เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
เปิด 22 มาตรการรัฐ เข็นเป้าศก.ไทยโต 5%


 สศช.- สศค. วางกรอบการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจปี56 สร้างภูมิคุ้มกัน ดันเป้าเศรษฐกิจโตไม่น้อยกว่า 5%


นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ ( 28 พฤษภาคม 2556 )ได้เห็นชอบกรอบการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยปี 2556 ที่สศช. และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค. ) กระทรวงการคลัง ได้ร่วมกันเสนอทั้งนี้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้เศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพ และสามารถเติบโตได้ในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 โดยมีรายละเอียดดังนี้

*ปัจจัยที่จะกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดใน 5 ด้านได้แก่

1.ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวได้ช้ากว่าคาดหวังและมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่วิกฤติเศรษฐกิจอีก

2.การแก้ปัญหาด้วยการพิมพ์เงินของประเทศมหาอำนาจ ทำให้สงครามอัตราแลกเปลี่ยนยังดำเนินการต่อไปและส่งผลให้เงินทุนไหลเข้าประเทศไทย

3.ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นและผันผวนส่งผลกระทบต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการ

4.แรงขับเคลื่อนจากมาตรการสร้างรายได้-ลดรายจ่าย-ขยายโอกาสในปีแรกมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่การเบิกจ่ายงบลงทุนโครงการขนาดใหญ่อาจมีความล่าช้ากว่ากำหนดการ และ

5.การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์และตลาดอสังหาริมทรัพย์ต้องดูแลให้สอดคล้องกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจ โดยระมัดระวังไม่ให้เป็นการเก็งกำไรจนเกิดฟองสบู่ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

ดังนั้น รัฐบาลจึงจำเป็นต้องกำหนดกรอบการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งเตรียมพร้อมหากต้องมีมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในระยะ 6-12 เดือน ดังนี้

*การสร้างความเชื่อมั่น และเสถียรภาพระยะสั้น

- ดูแลเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้แข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่ง และประเทศคู่ค้า จนกระทบต่อศักยภาพของเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้น และระยะยาว

- ดูแลการดำเนินนโยบายการคลัง และนโยบายการเงินให้มีความสอดคล้องกัน เพื่อโอกาสในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ที่เต็มศักยภาพ และมีเสถียรภาพ โดยการประสานงานอย่างใกล้ชิด ระหว่างหน่วยงานกลางที่มีบทบาทหลัก ด้านการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ ได้แก่ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

- สร้างความเชื่อมั่นในต่างประเทศ โดยผ่านการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง และการเยือนต่างประเทศของคณะผู้แทนของประเทศ

การรักษาศักยภาพการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจให้สามารถขยายตัวได้ 5% อย่างต่อเนื่อง

- สร้างฐานการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนในประเทศ ด้วยการเพิ่มรายได้-ลดรายจ่าย และสร้างโอกาสให้กับประชาชน ทั้งการขยายฐานรายได้เก่า และสร้างรายได้ใหม่ เพื่อส่งเสริมการกระจายรายได้ที่ดีขึ้น

- สนับสนุนการสร้างรายได้จากต่างประเทศด้านการส่งออก ท่องเที่ยว และการลงทุนในภาคธุรกิจที่เหมาะสมในต่างประเทศ

- ดำเนินนโยบายการคลังที่มีวินัย ขยายฐานภาษี และเพิ่มความสามารถในการสร้างรายได้ของภาครัฐ ลดการขาดดุลงบประมาณให้เข้าสู่สภาวะสมดุลในระยะเวลาที่เหมาะสม โดยจัดให้มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น และเป็นประโยชน์ต่อประเทศในระยะยาว ด้วยการควบคุมหนี้สาธารณะให้อยู่ภายใต้กรอบวินัยการคลังที่กำหนด

- ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และโครงสร้างภาษีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเพื่อการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาวตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย

*มาตรการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ ประกอบด้วยมาตรการด้านการเงิน มาตรการด้านการคลัง และมาตรการเฉพาะด้าน ดังนี้

*มาตรการด้านการเงิน โดยประสานงานกับ ธปท.ในการดำเนินมาตรการสำคัญ ซึ่งประกอบด้วย 7 มาตรการ ได้แก่

1.ซื้อขายเงินตราต่างประเทศ เพื่อดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ และไม่แข็งค่ามากกว่า ความสามารถในการปรับตัวของภาคการผลิต และการบริการ

2.ดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยอย่างเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ และการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ

3.ดำเนินมาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน เพื่อดูแลเสถียรภาพของสถาบันการเงิน และเศรษฐกิจโดยรวม

4.พิจารณาให้มาตรการจำกัดเงินทุนไหลเข้าอย่างระมัดระวัง เมื่อมีความจำเป็น โดยมีการประเมินผลกระทบอย่างรอบคอบก่อนการดำเนินการ และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด

5.บริหารการจัดการเงินทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ โดยเพิ่มประเภทสินทรัพย์ที่ ธปท.สามารถลงทุนได้

6.ช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม ให้สามารถบรรเทาผลกระทบของค่าเงินบาท

7.สร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาค เพื่อดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

*มาตรการด้านการคลัง ประกอบด้วย 6 มาตรการ ได้แก่

1.การกำกับดูแลการเบิกจ่ายงบประมาณ และงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด

2.ดำเนินโครงการลงทุนขนาดใหญ่ให้ได้ตามแผนงานในครึ่งหลังของปี 2556

3.กำหนดให้รัฐวิสาหกิจชำระหนี้ และปรับโครงสร้างหนี้ ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ ซึ่งในปัจจุบันรัฐวิสาหกิจหลายแห่งได้เริ่มดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวแล้ว เช่น บมจ.ท่าอากาศยานไทยฯ และ บมจ.การบินไทยฯ เป็นต้น

4.ปฏิรูปโครงสร้างภาษี ซึ่งได้เริ่มดำเนินการในส่วนของภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้ว

5.สนับสนุนด้านสินเชื่อ ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรับ ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ และเอสเอ็มอี ในการเพิ่มเครื่องมือการค้ำประกันการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน

6.ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจเอกชนไปลงทุนต่างประเทศในภาคธุรกิจที่เหมาะสม

*มาตรการเฉพาะด้านเพื่อสนับสนุนการผลิตสินค้า และบริการ การส่งออก การลงทุนและรายได้ของประชาชนใน 8 ด้าน โดยจะแบ่งเป็นมาตรการที่จะดำเนินการในช่วง 6 เดือน และมาตรการปรับโครงสร้างการผลิต ที่สำคัญตามยุทธศาสตร์ของประเทศ ได้แก่

- ด้านการเกษตรเพื่อยกระดับรายได้เกษตรกร

- ด้านเอสเอ็มอี เพิ่มสัดส่วนเป็น 40% ของจีดีพี

- ด้านอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ขยายการลงทุน และพัฒนาเทคโนโลยี

- ด้านการท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว 24.7 ล้านคนในปี 2556 และรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ในปี 2558

- การส่งออกขยายตัว 9% ในปี 2556

- ด้านพลังงาน เพื่อให้มีแหล่งพลังงานที่มั่นคงในราคาที่เหมาะสม

- ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อยกระดับเทคโนโลยี และการเข้าถึงบริการที่ให้เป็นระดับแนวหน้าในภูมิภาค

- ผู้มีรายได้น้อย เพื่อสร้างรายได้ และกำลังซื้อขยายการเข้าถึงแหล่งทุน และลดต้นทุนการประกอบอาชีพ
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 29 พ.ค. 2556 เวลา : 10:39:21
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 2:34 pm