บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง วิเคราะห์หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ (Banking Sector) โดยมองแนวโน้มธุรกิจว่าสินเชื่อยังโตต่อ แม้ Demand เริ่มชะลอตัวลง
ประเด็นการลงทุน : ยอดสินเชื่อเดือน เม.ย. ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง แม้ว่าอัตราการเติบโตจะเริ่มชะลอตัวลง ขณะที่ประเด็นการประชุมกนง. วันที่ 29 พ.ค. นี้ ที่อาจมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เราเชื่อว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธนาคารพาณิชย์ในเชิงปัจจัยพื้นฐานมีค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ตามราคาหุ้นอาจได้รับผลกระทบในเชิงจิตวิทยา แต่ด้วยภาพรวมด้านปัจจัยพื้นฐานที่ยังคงแข็งแกร่ง เรามองว่าหากราคาหุ้นปรับตัวลดลงจากประเด็นการลดอัตราดอกเบี้ยอาจเป็นโอกาสที่ดีในการเข้าสะสมหุ้น เรายังคงน้ำหนัก Overweight สำหรับหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์
ยอดสินเชื่อเดือน เม.ย. ยังขยายตัวต่อ: ยอดสินเชื่อเดือน เม.ย. 56 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ขยายตัว 3.48 หมื่นล้านบาท หรือ 0.4%mom (2.6%Ytd) โดย TISCO ยังคงเป็นธนาคารที่สินเชื่อขยายตัวได้เด่นที่สุดในเดือนนี้ที่ 1.5%mom ตามมาด้วย KK (+1.0%), SCB (+0.9%) และ TCAP (+0.5%) ขณะที่ธนาคารอื่นๆ ยอดสินเชื่อค่อนข้างทรงตัว มีเพียง TMB ที่ยอดสินเชื่อหดตัวลงเล็กน้อย โดยเราเริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวของการเติบโตของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ จากเดิมที่เคยขยายตัวได้ในระดับเกินกว่า 2% ต่อเดือน ลงมาเหลือเพียงประมาณ 1% ในเดือนนี้ ซึ่งสะท้อนภาพโครงการรถยนต์คันแรกที่มีการส่งมอบรถยนต์ที่เริ่มลดลง ขณะที่ความต้องการสินเชื่อภาคเอกชนค่อนข้างทรงตัวในเดือนนี้ เรามองว่าความต้องการสินเชื่อที่เริ่มชะลอตัวลงในเดือนนี้น่าจะเกิดจากการปรับฐานทางเศรษฐกิจที่มีความร้อนแรงเป็นอย่างมากในช่วงก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตามภาพการขยายตัวโดยรวมของสินเชื่อยังอยู่ในเกณ์ดี ขณะที่ภาพทั้งปียังคงมีปัจจัยบวกหลายประการที่จะช่วยผลักดันความต้องการสินเชื่อ ทั้งการขยายตัวของการบริโภคในต่างจังหวัด, การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ, การเปิด AEC ในปี 58 รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เราคาดสินเชื่อทั้งปี 56 จะขยายตัวได้อีก 12% ขณะที่ด้านสภาพคล่องยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี และยังเพียงพอที่จะรองรับการเติบโตของสินเชื่อในอนาคตได้
ผลกระทบหากปรับลดดอกเบี้ยมีค่อนข้างน้อย: สำหรับการประชุม กนง. ในวันที่ 29 พ.ค. นี้ ตลาดมองว่ามีโอกาสที่จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบในแง่ของจิตวิทยาการลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ อย่างไรก็ตามหากประเมินผลกระทบในเชิงปัจจัยพื้นฐานแล้วจะพบว่าผลกระทบที่เกิดต่อประมาณการกำไรสุทธินั้นมีน้อยมากไม่ถึง 1% (ภายใต้สมมติฐานอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำลดลง 0.25% และดอกเบี้ยเงินกู้ลดลง 0.125%) โดยธนาคารที่จะได้รับผลกระทบลบในแง่ของกำไรสุทธิมากที่สุด คือ TMB. KTB, KBANK, BBL, SCB และ BAY ตามลำดับ ขณะที่ TISCO, KK และ TCAP จะเป็นธนาคารที่ได้ประโยชน์ขณะที่ในแง่ของ NIM โดยรวมได้รับผลกระทบเล็กน้อยเพียง 2bps จากประมาณการปัจจุบันของเรา โดย KTB เป็นธนาคารที่จะได้รับผลกระทบในแง่ของ NIM มากที่สุด ขณะที่ TISCO จะเป็นธนาคารที่ได้ประโยชน์ในแง่ของ NIM มากที่สุด
คงน้ำหนัก “มากกว่า” ตลาด: แม้เราจะประเมินว่าผลกระทบในเชิงของปัจจัยพื้นฐานจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจมีไม่มากนัก แต่ในแง่จิตวิทยาการลงทุน ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์อาจได้รับผลกระทบในเชิงลบจากประเด็นดังกล่าว อย่างไรก็ตามเรายังคงเชื่อว่าปัจจัยพื้นฐานโดยรวมของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ยังคงแข็งแกร่ง ทั้งในแง่ของ Balance Sheet และการเติบโตของสินเชื่อและผลการดำเนินงาน ขณะที่ Valuation ยังไม่แพงสำหรับการลงทุนระยะกลาง-ยาว เราจึงยังคงน้ำหนัก Overweight สำหรับการลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ โดยนักลงทุนอาจหาจังหวะในช่วงที่ราคาหุ้นมีการปรับฐานเป็นโอกาสที่ดีในการเข้าสะสมหุ้นในกลุ่ม เรายังคงเลือก KTB, KK และ TCAP เป็นหุ้น Top pick
ข่าวเด่น