รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มีคำสั่งที่ 576/2556 ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2556 ให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท ส่งเสริมประกันภัย จำกัด ด้วยบริษัทมีพฤติการณ์ที่หากให้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยต่อไป อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ขอสรุปข้อเท็จจริง ดังนี้
1. บริษัทส่งเสริมประกันภัย จำกัด (บริษัท) มีการดำเนินการในลักษณะที่อาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน บริษัทไม่มีระบบควบคุมการจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคบังคับ (พรบ.) ไม่มีระบบควบคุมการสอบยันกรมธรรม์ประกันภัยที่จำหน่าย และเงินค่าเบี้ยประกันภัยให้ถูกต้องตรงกัน ไม่มีระบบควบคุมการบันทึกบัญชีและสมุดทะเบียนตามที่กฎหมายกำหนด มีการบันทึกบัญชีโดยใช้เกณฑ์เงินสด ซึ่งผู้สอบบัญชีไม่รับรองงบการเงิน
2. นายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คณะกรรมการ คปภ.) ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 52 แห่ง พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2551) สั่งให้ให้บริษัทหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2555 และให้บริษัทดำเนินการแก้ไขข้อผิดพลาดของบริษัทเกี่ยวกับฐานะและการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มกราคม 2556
3. เนื่องจากการแก้ไขประเด็นปัญหายังไม่ลุล่วง ประกอบกับ บริษัทได้ร้องขอขยายระยะเวลาการแก้ไขปัญหาออกไป นายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการ คปภ. ได้ขยายระยะเวลาการแก้ไขประเด็นปัญหาของบริษัทออกไปอีก 30 วัน โดยมีเงื่อนไขให้บริษัทดำเนินการแก้ไขข้อผิดพลาดของบริษัทที่มีอยู่เดิมให้แล้วเสร็จ
4. สำนักงาน คปภ. ได้ให้โอกาสบริษัทในการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาเป็นระยะเวลานานพอสมควรแล้ว แต่บริษัทไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาของบริษัทได้ ทั้งยังปรากฏข้อเท็จจริงว่าบริษัทมีการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายเพิ่มเติม ได้แก่ บริษัทไม่ส่งงบการเงิน และรายงานการดำรงเงินกองทุน ตามที่กฎหมายกำหนด บริษัทมีการกระทำที่ฝ่าฝืนคำสั่งนายทะเบียน และพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เรียกเอกสารเพื่อการตรวจสอบการดำเนินงานและฐานะการเงินของบริษัท ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่สามารถประเมินการดำเนินงานและฐานะการเงินของบริษัทได้ ดังนั้น หากให้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยต่อไป จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชนได้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงได้มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัทส่งเสริมประกันภัย จำกัด ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2556
5. การเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัทส่งเสริมประกันภัย จำกัด ในครั้งนี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัทประกันวินาศภัยอื่นๆ
