บทความในวันนี้จะเป็นการให้ข้อมูลกับท่านที่สนใจและท่านที่มีสินเชื่อกับสถาบันการเงินต่างๆ และต่อมาประสบกับปัญหาไม่ว่าจะมาจากสาเหตุใดๆ ก็ตามทำให้เกิดการค้างชำระ และการค้างชำระที่ว่านี้ก็มีความต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหนึ่ง ระยะเวลาที่ว่าที่สำคัญนั้นคือการค้างชำระเกินกว่า 90 วันขึ้นไป จนในบางกรณีมีการค้างเกินกว่า 180 วัน หรือค้างเกินกว่า 300 วันขึ้นไป ทำไมผมจึงระบุระยะเวลาที่เกินในสามจุดดังกล่าว อยากจะเรียนว่าทั้งสามจุดนี้มีความหมายมากในการที่สถาบันการเงินจะดำเนินการกับลูกหนี้ที่ค้างชำระรายละเอียดดังนี้ครับ
1.ค้างชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยเกินสามงวดติดกัน หรือเกินระยะเวลา 90 วันขึ้นไปแล้ว สถาบันการเงินถือว่าลูกหนี้นั้นเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL หรือที่ภาษาชาวบ้านเรียก "หนี้เน่า" หรือ "หนี้เสีย" นั่นเอง จุดนี้สำคัญมากเพราะลูกหนี้จะตัดสินใจไม่ชำระหนี้แล้วค่อนข้างแน่นอน ขณะที่เจ้าหนี้ก็จะกำหนดมาตรการตามหนี้ที่เข้มข้นมากขึ้นเริ่มมีการเอาเรื่องกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องแล้วในรายงานของเครดิตบูโรจะแสดงสถานะบัญชีที่ค้างชำระนี้ว่า "ค้างชำระเกินกว่า 90วัน" จะไม่มีการระบุว่าบัญชีนี้เป็น NPL เป็นหนี้เสีย เป็นหนี้เน่า อะไรทั้งสิ้นเป็นการแสดงตามข้อเท็จจริงว่าค้างเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนด และในกรณีที่ลูกหนี้กลับมาชำระยอดหนี้ที่ค้างอยู่จนครบถ้วนสถานะบัญชีที่ค้างชำระนี้ก็จะกลับมามีสถานะใหม่ว่า "ปกติ" คือบัญชีกลับมาเป็นปกตินั่นเอง
2. ค้างชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยเกินหกเดือนหรือเกินระยะเวลา 180 วัน หรือจะเป็น 300 วันขึ้นไปแล้ว สถาบันการเงินถือว่าลูกหนี้นั้นเป็นหนี้สงสัยจะสูญหรือสถาบันการเงินบางแห่งจะถือว่าเป็นหนี้สูญ โดยเฉพาะสถาบันการเงินในต่างประเทศ เขาจะมีวิธีการตั้งสำรองกับความเสียหายที่เกิดจากการที่ลูกหนี้ไม่จ่ายชำระให้ครบถ้วนตามเกณฑ์ที่กำหนดก่อน จะมีการพิจารณาว่าขายหนี้ที่ค้างชำระดังกล่าวออกไปให้กับบริษัทติดตามหนี้ บริษัทบริหารสินทรัพย์ สำนักงานกฎหมายบางแห่ง เพื่อรับเงินเข้ามาส่วนหนึ่งพร้อมกับตัดปัญหาการติดตามหนี้ในลูกค้ากลุ่มดังกล่าว
เช่น มีลูกหนี้ 100 บาท เท่ากับมีสิทธิเรียกร้อง 100 บาท ขายออกไปในราคา 20 บาท ใครที่รับซื้อหนี้มาบริหารก็ต้องทำให้ลูกหนี้ดังกล่าวชำระมามากกว่า 20 บาท บวกค่าใช้จ่ายในการติดตามหนี้ บริษัทติดตามหนี้ บริษัทบริหารสินทรัพย์ สำนักงานกฎหมายที่รับซื้อหนี้มาจึงจะกำไร ส่วนในรายงานเครดิตบูโรก็จะแสดงสถานะบัญชีว่า บัญชีที่ค้างนั้นมีการ "โอนหรือขายหนี้ให้กับบุคคลอื่นหรือบริษัทบริหารสินทรัพย์" ตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ยอดเงินที่เป็นหนี้จะแสดงค่าเท่ากับศูนย์ เพราะว่าคนที่ซื้อหนี้เขาจ่ายเงินให้กับสถาบันการเงินตามราคาที่ตกลงกัน เจ้าหนี้สถาบันการเงินนั้นก็หมดสิทธิเรียกร้องไป สิทธิเรียกร้องจะถูกถ่ายโอนมายังคนซื้อหนี้ หากลูกหนี้ได้รับการติดต่อจากคนที่ซื้อหนี้ไปแล้วยังไม่ยอมเจรจา หรือไม่ยอมตกลงกัน คนที่รับซื้อหนี้ก็จะใช้มาตรการทางกฎหมายฟ้องร้องดำเนินคดี บังคับให้ชำระหนี้ต่อไป
3.อีกกรณีหนึ่งคือค้างชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยเกินหกเดือนหรือเกินระยะเวลา 180 วันหรือจะเป็น 300 วันขึ้นไปแล้ว สถาบันการเงินถือว่าลูกหนี้นั้นเป็นหนี้สงสัยจะสูญหรือสถาบันการเงินบางแห่งจะถือว่าเป็นหนี้สูญ สถาบันการเงินตัดสินใจดำเนินการทางกฎหมายให้ลูกหนี้มาชำระหนี้ พร้อมไปกับการตั้งสำรองกับความเสียหายที่เกิดจากการที่ลูกหนี้ไม่จ่ายชำระให้ครบถ้วนตามเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ในรายงานเครดิตบูโรก็จะแสดงสถานะบัญชีว่า บัญชีที่ค้างนั้นมีการ "อยู่ระหว่างดำเนินการทางกฎหมาย" ตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น จะไม่มีการระบุอะไรไปมากกว่านี้ ไม่มีการบอกว่าฟ้องแล้ว แพ้หรือชนะคดี ล้มละลายหรือไม่ บอกเพียงว่าตอนนี้บัญชีนี้ที่ค้างชำระหนี้อยู่นี้ทางเจ้าหนี้กำลังดำเ นินการทางกฎหมายกับลูกหนี้ผ่านสถานะบัญชีที่มีข้อความดังกล่าว
4.สรุปแล้วคือการค้างชำระในบัญชีใดบัญชีหนึ่งเป็นเวลาที่นานพอสมควรของลูกหนี้นั้น อย่าไปคิดว่าเจ้าหนี้เขาจะไม่ทำอะไร เขาทำแน่ เพียงแต่จะเป็นแบบไหนเท่านั้น ไม่ได้ดีสักทางสำหรับคนที่ค้างชำระ ดังนั้นก่อนจะคิดค้างชำระต้องคิดให้รอบคอบ แก้ไขปรับปรุงดีกว่า เจรจาดีกว่า ท้ายสุดต้องไม่ลืมว่าเงินที่เราได้กู้มาใช้นั้นมันไม่ใช่ของสถาบันการเงินหรือของธนาคาร แต่มันเป็นของคนที่ฝากเงินนะครับ สถาบันการเงินหรือธนาคารทำหน้าที่บริหารดูแลรักษาครับ
สุรพล โอภาสเสถียร
ผู้จัดการใหญ่
บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด
ข่าวเด่น