เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
กสิกรไทยคงประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้ 2.6% แต่จับตาราคาสินค้าครึ่งปีหลัง


บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ "อัตราเงินเฟ้อเดือนพ.ค. ยังต่ำจากผลของฐาน แม้ราคาสินค้าจะขยับขึ้นรายเดือนมากที่สุดนับจากต้นปี"


ประเด็นสำคัญ
?    อัตราเงินเฟ้อล่าสุดของไทยในเดือนพ.ค. 2556 ชะลอลง โดยเงินเฟ้อทั่วไปแตะระดับต่ำสุดในรอบ 42 เดือนที่ร้อยละ 2.27 (YoY) ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยับลงต่อเนื่อง มาที่ร้อยละ 0.94 (YoY) ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบเกือบ 2 ปีครึ่ง
?    ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คงตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ร้อยละ 2.6 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ร้อยละ 1.4 ไว้ตามเดิม โดยต้องจับตาการส่งผ่านภาระต้นทุนในช่วงครึ่งหลังของปี ที่น่าจะมีภาพที่ชัดมากขึ้นกว่าในครึ่งปีแรก

อัตราเงินเฟ้อชะลอลงจากผลของฐานที่สูงในปีก่อน...แม้ราคาสินค้าในหมวดอาหารจะขยับขึ้นจากเดือนก่อนหน้า      

?    อัตราเงินเฟ้อล่าสุดของไทยในเดือนพ.ค. 2556 ชะลอลงแตะระดับต่ำสุดในรอบหลายเดือนจากผลของฐาน* โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพ.ค. อยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 42 เดือนที่ร้อยละ 2.27 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงต่อเนื่องจากร้อยละ 2.42 (YoY) ในเดือนเม.ย. ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนพ.ค. อยู่ที่ร้อยละ 0.94 (YoY) ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 29 เดือน และผ่อนคลายลงเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน จากร้อยละ 1.18 (YoY) ในเดือนเม.ย.

?    ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 0.24 (MoM) ซึ่งนับเป็นการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้ารายเดือนที่มากที่สุดนับจากต้นปี 2556 และสะท้อนว่า ภาวะค่าครองชีพของประชาชนยังคงขยับสูงขึ้นเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน โดยความแปรปรวนของสภาพอากาศส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตในกลุ่มอาหารสดที่ออกสู่ตลาด และเมื่อรวมกับแรงกดดันด้านต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น จึงส่งผลทำให้ราคาอาหารบางหมวดเพิ่มสูงขึ้นค่อนข้างมากในระหว่างเดือน อาทิ ราคาผัก/ผลไม้สด (+4.39 %MoM) ไข่ (+8.79 %MoM) ขณะที่ ราคาเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ รวมถึงเครื่องนุ่งห่ม ก็ปรับเพิ่มสูงขึ้นในช่วงเปิดภาคเรียนการศึกษาด้วยเช่นกัน
            

 ทั้งนี้ การปรับตัวลงของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ (-0.35 %MoM) ตามทิศทางตลาดโลก และค่าไฟฟ้า (-1.2 4%MoM) ตามการปรับลดค่า Ft รอบเดือนพ.ค.-ส.ค.2556 ชะลอแรงกดดันเงินเฟ้อไว้ได้บางส่วนเท่านั้น เพราะดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพ.ค. ยังคงเพิ่มจากเดือนเม.ย. ร้อยละ 0.24 (MoM) เทียบกับในเดือนเม.ย.ที่เพิ่มขึ้นจากเดือนมี.ค.เพียงร้อยละ 0.16 (MoM)


แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของไทยในช่วงที่เหลือของปี 2556
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคงตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ร้อยละ 2.6 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ร้อยละ 1.4    

?    สถานการณ์ที่ต้องจับตาในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 ก็คือ การขยับขึ้นของราคาสินค้าอุปโภคบริโภครายเดือนตามภาระต้นทุนของผู้ประกอบการ ซึ่งน่าจะมีภาพที่ชัดเจนมากขึ้นกว่าในช่วงครึ่งปีแรก แม้แรงหนุนราคาสินค้าในหมวดอาหารสด จะทยอยกลับสู่ภาวะปกติตามสภาพดินฟ้าอากาศก็ตาม นอกจากนี้ การปรับราคา LPG ภาคครัวเรือนที่มีกำหนดจะเริ่มขึ้นในช่วงเดือนก.ค.นี้ ก็อาจส่งผลทางอ้อมต่อการคาดการณ์ทิศทางราคาสินค้าและโครงสร้างต้นทุนของภาคธุรกิจด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม คาดว่า กระทรวงพาณิชย์น่าจะดูแลให้ผลกระทบต่อราคาอาหารสำเร็จรูปอยู่ในกรอบที่สมเหตุสมผล

?    แนวโน้มเงินเฟ้อยังอาจทรงตัวในระดับต่ำจนถึงไตรมาส 3/2556 ... สอดคล้องกับทิศทางการใช้จ่ายภายในประเทศที่ปราศจากแรงหนุนที่ชัดเจน โดยสถานการณ์ดังกล่าว น่าจะส่งผลบรรเทาแรงกดดันเงินเฟ้อผ่าน 2 ทาง คือ ทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อจากฝั่งอุปสงค์ (Demand-Pull Inflation) ไม่เร่งตัวขึ้น ขณะที่ การส่งผ่านภาระต้นทุนของผู้ผลิตก็จะยังคงทำได้อย่างจำกัด และค่อยเป็นค่อยไป ตามการควบคุมต้นทุนด้านราคาสินค้า และดูแลราคาขายปลีกพลังงานบางประเภท อาทิ น้ำมันดีเซล อย่างใกล้ชิดจากภาครัฐ
      
นอกจากนี้ ปัจจัยเรื่องฐานเปรียบเทียบ ก็จะทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อในช่วงไตรมาส 2/2556 และไตรมาส 3/2556 ไม่ขยับสูงขึ้นมากนักเช่นกัน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป น่าจะผ่อนคลายลงไปมีค่าเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 2.5 (YoY) ในช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 3 จากระดับร้อยละ 3.1 ในไตรมาสแรกของปี

?    สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อในปี 2556 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงตัวเลขประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ร้อยละ 2.6 (กรอบคาดการณ์ร้อยละ 2.4-3.0) และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ร้อยละ 1.4 (กรอบคาดการณ์ร้อยละ 1.2-1.7) ไว้ตามเดิม โดยประเมินว่า แรงกดดันเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับต่ำไปจนถึงช่วงท้ายๆ ไตรมาส 3/2556 ก่อนจะขยับขึ้นในช่วงปลายปี 2556

 

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 03 มิ.ย. 2556 เวลา : 17:47:53
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 3:41 pm