ในที่สุด นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ได้ออกประกาศกระทรวงการคลัง เพื่อให้นิติบุคคลและบุคคลไทยสามารถลงทุนในต่างประเทศได้มากขึ้น และให้ "ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท." มีเครื่องมือในการดูแลเงินทุนไหลเข้าได้อย่างเหมาะสม ตามข้อเสนอของ ธปท. เกี่ยวกับการดำเนินมาตรการดูแลเงินทุนเคลื่อนย้าย
โดยสาระสำคัญของประกาศดังกล่าว ประกอบด้วย การผ่อนคลายหลักเกณฑ์การโอนเงินออกนอกประเทศ โดยผ่อนผันให้บุคคลธรรมดาลงทุนโดยตรงในกิจการที่ต่างประเทศได้ไม่จำกัดจำนวนเช่นเดียวกับนิติบุคคล ทั้งการลงทุนในรูปหุ้นทุน และให้กู้ยืม รวมทั้ง ผ่อนผันวงเงินการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยผู้ลงทุนสถาบันลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศและอนุพันธ์ รวมทั้งตราสารสกุลเงินตราต่างประเทศที่ออกขายในประเทศตามที่กำหนดได้ไม่จำกัดจำนวน
ส่วนผู้ลงทุนสถาบันที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้แก่ กองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพและบริษัทหลักทรัพย์ ยังต้องขอจัดสรรวงเงินลงทุนจาก ก.ล.ต. ซึ่งจะจัดสรรจากวงเงินที่ ธปท. อนุมัติ 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับผู้ลงทุนสถาบันประเภทอื่นจะสามารถลงทุนได้ตามวงเงินที่หน่วยงานที่กำกับดูแลผู้ลงทุนและคณะกรรมการหรือผู้มีอำนาจบริหารของผู้ลงทุนกำหนด
นอกจากนี้ยังผ่อนผันให้บุคคลรายย่อยลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศและอนุพันธ์ รวมทั้งตราสารสกุลเงินตราต่างประเทศที่ออกขายในประเทศ ตามที่กำหนดได้ไม่เกินวงเงินที่ได้รับจัดสรรจาก ก.ล.ต. และผ่อนผันให้บุคคลในประเทศซื้อ แลกเปลี่ยน หรือกู้ยืมเงินตราต่างประเทศจากธนาคารพาณิชย์และนำฝากเข้าบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ เพื่อรอชำระภาระผูกพันที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศได้ตามจำนวนของภาระผูกพันดังกล่าว และขยายขอบเขตการลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทในเครือเดียวกันที่ต่างประเทศในลักษณะที่เป็นการให้สวัสดิการแก่พนักงาน ให้รวมถึงใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้น โดยให้ทำได้ในวงเงินไม่เกิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อรายต่อปี เท่าปัจจุบัน
ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าว ยังให้อำนาจธปท. พิจารณาออกมาตรการดูแลเงินทุนไหลเข้า เช่น การเปิดเผยตัวตนของนักลงทุน การกำหนดระยะเวลาการถือครองตราสารหนี้ และการกำหนดให้ต้องทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงมาตรการที่มีความเหมาะสมอื่น ๆ ในอนาคต เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและเป็นเครื่องมือให้กับ ธปท. ดูแลเงินทุนไหลเข้าอย่างเหมาะสม
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ ธปท. จะนำมาตรการใดออกมาใช้นั้น จะต้องได้รับความเห็นชอบจาก รมว.คลังก่อน เพื่อความรอบคอบและสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งหลังจากที่กระทรวงการคลังได้ออกประกาศดังกล่าวแล้ว ธปท.ในฐานะเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินจะได้พิจารณาผ่อนคลายหลักเกณฑ์อื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศอื่น ๆ ได้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกัน ธปท. ได้รายงาน ดุลเงินทุนเคลื่อนย้าย ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา มีเงินทุนไหลเข้าสุทธิ 4,166 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.25 แสนล้านบาท หากคิดอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบันเฉลี่ยที่ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ โดยเฉพาะตราสารหนี้ภาครัฐของนักลงทุนต่างประเทศ และการเข้ามาลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) รวมถึงมีการกู้ยืมเงินระยะสั้นจากต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์ เพื่อบริหารสภาพคล่องในธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ
ภาคเอกชนก็หวังว่า การให้ ธปท.มีอำนาจในการออกมาตรการเพื่อดูแลเงินทุนเคลื่อนย้าย จะช่วยทำให้เงินบาทอ่อนค่าและมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกในปีนี้เป็นไปตามเป้าหมายใหม่ของกระทรวงพาณิชย์ที่เติบโตได้ 7-7.5%
ข่าวเด่น