ในยามเจ็บป่วย ผู้ที่มีกำลังพอจ่ายได้มักเลือกใช้บริการรักษาพยาบาลจากโรงพยาบาล (รพ.) ของเอกชนชั้นนำ เพื่อแลกกับคุณภาพในการรักษาและความสะดวกสบาย ไม่ต้องไปรอคิวนานเหมือนรพ.รัฐบาล อย่างไรก็ตามเวลานี้มีรพ.ของรัฐบาลที่เปิดให้บริการเทียบเท่ารพ.เอกชนชั้นนำ ในราคาค่าบริการที่ถูกกว่าให้เลือกใช้แล้ว ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลยังย้อนกลับไปช่วยเหลือผู้ป่วยผู้ยากไร้อีกต่อหนึ่ง ทำให้ผู้ป่วยเสมือน "ผู้รับและผู้ให้" ไปพร้อม ๆ กัน รพ.ที่ว่านี้ ก็คือ "โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์" (SiPH) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรพ.ศิริราช นั่นเอง นับเป็นรพ.เอกชนในเครือ รพ.รัฐบาลแห่งแรก
“โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์” เพิ่งฉลองโอกาสการดำเนินงานครบรอบ 1 ปีไปเมื่อวันศุกร์ที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา หลังจากเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2555 และยังเป็นการฉลองพร้อมวันครบรอบ 125 ปี ของรพ.ศิริราชเช่นกัน ความสำเร็จในการดำเนินงานรอบ 1 ปีสร้างความภาคภูมิใจแก่คณะแพทย์ผู้บริหารและดูแลกิจการไม่น้อย ซึ่งได้ประกาศความพร้อมของ SiPH ในการรักษาผู้ป่วยได้อย่างครอบคลุมทุกกลุ่มโรค และตั้งเป้าก้าวขึ้นเป็น "ศูนย์กลางรักษาโรคที่ซับซ้อนและหายยาก"
รพ. SiPH เป็นรพ.ขนาด 345 เตียง อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นทางเลือกใหม่ที่มุ่งตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยที่สามารถรับภาระค่าบริการทางการแพทย์ได้ด้วยตนเองในระดับหนึ่ง โดยไม่ต้องพึ่งสวัสดิการจากภาครัฐ เน้นการบริหารที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อให้ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาได้รับบริการที่สะดวกรวดเร็วเช่นเดียวกับบริการของรพ.เอกชน มีการดูแลใกล้ชิดในบรรยากาศอบอุ่นเหมือนครอบครัวเดียวกัน และมั่นใจในความเป็นเลิศทางการแพทย์ตามมาตรฐานเดียวกับรพ.ศิริราช
ขณะเดียวกัน ผู้มาใช้บริการ รพ.SiPH ยังเสมือนเป็นผู้ให้หรือผู้บริจาคไปพร้อมกัน เนื่องจากรพ.แห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย เพื่อให้ รพ.ศิริราชสามารถเลี้ยงตัวเองได้ โดยเงินรายได้จาก รพ.SiPH จะถูกนำเข้ามูลนิธิ รพ.ศิริราช เพื่อหมุนเวียนไปสนับสนุนการรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยผู้ยากไร้ต่อไป รวมถึงใช้สำหรับวิจัยพัฒนาสร้างมาตรฐานให้กับ รพ.ศิริราชทำให้ศูนย์กลางหรือฮับทางการแพทย์ของประเทศ และช่วยผลักดันให้ไทยก้าวสู่ฮับทางการแพทย์ของภูมิภาคตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป ซึ่งผลการวิจัยใหม่ๆ หรือผลิตภัณฑ์ที่ดีของรพ.ศิริราชจะถูกนำกลับมาใช้ที่ รพ.SiPH ด้วย
ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ประดิษฐ์ ปัญจวีณิน ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ เปิดเผยว่า รพ. SiPH เกิดขึ้นจากหลายเหตุผล คือ 1.เพื่อให้ รพ.ศิริราชเลี้ยงตัวเองได้ 2.เพื่อป้องกันปัญหาสมองไหล เพราะจากการสำรวจในปี 2546 พบว่า กรุงเทพมหานครมีรพ.เอกชน เพียง 23 แห่ง แต่ในปี 2554 มีเพิ่มเป็น 98 แห่ง แสดงว่าเกิดภาวะสมองไหลขึ้น แพทย์ที่มาทำงานส่วนหนึ่งเป็นอาจารย์แพทย์ของรพ.ศิริราช มาช่วยงานเป็นที่ปรึกษา ซึ่งสามารถทำได้ตามระเบียบของอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เปิดโอกาสให้บริการด้านวิชาการนอกเวลาทำงานประจำได้ 15% หรือราว 5 ชั่วโมง จึงเป็นทางเลือกให้อาจารย์แพทย์นำความรู้ความสามารถมาบริการที่ รพ.SiPH ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีช่วยเพิ่มรายได้โดยงานไม่เสีย ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เพราะเดินมาได้ สำหรับแพทย์และพยาบาลที่ทำงานเต็มเวลาจะมีรายได้เหมือน รพ.เอกชน นอกจากนี้ยังช่วยตอบสนองความต้องการของประชาชนที่มีกำลังจ่ายได้ แต่ไม่อยากเอาเปรียบผู้ที่ด้อยกว่า
ผู้บริหารรพ. SiPH ยังกล่าวต่อว่า การบริการของรพ.SiPH เน้นบริการผู้ป่วยชาวไทยเป็นสำคัญ โดยคิดอัตราค่าบริการประมาณ 80% ของรพ.เอกชนชั้นนำ เพื่อให้ รพ.SiPH อยู่ได้ และรพ.เอกชนอยู่ได้ด้วย ไม่ได้มุ่งทำกำไร สำหรับผู้ป่วยชาวต่างชาติมีบ้าง แต่ไม่เน้น อย่างไรก็ตามหลังจากก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) พร้อมให้ความร่วมมือช่วยดูแลรักษาได้ หาก รพ.เอกชนขอความร่วมมือมา แต่จะไม่เกิน 10%
ทั้งนี้ รพ.SiPH ได้เริ่มทยอยเปิดให้บริการเรื่อย ๆ โดยใน 1 ปีที่ผ่านนำได้ผู้เชี่ยวชาญมาช่วยกันเน้นรักษาโรคที่ซับซ้อน ได้แก่ ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด ศูนย์กระดูกและข้อ ศูนย์มะเร็ง และศูนย์ระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งประกอบด้วยหน่วยล้างไตเทียมที่ผู้ป่วยต้องมานอนครั้งละ 4-5 ชั่วโมง การบริการรักษาโรคเกี่ยวกับต่อมลูกหมาก ผ่าตัดท่อปัสสาวะที่ปัจจุบันก้าวหน้าสามารถใช้แขนกลหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดได้แล้ว นอกเหนือจากนี้ยังมีศูนย์ศัลยกรรมและศูนย์อายุกรรมทั่วไป เพื่อบริการรักษาโรคทั่วไป เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน และโรคระบบประสาทเป็นต้น
การดำเนินงานที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับจากประชาชนและสังคมดี โดยมียอดผู้มาใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 12,000 รายต่อเดือน สำหรับผลประกอบการในรอบ 1 ปี พอดีทุน คาดว่าปีที่ 7-8 จะสามารถคืนทุนได้ หลังจากใช้งบประมาณในการจัดสร้างประมาณ 4,500 ล้านบาท
ในปีหน้า รพ. SiPH จะขยายบริการเพิ่มอีก ได้แก่ ศูนย์สมองและศูนย์เด็ก พร้อมเน้นการพัฒนาคุณภาพของ รพ.ให้ได้มาตรฐานคุณภาพโรงพยาบาลระดับสากล (JCI) ต่อไป
รพ. SiPH จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับประชาชนที่พอจ่ายได้ ที่สำคัญมารักษาแล้วยังได้บุญด้วย
“ให้เปรียบ รพ.ศิริราชเสมือนเครื่องบิน ที่ผู้โดยสารสามารถเลือกใช้บริการได้ คือ หากตีตั๋วชั้นประหยัด หมายถึง ไปใช้บริการของ รพ.ศิริราชเดิม หากตีตั๋วชั้นธุรกิจ หมายถึง ใช้บริการคลินิกนอกเวลา แต่ถ้าตีตั๋วชั้น 1 คือ ใช้บริการของรพ.SiPH ” ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ประดิษฐ์ กล่าว
ข่าวเด่น