6. เพื่อป้องกันมิให้ประชาชนผู้เอาประกันภัยได้รับความเดือดร้อน สำนักงาน คปภ. ได้รับความร่วมมือจากบริษัทประกันวินาศภัยภัย จำนวน 22 บริษัท ยินดีรับโอนกรมธรรม์ประกันภัยของผู้เอาประกันภัยซึ่งได้ทำประกันภัยไว้กับบริษัท ส่งเสริมประกันภัย จำกัด ที่ยังมีผลผูกพันอยู่ โดยขอความร่วมมือให้ผู้เอาประกันภัยซื้อกรมธรรม์ประกันภัยในแบบเดิม ระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี แล้วบริษัทที่เข้าร่วมโครงการจะขยายความคุ้มครองเพิ่มเติมให้กับผู้เอาประกันภัยสำหรับระยะเวลาที่เหลือของกรมธรรม์ประกันภัยเดิม ทั้งนี้ผู้เอาประกันภัยจะต้องโอนสิทธิที่จะได้รับเบี้ยประกันภัยสำหรับระยะเวลาที่เหลือจากผู้ชำระบัญชี หรือจากกองทุนประกันวินาศภัยให้แก่บริษัทที่รับโอนกรมธรรม์ประกันภัยนั้นด้วย
7. สำหรับผู้เป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยของบริษัท ให้ยื่นขอรับชำระหนี้ต่อผู้ชำระบัญชี และกองทุนประกันวินาศภัย ภายในสองเดือนนับแต่วันที่กองทุนประกันวินาศภัยออกประกาศ โดยให้นำเอกสารต้นฉบับพร้อมทั้งสำเนา จำนวน 2 ชุด ประกอบการยื่นขอรับชำระหนี้ ดังนี้ กรมธรรม์ประกันภัย บัตรประจำตัวประชาชน ใบเคลม ใบนัดชำระหนี้ หรือเอกสารอื่นใดที่แสดงถึงมูลหนี้ หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (กรณีเป็นนิติบุคคล) หากไม่สามารถมายื่นได้ด้วยตนเอง จะต้องมีหนังสือมอบอำนาจพร้อมกับสำเนาบัตรประชาชน ผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ ยื่นต่อผู้ชำระบัญชีของบริษัท ส่งเสริมประกันภัย จำกัด ได้ตามสถานที่ดังต่อไปนี้
1. ส่วนกลาง ยื่นได้ 3 แห่ง ดังนี้
(1) สำนักงาน คปภ. เลขที่ 22/79 ถนนรัชดาภิเษก แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900
(2) สำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ เลขที่ 287 ซอยรัชดาภิเษก 6 ถนนรัชดาภิเษก ท่าพระ แขวงบุคคโล เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร 10600
(3) สำนักงาน คปภ. เขตบางนา เลขที่ 1/16 อาคารบางนาธานี ชั้น 8 ถนนบางนาตราด กม.3 แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
2. ส่วนภูมิภาค ยื่นที่ สำนักงาน คปภ.ภาค และสำนักงาน คปภ.จังหวัดทั่วประเทศ
8. สำหรับเจ้าหนี้อื่นที่ไม่ใช่เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัย ให้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อผู้ชำระบัญชี ณ สถานที่และภายในกำหนดเวลาที่ระบุข้างต้น พร้อมทั้งนำเอกสารแสดงความเป็นเจ้าหนี้ ต้นฉบับพร้อมทั้งสำเนา จำนวน 1 ชุด ประกอบการขอยื่นชำระหนี้ ดังนี้ หลักฐานแสดงถึงมูลหนี้ บัตรประจำตัวประชาชน หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (กรณีเป็นนิติบุคคล) หากไม่สามารถมายื่นได้ด้วยตนเอง จะต้องมีหนังสือมอบอำนาจ พร้อมกับสำเนาบัตรประชาชนผู้มอบอำนาจ และผู้รับมอบอำนาจ
9. ปัจจุบันมีกองทุนประกันวินาศภัย ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ ที่เกิดจากการเอาประกันภัย ในกรณีที่บริษัทล้มละลายหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาต โดยเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากสัญญาประกันภัย จะต้องไปขอรับชำระหนี้จากผู้รับชำระบัญชี และ/หรือ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายก่อน หากจำนวนเงินที่ได้รับชำระหนี้จากบริษัท (ผู้ชำระบัญชี และ/หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์) มีไม่เพียงพอ เจ้าหนี้ดังกล่าวมีสิทธิได้รับชำระหนี้ส่วนที่ขาดจากกองทุนฯ แต่รวมกันแล้วทุกสัญญาไม่เกินหนึ่งล้านบาทต่อราย
สำหรับรายชื่อบริษัทประกันวินาศภัยภัยที่เข้าร่วมโครงการให้ความช่วยเหลือผู้เอาประกันภัย สามารถดูได้จากเว็บไซต์ของสำนักงาน คปภ. (www.oic.or.th) หรือสอบถามได้ที่สายด่วนประกันภัย 1186
ข่าวเด่น