจในอนาคต โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ ซึ่ง มาลี มีแผนที่จะเร่งเดินหน้าขยายธุรกิจเข้าไปมากขึ้น
จากการออกมาโหมทำตลาดของผู้เล่นรายหลักในตลาด เป้าหมายที่คาดการณ์กันว่า ภาพรวมตลาดน้ำผลไม้ 100% น่าจะมีอัตราการเติบโต 13-15% มูลค่า 4,500 ล้านบาท คงใกล้แค่เอื้อม ปัจจุบัน ทิปโก้เป็นผู้นำตลาดน้ำผลไม้ 100% ด้วยการครองส่วนแบ่งการตลาดที่ 43% ตามด้วยมาลีประมาณ 25% ขณะที่ภาพรวมตลาดน้ำผลไม้มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 12,000 ล้านบาท ปีนี้คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตที่ 12%
ข่าวเด่น