นางสุทธาภา อมรวิวัฒน์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ผู้ช่วยผู้จัดการ ใหญ่ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาสที่ผ่านมาค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางตรงข้ามกับค่าเงินอื่นในภูมิภาค
จากภาวะเงินทุนไหลเข้ามาซื้อสินทรัพย์ทางการเงินในปริมาณมากของธนาคารกลางสหรัฐฯ และญี่ปุ่น การชะลอแทรกแซงค่าเงินบาทของธปท. โดยกรอบการเคลื่อนไหวทั้งปีมองแนวโน้มแข็งค่าที่ระดับ 28.5-29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมองว่าธปท.จะเข้าไปดูแลค่าเงินบาทมากขึ้น เพื่อให้เคลื่อนไหวสอดคล้องกับภูมิภาคเนื่องจากปัจจัยพื้นฐานค่อนข้างคล้ายคลึงกัน
ขณะที่ภาคธุรกิจส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทมากที่สุดได้แก่ ยางพารา อาหารทะเลแปรรูป ผักและผลไม้แปรรูป เครื่องนุ่งห่ม อัญมณีและเครื่องประดับ ข้าว โดยผลกระทบนั้นจะค่อนข้างแตกต่างซึ่งขึ้นอยู่กับภาคอุตสาหกรรม สัดส่วนการพึ่งพาการส่งออก อัตรากำไรสุทธิ ความอ่อนไหวของปริมาณการส่งออกต่อระดับราคา และผลประโยชน์จากต้นทุนนำเข้าที่ลดลง
อย่างไรก็ตาม แม้ความเสี่ยงด้านค่าเงินบาทจะยังมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง แต่เชื่อว่าศักยภาพเศรษฐกิจไทยจะยังสามารถขยายตัวได้ที่ระดับ 5.1% จากเดิม 4.9 % โดยแรงขับเคลื่อนหลักยังคงมาจากการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนที่แข็งแกร่ง การกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องจากภาครัฐ ซึ่งการลงทุนด้านการบริหารจัดการน้ำ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะถัดไป
ข่าวเด่น