การปรับลดจีดีพี ปี 56 ของคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ลงเหลือ ร้อยละ 4.2-5.2 จากเดิมคาดเติบโต ร้อยละ 4.5-5.5 หลังไตรมาส 1/56 GDP ขยายตัวที่ ร้อยละ 5.3 ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ต่ำ เนื่องจากการส่งออกขยายตัวช้ากว่าคาด รวมทั้งการปรับสมมติฐานอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และราคาสินค้าส่งออก รวมทั้งความเสี่ยงในครึ่งปีหลังยังอยู่ในเกณฑ์สูง
ซึ่งปัจจัยหลักที่ฉุดการส่งออกให้ชะลอตัวลง สศช.ระบุว่า เกิดจาการค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้น โดยเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจากระดับ 31 บาท/ดอลลาร์ มาอยู่ที่ประมาณ 29 บาท/ดอลลาร์ในขณะนี้ ทำให้มูลค่าการส่งออกหายไปประมาณ 1.8 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญจากเรื่องความล่าช้าในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในครึ่งปีแรกและครึ่งปีหลัง ที่นำโดยสหรัฐฯ และ ญี่ปุ่น, ความล่าช้าในการฟื้นตัวของราคาสินค้าในตลาดโลก, ฐานการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เริ่มสูง และการลดลงของแรงส่งจากมาตรการคืนภาษีให้ผู้ซื้อรถยนต์คันแรก
ดังนั้นจึงเชื่อว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.จะนำตัวเลขเศรษฐกิจจริงทั้งหมดไปประกอบการพิจารณาเรื่องอัตราดอกเบี้ยในวันที่ 29 พ.ค. นี้ แน่นอน เนื่องจากมาตรการดอกเบี้ย ถือเป็นมาตรการที่ทำได้เร็วทำได้ทันทีมากกว่ามาตรการภาษีของกระทรวงการคลัง แต่การใช้มาตรการดอกเบี้ยก็ต้องใช้แบบให้เกิดผลหรือเกิดอิมแพ็คทันที ซึ่งจากที่เคยหารือร่วมกันในหลายหน่วยงานพบว่า การลดดอกเบี้ยลง 1% จะมีผลต่อตลาดทันที
ด้าน นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ยอมรับว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในไตรมาส 1/56 ที่เติบโตต่ำกว่าที่ควรจะเป็น อาจทำให้จีดีพีทั้งปีนี้เติบโตต่ำกว่าระดับ 5% ดังนั้นทุกภาคส่วนจะต้องร่วมกันดูแลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ขยายตัวมากขึ้น และจีดีพีไตรมาส 1/56 ขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ ก็จะเป็นแรงผลักดันให้ต้องมีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
ขณะที่ นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยอมรับว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกปี 2556 ของ สศช. ที่ประกาศออกมา เป็นการขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์ ของ ธปท. ซึ่งคาดไว้ในเบื้องต้นว่า จะขยายตัวประมาณ 7% ซึ่งการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรก เป็นสิ่งที่ธปท.จะติดตามอย่างใกล้ชิด และจะนำข้อมูลล่าสุดในทุกด้าน เสนอเป็นข้อมูลประกอบให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) พิจารณาในการประชุม กนง.ในวันที่ 29 พ.ค.ที่จะถึงนี้ แต่ในการตัดสินใจอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น เป็นเรื่องของ กนง.จะพิจารณา
ส่วนมุมมองของนักวิชาการ นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า การประกาศตัวเลขเศรษฐกิจของ สศช.ที่ชะลอตัวลง อาจทำให้คณะกรรมการ กนง. พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้ แต่จะปรับลดลงมากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อในขณะนี้ถือว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่ได้สูงเกินไป ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนไม่น่าจะเป็นแรงกดดันให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้ เพราะถือว่าเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น อ่อนค่าลงอย่างมีเสถียรภาพแล้ว
ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยอมรับว่า โมเมนตัมที่แผ่วตัวลงของเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 1/56 และอาจต่อเนื่องมาในช่วงต้นไตรมาส 2/56 ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าแนวโน้มที่เศรษฐกิจไทยทั้งปี 2556 อาจขยายตัวต่ำกว่าระดับ 5.0% ท่ามกลางสถานการณ์ที่ผ่อนคลายของเงินเฟ้อ อาจกลายเป็นตัวแปรที่มีน้ำหนักมากขึ้นต่อการพิจารณาจุดยืนเชิงนโยบายการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ในการประชุมรอบปกติในวันที่ 29 พ.ค.56
ข่าวเด่น