สำนักวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ออกบทวิเคราะห์ ECONOMICS: GDP 1Q13 กลับมาขยายตัวในเกณฑ์ปกติ คาดดอกเบี้ยนโยบายทรงตัวในวันที่ 29 พ.ค.
GDP 1Q13 ขยายตัว 5.3% น้อยกว่าที่ตลาดคาด
สภาพัฒน์ฯ เผยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ใน 1Q13 ขยายตัว 5.3% YoY (ต่ำกว่าที่เราและตลาดคาดการณ์ที่ 5.7% และ 6% ตามลำดับ) แต่ยังขยายตัวได้ในระดับศักยภาพ (4.5 - 5%) อย่างไรก็ตาม หลังปรับผลของฤดูกาลแล้วพบว่า GDP หดตัวลง 2.2% QoQ (ต่ำกว่าที่ตลาดคาดที่ -1.5%) ทั้งนี้ สภาพัฒน์ฯ ได้ปรับเพิ่ม GDP ใน 4Q12 ขึ้น 0.2ppt เป็น 19.1% YoY ส่งผลให้ในปี 2012 GDP ขยายตัว 6.5% (จากรายงานก่อนหน้าที่ 6.4%)
อุปสงค์ภายในประเทศชะลอลงในทุกภาคส่วน
การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเพียง 4.2% YoY ตามการลดลงของยอดขายรถยนต์ หลังจากโครงการรถคันแรกของรัฐบาลสิ้นสุดลง ณ สิ้นปี 2012 นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาครัฐก็ชะลอลงเหลือ 2.2% YoY ตามการอัตราการเบิกจ่ายที่ชะลอลง ขณะที่ การลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนขยายตัว 18.8% และ 3.1% YoY ตามลำดับ อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าและบริการขยายตัวในเกณฑ์ดี (8.4% YoY) จากการเพิ่มขึ้นของรายได้นักท่องเที่ยว
ด้านอุปทาน ภาคบริการมีส่วนช่วยพยุงการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวม
ภาคบริการยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่งทั้งภาคการเงินและการธนาคาร ภาคโรงแรมและภัตตาคาร และภาคการก่อสร้าง ซึ่งช่วยชดเชยการชะลอลงของผลผลิตอุตสาหกรรมและการเกษตร (รูปที่ 6) โดยผลผลิตภาคการเกษตรทรงตัวที่ 0.5% YoY ตามการชะลอลงของผลผลิตด้านประมง ส่วนผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 4.8% YoY ชะลอลงตามการผลิตรถยนต์ที่แผ่วลง
เรายังคงคาดการณ์ GDP ในปี 2013 ขยายตัว 4.7%
การส่งออกและอุปสงค์ภายในประเทศชะลอลง แต่เมื่อเทียบกับการขยายตัวในอดีตพบว่ายังคงขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ปกติ (รูปที่ 1) ทั้งนี้ แม้ว่า ใน 1Q13 เป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้ากว่าคาด รวมถึงแรงกดดันจากเงินบาทแข็งค่า แต่การส่งออกที่แท้จริงก็ยังคงขยายตัวใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในอดีต ซึ่งเราคาดว่าการส่งออกใน 2Q13 จะสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ตามเศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัวและแรงกดดันเงินบาทที่บรรเทาลง ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศของภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวตามการใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้นทั้งจากงบประมาณภายในและนอก ดังนั้นเราจึงยังคงคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ในปี 2013 ที่ 4.7% ซึ่งก็อยู่ในช่วงการคาดการณ์ใหม่ของสภาพัฒน์ฯ ที่ 4.2-5.2%
เรายังมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะไม่เปลี่ยนแปลงในการประชุม กนง. วันที่ 29 พ.ค.
ด้วย GDP ที่ขยายตัวต่ำกว่าคาด ทำให้โอกาสที่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายดังที่เราเคยคาดไว้มีน้อยลง
สำหรับการประชุม กนง. ครั้งถัดไปในวันที่ 29 พ.ค. นี้ เรายังคงคาดว่าจะไม่มีการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังคงเติบโตได้ตามศักยภาพสูงกว่า 5% อีกทั้ง เรายังเชื่อว่า ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินยังเป็นปัจจัยที่ ธปท. เฝ้าจับตามากที่สุด การลดดอกเบี้ยในช่วงที่เริ่มเห็นสัญญาณการก่อตัวของภาวะความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ เช่น การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้น และราคาอสังหาริมทรัพย์ จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินมากขึ้นอีก
ข่าวเด่น