สรุปการเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา
หมายเหตุ ข้อมูลที่นำมาคำนวนมาจาก Bisnews และ DailyFX.com และการเปลี่ยนแปลงมูลค่าของสินทรัพย์คิดจากราคาเปิดและราคาปิดในรอบสัปดาห์ ขณะที่การเหวี่ยงตัวคิดจากราคาสูงสุดและต่ำสุดของสัปดาห์
สรุปการเคลื่อนไหวในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา
สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดทองคำได้เผชิญกับประเด็นเชิงลบค่อนข้างมาก กดดันราคาทองคำให้ปรับตัวลง 89 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยเริ่มต้นจาก การออกมาลดการคาดการณ์ของ BNP Paribas ว่าราคาทองคำในปีนี้จะลดลงมาอยู่ที่ 1,580 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่ Deutsche Bank ประเมินไว้ที่ 1,533 ดอลลาร์ต่อออนซ์ พร้อมกันนี้ Deutsche Bank ประเมินว่าการปรับลดลงของราคาทองคำมาจากนักลงทุนสถาบันมากกว่านักลงทุนรายย่อย โดยคาดว่าทาง SPDR อาจมีการขายเพิ่มขึ้น 2-4 ล้านออนซ์ (ประมาณ 56-114 ตัน) และอาจมีการขายเพิ่มสูงถึง 4-8 ล้านออนซ์ (ประมาณ 114-227ตัน) หากภาพรวมเศรษฐกิจยังส่งผลลบต่อราคาทองคำ นอกจากนี้ สภาทองคำโลก(WGC) ได้เปิดเผย ความต้องการทองคำในไตรมาส 1 ปรากฎว่าได้ปรับลดลง 13% จากช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว อยู่ที่ 963 ตัน (แม้ว่าความต้องการด้าน Jewelry เพิ่มขึ้น 19% ก็ตาม) สิ่งที่เกิดขึ้นสร้างมุมมองเชิงลบต่อตลาดทองคำเป็นอย่างมาก แม้การประกาศตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน(ปรับตัวขึ้นมากที่สุดในรอบ 6 เดือน) แต่ก็ทำให้เพียงชะลอการปรับตัวลงของราคาทองคำในระยะสั้นๆเท่านั้น
ประเมินสถานการณ์และทิศทางราคาทองคำในสัปดาห์นี้
ราคาทองคำ : แนวรับ 1,320(18,600) 1,280(18,100) 1,250(17,700)
แนวต้าน 1,380(19,500) 1,400(19,800) 1,420(20,100)
หลังจากช่วงต้นเดือน พฤษภาคม ผลการประชุมของ FOMC นั้นบ่งบอกว่าจะยังคงเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและหลักทรัพย์ที่ได้รับการค้ำประกันจากสัญญาจำนองของ agency ต่อไป และจะใช้เครื่องมืออื่นๆ ด้านนโยบายตามความเหมาะสม จนกว่าแนวโน้มของตลาดแรงงานจะปรับตัวดีขึ้นเป็นอย่างมาก ขณะที่ FOMC พร้อมที่จะปรับขึ้น หรือปรับลดอัตราการเข้าซื้อ เพื่อให้การผ่อนคลายนโยบายจะได้อยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อไป
อย่างไรก็ตามสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมากลับมีกระแสจะยุติมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณในระยะเวลาอันใกล้ เนื่องจากตลาดที่อยู่อาศัยได้ปรับตัวดีขึ้น อีกทั้งอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐพุ่งขึ้นสู่ 2.5 % ต่อปีในไตรมาสแรก หลังจากอยู่ในภาวะซบเซาในช่วงปลายปี 2555 ขณะที่อัตราการว่างงานร่วงลงสู่ 7.5 % ในเดือนเม.ย. หลังจากที่เคยขึ้นไปแตะจุดสูงสุดที่ 10 % ในเดือนต.ค. 2552 จึงทำให้เกิดกระแสดังกล่าวขึ้น ซึ่งนักลงทุนอาจต้องรอ FOMC Meeting Minutes ในช่วงกลางดึกของวันพุธตามเวลาในประเทศไทย เพราะอาจมีการส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับประเด็นมาตรการ QE ซึ่งแน่นอนว่าหากมีการกล่าวถึงรายละเอียดที่มากกว่าเดิมจะส่งผลต่อทิศทางของราคาทองคำอย่างมีนัยสำคัญ
ขณะที่ทางยุโรปอาจต้องติดตามตัวเลขเศรษฐกิจซึ่งอาจมีผลต่อทิศทางของราคาทองคำในระยะสั้นๆ ขณะที่การแถลงนโยบายการเงินของประเทศญี่ปุ่นก็เป็นสิ่งที่ต้องติดตามเนื่องจากในอดีตก็สามารถส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของราคาทองคำในระยะสั้นๆได้
กลยุทธ์การลงทุน
หลังจากที่ราคาทองคำได้เผชิญแรงขายลงมาอย่างหนัก จนหลุดแนวบริเวณ 1,400 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่งผลให้ราคาทองคำสูญเสียโมเมนตัมในการปรับขึ้น ดังนั้นแล้วนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนทองคำในช่วงนี้ควรใช้ความระมัดระวังอย่างมาก โดยเน้นการเก็งกำไรระยะสั้นเท่านั้น และมีการวางจุดตัดขาดทุนไว้เสมอ นอกจากนี้หากราคาทองคำหลุดแนวรับบริเวณ 1,320 ดอลลาร์ต่อออนซ์อาจส่งผลให้ราคาทองคำเผชิญขายอย่างหนักอีกครั้งได้ โดยกรอบแนวรับแนวต้านที่สำคัญ ได้แก่แนวรับที่ 1,320 - 1,250 ดอลลาร์ต่อออนซ์และแนวต้านที่ 1,380 - 1,420 ดอลลาร์ต่อออนซ์
การประกาศตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์หน้า
* ที่มา Bisnews และ foexfactory.com ข้อมูลวันที่ 18 พฤษภาคม 2556 ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงในภายหลังได้
ข่าวเด่น