เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ตอนที่ 19/2556 : เรื่องที่อยากรู้ต้องรอวันที่ 29 พฤษภาคม 2556


 

เรื่องที่ผมอยากเสนอกับผู้อ่านทุกท่านในวันนี้ก่อนที่คณะกรรมการนโยบายการเงินจะมีการพิจารณาภาวะเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปพร้อมกับการตัดสินใจในเรื่องดอกเบี้ยนโยบายที่ตอนนี้กำหนดไว้ในระดับ 2.75% เรื่องทั้งหลายนั้นมีทั้งข้อเท็จจริงที่แถลงออกมาโดยหน่วยงานวางแผนเศรษฐกิจที่ระบุออกมาแปลเป็นภาษาชาวบ้านคือ เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่หนึ่งของปี 2556 นี้ทรุดต่ำกว่าที่คาดและต่อมาในการแถลงข่าวสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยท่านเลขาธิการ สศช. ได้ประกาศปรับลดอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจลงเหลือ 4.2-4.5% จากที่คาดการณ์ไว้เดิม 4.5-5.5% มูลเหตุของการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจเกิดขึ้นภายหลังจากตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปี 2556 ขยายตัวแค่ 5.3% หดตัวลง 2.2% จากไตรมาส 4 ปี 2555 ซึ่งสะท้อนให้เห็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจโดยเฉพาะในส่วนของการส่งออกที่ขยายตัวเพียง 4.5% ในรูปของเงินเหรียญสหรัฐและขยายตัวเพียง 0.5% ในรูปของเงินบาท ขณะที่ตัวเลขการลงทุนและการบริโภคก็มีอัตรการเติบโตที่ต่ำและน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ และหน่วยงานดังกล่าวได้เสนอให้มีการพิจารณาเรื่องการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้ต่ำลง

ประเด็นการปรับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลงส่งผลให้มีการคาดการณ์กันว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในวันที่ 29 พ.ค.นี้ จะมีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเกิดขึ้นแน่แต่จะอยู่ในระดับ 0.25-0.5% หรือไม่ อย่างไร
ประเด็นการเปรียบเทียบข้อมูลและข้อเท็จจริงของหน่วยงานบริหารเศรษฐกิจฝั่ง ธนาคารแห่งประเทศไทยที่ระบุว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสแรกปี 2556 ที่สองหน่วยงานนั้นประเมินนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับการส่งออกและอัตราแลกเปลี่ยน แต่เป็นเรื่อง Demand หรืออุปสงค์ภายในประเทศ โดยเฉพาะการอุปโภคบริโภค เพราะตัวเลขของทั้งสองแห่งรายงานต่างกัน "ธปท.พร้อมพิจารณาผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน ถ้าหากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจริง แต่มีข้อสังเกตว่า ตัวเลขอุปสงค์โดยเฉพาะการบริโภคอุปโภค ซึ่งประเมินไว้ที่ 5.8% ขณะที่ สศช. ประเมินไว้เพียง 4.2% ส่งผลให้อุปสงค์ในไตรมาสแรกของ สศช.อยู่ที่ 3.9% ส่วนของ ธปท.อยู่ที่ 6.3%" นี่คือประเด็นของตัวเลขเพื่อการตัดสินใจที่มีความแตกต่าง

ผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงินแห่งหนึ่งกล่าวว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรกที่โตเพียง 5.3% สะท้อนให้เห็นว่าแรงกระตุ้นเศรษฐกิจที่มาจากการกระตุ้นของภาครัฐที่ถือเป็นแรงขับเคลื่อนหลังในระยะที่ผ่านมาเริ่มแผ่วลง ซึ่งในภาวะอย่างนี้ หน่วยงานบริหารเศรษฐกิจประเทศอาจต้องมีการทบทวนนโยบายใหม่ พร้อมให้ข้อแนะนำว่านโยบายเศรษฐกิจของไทยนับจากนี้ไปต้องให้น้ำหนักไปที่การลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาว

ตัวผมเองก็อยากทราบว่าเราจะไปยังไงกันต่อเพราะที่ผ่านมาเราๆ ท่านๆ ได้รับข้อมูลมาว่า รายได้เพิ่มจากการเพิ่มค่าจ้าง ลดภาษีนิติบุคคล เงินเฟ้อก็ต่ำ ตรึงราคาข้าวของได้ผล ค่าใช้จ่ายพลังงานยังไม่มีการปรับขึ้น สินเชื่อเพื่อการบริโภคเติบโต รถยนต์ขายได้เป็นล้านคัน คอนโดจองกันเพียบ แบบว่าฟองสบู่จะมาหรือไม่ กลับมาดูการว่างงานก็ต่ำ แรงงานไทยขาดแคลน อัตราแลกเปลี่ยนก็กลับมาอยู่ที่ 29 บาทกว่า มีแต่ราคาทองที่ผันผวน ราคาหุ้นก็ยังไปได้ ราคาหุ้นจองที่เข้าซื้อขายก็พอมีกำไร จะมีก็คำเตือนในกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อยว่าอย่าสร้างหนี้กันเยอะเกินไป เหตุใดจึงเกิดอาการเศรษฐกิจติดหล่ม แล้วเราจะออกจากหล่มนี้ด้วยวิธีการใดได้บ้าง วันที่ 29 เดือนนี้เราคงได้รู้กัน

สุรพล โอภาสเสถียร
ผู้จัดการใหญ่
บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 27 พ.ค. 2556 เวลา : 12:33:37
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 2:38 pm