ไอที
"Google Glass" เทคโนโลยีสวมใส่ได้ ก้าวหน้าหรือดาบ 2 คม


 

 

 

ในวัฏจักรของสิ่งต่าง ๆ มีเกิดและมีดับเป็นเรื่องธรรมชาติ เช่นเดียวกับแวดวงธุรกิจที่มักมีคลื่นลูกเก่าไป คลื่นลูกใหม่มา ไม่ต่างจากการแจ้งเกิดของแทบเล็ตและสมาร์ทโฟนมาแทนยุคการใช้งานคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (พีซี) ที่รวมประเภทตั้งโต๊ะและแบบพกพา เช่น โน๊ตบุ้คและแลปท็อป อย่างไรก็ตาม “เทคโนโลยีสวมใส่ได้” ที่อาจมาในรูปของแว่นตาหรือนาฬิกา กำไลข้อมือหรือแหวน อาจเป็นคลื่นใหม่ต่อจากยุคแทบเล็ตและสมาร์ทโฟนก็เป็นได้ ซึ่งรุ่นที่กำลังมีกระแสแรงในขณะนี้เห็นจะหนีไม่พ้น “Google Glass”

 
 
 
 
ในปัจจุบันต้องยอมรับว่า แทบแล็ตและสมาร์ทโฟนเป็นอุปกรณ์ที่ได้รับความนิยมสูง ตอกย้ำด้วยการรายงานของบริษัทวิจัยไอดีซีของสหรัฐในช่วงต้นปี 2013 นี้ที่พบว่า ยอดขายคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (พีซี) ช่วงเทศกาลวันหยุดยาวปีใหม่ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบมากกว่า 5 ปี โดยยอดขายพีซีตกต่ำกันถ้วนหน้าสำหรับบรรดาผู้ผลิต ไม่ว่าจะเป็นค่าย ฮิวเลตต์-แพคการ์ด เลอโนโว และเดลล์ หลังจากการเปิดตัวระบบปฏิบัติการ “วินโดว์ส8” ของไมโครซอฟท์ไม่ได้ช่วยกระตุ้นแรงซื้อ  ที่สำคัญยังเกิดจากแรงฉุดอย่างแรงของตลาดใหม่อย่าแทบเล็ตและสมาร์ทโฟนด้วย
ทั้งนี้ภาพรวมตลอดปี 2555 มียอดขายพีซีทั่วโลกเพียง 352 ล้านเครื่อง ลดลงจากปีก่อนหน้า 3.2%
 
 
 
 
 
ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้าได้ เพราะผลิตภัณฑ์คลื่นลูกใหม่พร้อมจะแจ้งเกิดได้ทุกเมื่อ ดังอุปกรณ์หรือเทคโนโลยีสวมใส่ได้ต่าง ๆ ที่กำลังถูกมองว่าอาจเป็นยุคหลังจากสมาร์ทโฟนและแทบเล็ต เพราะความสามารถในการใช้งานที่ไม่ต่างหรืออาจจะเหนือกว่า และยังใช้ได้ง่ายกว่า ทำงานได้ทันใจโดยไม่ต้องควักออกจากกระเป๋า
 
 
 
 
“กูเกิล” บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเสิร์จเอนจิ้นของสหรัฐที่พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆอย่างต่อเนื่อง โดยนอกจากการให้เสิร์ชข้อมูลมากมาย อีเมล แผนที่ออนไลน์ ซอฟต์แวร์จัดการด้านสำนักงาน เครือข่ายออนไลน์ และวิดีโอออนไลน์แล้ว กูเกิลยังมีระบบปฏิบัติการ Android สำหรับสมาร์ทโฟนและแทบเล็ตที่ถูกนำไปแพร่หลายทั่วโลกและซอฟต์แวร์เบราว์เซอร์ Google Chrome สำหรับท่องอินเทอร์เน็ตที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบันเช่นกัน  กระทั่งในปี 2012 ที่ผ่านมา กูเกิลได้เปิดตัวโครงการ “Project Glass” ซึ่งเป็นการพัฒนาคอมพิวเตอร์สวมใส่ได้อย่าง “Google Glass” และเป็นสิ่งที่เหล่าสาวกไฮเทคติดตามและรอคอยอย่างใจจรดจ่อ โดยกูเกิลคาดหมายจะนำเข้าตลาดในช่วงปลายปี 2013 นี้ถึงต้นปี 2014 
 
 
 
 
 
“Google Glass” เป็นอุปกรณ์สื่อสารใหม่ที่ถูกออกแบบในรูปของแว่นตาไฮเทคที่ทำงานได้เหมือนสมาร์ทโฟน ซึ่งจะช่วยให้ใช้งานในชีวิตประจำวันง่ายขึ้น สะดวกขึ้น ผลจากความพิเศษของแว่นไฮเทคมีดังนี้ คือ
 
-ช่วยให้ผู้เชื่อมต่อโลกอินเทอร์เน็ตได้ผ่านเทคโนโลยี Wi-Fi, Bluetooth, 3G และ GPS โดยการใช้งานมองผ่านหน้าจอที่เป็นปริซึมขนาดเล็กไป จะเห็นหน้าจอแสดงผลเสมือนจริงซ้อนอยู่บนภาพที่แท้จริง เป็นจอขนาด 25 นิ้ว ความละเอียด 640 x 360 พิกเซล จอมีเซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว
 
-ทำงานบนระบบปฏิบัติการ Android  
 
-สั่งการด้วยเสียง ซึ่งระบบจะโต้ตอบกับผู้ใช้อัตโนมัติ หรือจะใช้ร่วมกับการสัมผัส touchpad ที่ขาแว่น
 
