เมื่อเร็ว ๆนี้ "แองเจลิน่า โจลี" ดาราชั้นนำของฮอลลีวู้ด ได้ออกมาสร้างความฮือฮาไปทั่วโลก เมื่อเธอเปิดเผยถึงการตัดสินใจครั้งสำคัญ เกี่ยวกับการผ่าตัดเต้านมออกทั้งสองข้าง เพื่อลดความเสี่ยงของการเป็น “มะเร็งเต้านม” จาก 87% ให้ลดลงเหลือเพียงไม่ถึง 5% ตามคำแนะนำของแพทย์ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ โอกาสที่เธอจะเป็นมะเร็งค่อนข้างสูง ถือเป็นการตัดสินใจที่น่าชื่นชมและช่วยจุดประกายให้ตระหนักถึงอันตรายของโรคร้ายชนิดนี้ไม่น้อย
ทั้งนี้ “มะเร็งเต้านม” สามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย และปัจจัยเรื่อง “ยีน” หรือ “พันธุกรรม” จากบุพการีเป็นพื้นฐานอย่างหนึ่งของโรคนี้ ซึ่งจะพบประมาณ 4-6% ของผู้ป่วย แต่สาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดมะเร็งเต้านมจะคล้ายกับสาเหตุที่ทำให้มะเร็งชนิดอื่น ๆ คือ เกิดจากการทำปฏิกิริยา Oxidation ของเซลล์ต่าง ๆ ทำให้เกิดอนุมูลอิสระ (Free Radicals) ขึ้น และเกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางพันธุกรรมขึ้นที่ DNA ของเซลล์ ทำให้เซลล์ในอวัยวะนั้น ๆ มีการทำงานที่ผิดปกติ ทำให้เกิดการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม การบริโภคอาหารที่มีไขมันสูง เนื้อแดง รวมทั้งฮอร์โมนเพศหญิง
สำหรับยีนที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งเต้านมที่รู้จักกันดี ได้แก่ "ยีน BRCA1" หรือ "BRCA2" โดยการกลายพันธุ์ของยีนทั้ง 2 ชนิดนี้สามารถทำให้เกิดมะเร็งเต้านม และสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ ดังนั้นผู้หญิงที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมมากกว่าคนปกติ รวมทั้งผู้ป่วยที่เคยเป็นมะเร็งเต้านม จะมีอัตราเสี่ยงที่จะกลับมาเป็นใหม่สูงกว่าคนปกติ
กรณีของแองเจลิน่า โจลี จัดอยู่ในกลุ่มผู้มีความเสี่ยง เนื่องจากมารดาของเธอถูกโรคร้ายนี้คร่าชีวิตไปก่อนวัยอันสมควร เมื่อแพทย์ตรวจพบยีนผิดปรกติ BRCA 1 และตัดสินใจตัดเต้านมออกทั้งสองข้าง โดยเก็บผิวหนังทั้งหมดและหัวนมเอาไว้ หรือที่เรียกว่า "bilateral prophylactic nipple-areolar complex sparing mastectomy" โดยใช้เทคนิค "nipple delay procedure" ก่อนที่จะทำการผ่าตัดเอาเนื้อเต้านมออกมาเพื่อเพิ่มโอกาสอยู่รอดของหัวนม จากนั้นได้ใส่เต้านมเทียมชนิดชั่วคราวไว้ใต้กล้ามเนื้อหน้าอก และมาเปลี่ยนเป็นแบบถาวรในภายหลัง
การตรวจหายีนผิดปกติจึงเป็นแนวทางอีกอย่างหนึ่งเพื่อป้องกันความเสี่ยงก่อนที่โรคร้ายจะมาถึง
นพ.ธงชัย ศุกรโยธิน ศัลยแพทย์ด้านมะเร็งเต้านม โรงพยาบาลเวชธานี ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวว่า การตรวจหาความผิดปกติของยีน BRCA ในประเทศไทย ยังไม่แพร่หลายและไม่ได้ใช้ประจำในปัจจุบัน นอกจากนี้ การตรวจยังมีค่าใช้จ่ายสูง และยังไม่มีการศึกษาถึงประโยชน์ของการตรวจที่ชัดเจนในไทย
