เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
สินเชื่อครัวเรือนไตรมาส 2 พุ่ง










ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงินสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้ออกรายงานผลการสำรวจภาวะและแนวโน้มสินเชื่อไตรมาส 2 ของปีนี้ พบว่า สถาบันการเงินส่วนใหญ่ คาดว่า ความต้องการสินเชื่อภาคครัวเรือนทุกประเภทจะยังคงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อครัวเรือน จากความต้องการอุปโภคบริโภคทั่วไป และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่อยู่ในเกณฑ์ดี 

สอดคล้องกับมุมมองของ นายชาติชาย  พยุหนาวีชัย   รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)  ที่คาดว่าการใช้จ่ายของสินเชื่อส่วนบุคคลในไตรมาส 2 ของปีนี้จะเพิ่มขึ้น ตามฤดูกาลที่มีค่อนข้างมาก และอาจจะส่งผลให้หนี้เสียในเชิงจำนวนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย   แต่จะยังอยู่ระดับเดิมที่ 3%  และคาดว่าภาพรวมสินเชื่อบุคคลปีนี้จะอยู่ที่ 2.8 แสนล้านบาท หรือเติบโต 11% จากปี 2555

และ น.ส.ณญาณี เผือกขำ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อผ่อนชำระ บริษัทอยุธยา แคปปิตอลเซอร์วิสเซส จำกัด ผู้ให้บริการ กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ กล่าวว่า  ในช่วงเปิดเทอมและช่วงหน้าร้อน ยอดสินเชื่อบุคคลและการผ่อนชำระเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะแอร์ และตู้เย็นจะเพิ่มขึ้นจึงมองว่า ยอดสินเชื่อไตรมาส 2 จะเติบโตสูงกว่า 18% จากไตรมาสแรกปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 76,000 บัญชี วงเงิน 9,900 ล้านบาทหรือเติบโต 21%   โดยปีนี้ตั้งเป้ามีลูกค้ารายใหม่ 3.5 แสนราย ส่งผลสิ้นปีมียอดลูกค้าเพิ่มเป็น 2.35 ล้านบัญชี   ส่วนหนี้เสียทรงตัวที่  2-3% และไม่เห็นสัญญาณการผิดนัดชำระหนี้เพิ่ม

ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า จากการสำรวจผู้ปกครอง 400 คนในเขตกรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 25 เม.ย. – 3 พ.ค. ที่ผ่านมา เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอมปี 56 พบว่า มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 24,000 ล้านบาท  ขยายตัว 6.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่อยู่ที่ค่าใช้จ่ายที่ใช้ทำกิจกรรมพิเศษกับโรงเรียน เช่น ค่ากิจกรรมวิชาการ ทัศนศึกษา ค่าเรียนเสริมทักษะต่างๆ (ดนตรี วาดภาพ และว่ายน้ำ ) ซึ่งผู้ปกครองจะมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ เฉลี่ยประมาณเดือนละ 2,000-2,500 บาท รองลงมาเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าศึกษาเล่าเรียนหรือค่าเทอม ค่าชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียน ค่าเรียนกวดวิชา และเสริมทักษะ

ซึ่งจากการให้ความสำคัญกับการศึกษา และการเรียนรู้เพิ่มเติมของผู้ปกครองที่มีต่อบุตรหลาน ส่งผลให้ปัจจุบันธุรกิจโรงเรียนกวดวิชา รวมถึงธุรกิจเสริมทักษะทางด้านต่างๆ มีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น และคาดว่า มูลค่าตลาดของธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาและเสริมทักษะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 12-15% 
 

 

 


LastUpdate 11/05/2556 09:32:41 โดย : Admin
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 2:52 pm