-นอกจากนี้ ยังมีรายงานค้นพบชุดคำสั่งเพิ่มเติมอีกว่า ดูเหมือนกูเกิลพยายามพัฒนาให้ แว่นไฮเทคนี้สามารถคุมด้วยท่าทางได้ด้วย โดยผู้ใช้สามารถสั่งการได้ด้วยศีรษะ ดวงตาและนิ้วมือ โดยใช้วิธีกระพริบตาเพื่อถ่ายภาพได้ หรือขยายภาพเพื่อชมรายละเอียดด้วยการจีบถ่างนิ้วมือแทนการสัมผัสบนหน้าจอ
 
 
 
 
-ใช้งานโทรศัพท์  รับ-ส่งข้อความ ถ่ายรูป-วีดีโอ  โดยกล้องถ่ายภาพมีความละเอียด 5 ล้านพิกเซล
 
-มีหน่วยความจำที่ใช้ได้ถึง 12GB ซึ่งมากพอจะเก็บภาพหรือวีดีโอได้
 
-มีลำโพงปล่อยเสียงที่ด้านหลังใบหู เพื่อส่งคลื่นสัญญาณไปยังกระดูกหูส่วนใน
 
 
 
 
-มีไจโรสโคป ตัววัดต่างๆ (accelerometer) และเข็มทิศ ซึ่งระบบเข็มทิศดิจิตอล และ GPS ช่วยในเรื่องการแสดงเส้นทาง แผนที่หรือหาตำแหน่งของวัตถุ การค้นหาสถานที่
 
-สั่งให้แปลภาษาได้โดยไม่ต้องพิมพ์
 
 
 
 
-สามารถแชร์สิ่งที่เห็นหรือถ่ายภาพไว้ให้คนอื่นดูพร้อมๆกับเราได้แบบเรียลไทม์
 
-สั่งการให้เสิร์ชข้อมูลสิ่งที่เห็นได้ทันทีตามต้องการ
 
 
 
 
จากตัวอย่างความสามารถเหล่านี้ ทำให้พอจะมองเห็นภาพรวมได้ว่า สร้างความสะดวกสบายแก่ผู้ใช้มากขนาดไหน สิ่งเหล่านี้เหล่านักพัฒนาและผู้บริโภคบางส่วนได้มีโอกาสสัมผัสแล้วในการทดสอบใช้แว่นรุ่นทดสอบ Explorer Edition กันตั้งแต่ช่วงต้นปี 2013 นี้  หลายรายถูกใจ เพราะช่วยให้การใช้ชีวิตของพวกเขาง่ายขึ้นจริง ๆ
 
อย่างไรก็ตาม เส้นทางของ “Google Glass” ไม่ได้ราบรื่นเสียทีเดียวนัก เพราะยังมีข้อด้อยให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่พอสมควร โดยเฉพาะเรื่องที่อาจไปละเมิดความเป็นส่วนตัวหรือสิทธิส่วนบุคคล เช่น ความสามารถบันทึกเสียงหรือถ่ายภาพหรือวีดีโอได้โดยผู้อื่นไม่รู้ตัว
 
 
 
ความกังวลมีมากถึงขนาดที่สมาชิกสภาคองเกรสของสหรัฐถึงกับร่วมลงนามส่งจดหมายถึงผู้บริหารระดับสูงของกูเกิล เกี่ยวกับการดูแลข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการใช้งาน Google Glass  ที่อาจถูกนำไปใช้เก็บรวมรวมข้อมูลอย่างไม่เหมาะสม ซึ่งจะไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น พร้อมชี้ว่า เคยมีผู้เจาะระบบเครื่องได้สำเร็จ  แสดงว่า อาจทำให้มีผู้ดัดแปลงอุปกรณ์ให้บันทึกภาพและเสียงอัตโนมัติโดยไม่ต้องพึ่งคำสั่งเสียงได้และทำได้โดยไม่เป็นจุดสังเกตของผู้คนโดยรอบ
 
 
 
 
ความกังวลยังรวมไปถึงเพื่อปกป้องข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้เองด้วย กรณีมีบุคคลที่ 3 นำแว่นไปใช้ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางรายกังวลว่า ข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้ในเครื่องอาจถูกส่งไปยังศูนย์ของกูเกิล เป็นต้น
 
แม้แต่เจ้าของกิจการบางแห่งออกโรงคัดค้านตั้งแต่แว่น Google Glass ยังไม่ทันจะได้ขาย เช่น ร้านอาหารในเมืองซีแอตเทิลของสหรัฐประกาศผ่าน Facebook ห้ามนำแว่นดังกล่าวเข้าร้าน  ส่วนกลุ่มนักกฎหมายในเวสต์เวอร์จิเนียได้เสนอกฏห้ามใช้ Google Glass ในระหว่างขับรถ และครอบคลุมถึงอุปกรณ์ไอทีแบบสวมครอบหัวทุกชนิดด้วย
 
 
 
 
คงต้องเป็นหน้าที่ของกูเกิลที่จะต้องทำการบ้านอย่างหนัก เพื่อขจัดความวิตกกังวลเหล่านี้ให้ได้ ด้วยการรอบคอบในการแก้ไขจุดบกพร่อง อุดช่องโหว่และสกัดความเสี่ยงการนำ Google Glass ไปใช้ในทางที่ผิด เพื่อไม่ให้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีกลายเป็นดาบ 2 คม นำพาสังคมสู่ความวิบัติ..นั่นเอง
 
 
 

LastUpdate 28/05/2556 10:33:44 โดย : Admin
19-04-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2025, 5:59 pm