แต่ในต่างประเทศมีการศึกษาถึงประโยชน์ของการตรวจหายีนที่ผิดปกติ รวมทั้งมีเกณฑ์ที่จะใช้คัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงสูงด้วยการตรวจหายีน จึงทำให้มีการตรวจที่แพร่หลาย ส่วนเทคนิคในการผ่าตัดที่เลาะเอาเนื้อเยื่อเต้านมโดยเก็บหัวนมและผิวหนังด้านนอกเอาไว้ ยังไม่ถือว่าเป็นวิธีมาตรฐานของการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านม ในต่างประเทศทั้งแถบยุโรปและอเมริกายังอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัย แต่มีการนำมาใช้ในการผ่าตัดรักษาผู้ที่พบว่า เป็นมะเร็งเต้านมในบางกรณี โดยอาจจะต้องมีการฉายแสงที่บริเวณหัวนมที่เก็บไว้ ทั้งฉายแสงในห้องผ่าตัดเลยหรือฉายแสงภายหลัง เพื่อลดโอกาสการกลับเป็นซ้ำ สำหรับในไทยเริ่มมีการผ่าตัดเทคนิคนี้เพิ่มมากขึ้นแต่ยังมีจำนวนไม่มากนัก
นพ.ธงชัย ยังกล่าวด้วยว่า สำหรับการตัดสินใจชิงตัดไฟแต่ต้นลม ด้วยการตัดเต้านมออกก่อน ทั้งๆ ที่ยังไม่พบว่าเป็นมะเร็งนั้นเป็นไปตามเกณฑ์ความเสี่ยง โดยเมื่อผลตรวจออกมาว่า มีความผิดปกติของยีน BRCA1 แสดงว่า คนๆ นั้นมีความเสี่ยงถึง 65-81% ที่จะเป็นมะเร็งเต้านมในอนาคต และถ้ามีความผิดปกติของยีน BRCA2 จะมีความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม 45-85%
ดังนั้น จึงควรป้องกันหรือให้การรักษาด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ตามแนวทางซึ่งผู้ป่วยสามารถร่วมตัดสินใจกับแพทย์ได้ ดังนี้ คือ
1.ตัดเต้านมออกสองข้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่แองเจลิน่าเลือกนั่นเอง
2.ตัดรังไข่ออกสองข้าง
3.การบำบัดรักษาโดยใช้ยา ซึ่งจะใช้วิธีใด ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ป่วยประกอบกับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา
สำหรับผู้ที่ยังไม่ทราบว่าเป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่ จำต้องหมั่นสังเกตเต้านมของตัวเองก่อนเป็นเบื้องต้น แต่เพื่อให้ได้ผลแม่นยำต้องไปพบแพทย์ ซึ่งปัจจุบันมีคำแนะนำให้ตรวจเอกซเรย์เต้านม (Mammogram) ปีละครั้งหลังอายุ 40 ปี หากพบความผิดปกติแพทย์จะใช้วิธีการเจาะตรวจเนื้อเยื่อ โดยใช้เข็ม ATEC เจาะเข้าไปตัดชิ้นเนื้อในตำแหน่งที่ผิดปกติเพื่อส่งไปตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการต่อไป
ป้องกันไว้ก่อนย่อมดีกว่า เพราะตรวจพบก่อนย่อมมีโอกาสได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว และมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ ซึ่งจะยืดเวลาอยู่กับคนที่เรารัก เหมือนดังโจลี ..ที่อยากจะอยู่กับครอบครัวของเธอไปนาน ๆ
ข่าวเด่น