โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ที่ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตามนโยบายหาเสียงของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เริ่มส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในสายตาของสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศแล้ว โดย "มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส"ได้ออกรายงาน "แนวโน้มสินเชื่อของมูดี้ส์" ฉบับวันที่ 3 มิถุนายน 2556 ระบุว่า ความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวในปีการผลิต 2554-2555 และในอนาคต จากการเดินหน้าโครงการดังกล่าว จะทำให้รัฐบาลบรรลุเป้าหมายงบประมาณสมดุลภายในปี 2560 ได้ยากขึ้น และเป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตของไทย ซึ่งในปัจจุบันอยู่ที่ Baa1 โดยแนวโน้มมีเสถียรภาพ
ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มอบหมายให้กระทรวงการคลังไปศึกษาและวิเคราะห์รายงานของมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ที่จะปรับลดอันดับเครดิตของไทย เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงต่อประชาชน หรือส่งข้อเท็จจริงให้กับทางมูดี้ส์ฯ ซึ่งขณะนี้ตนเองยังไม่ได้รับรายงานอย่างเป็นทางการ เพราะอยู่ระหว่างที่หน่วยงานเจ้าของเรื่องตรวจสอบข้อมูล
ด้าน นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการจัดทำบัญชีหมุนเวียนและกรอบวงเงินสินเชื่อที่เหมาะสมการดำเนินโครงการรับเงินจำนำข้าวเปลือกตามนโยบายรัฐบาล กล่าวว่า การขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าวนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้เห็นรายละเอียด แต่ส่วนตัวเชื่อว่า ตัวเลขการขาดทุนดังกล่าวไม่น่าจะสูงถึง 2.6 แสนล้านบาท เพราะโครงการรับจำนำปีการผลิต 2554/2555 และปี 2555/2556 ใช้วงเงินการรับจำนำเฉลี่ยปีละ 3 แสนล้านบาท เท่านั้น
ขณะที่ นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า หากมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยลงจริง ก็คงมีผลต่อค่าเงินบาทของไทย รวมทั้งทำให้ต้นทุนระดมทุนของภาคเอกชนแพงขึ้น เนื่องจากไทยมีความเสี่ยงทางเครดิตเพิ่มขึ้น
ส่วนเสียงสะท้อนของภาคเอกชน นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย ก็ยอมรับว่า การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศจะมีผลต่อต้นทุนการกู้ยืมเงินของประเทศและจะทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้สูงขึ้น เพราะมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นและยังรวมถึงการกู้ยืมเงินของภาคเอกชนด้วย นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นการลงทุนในไทย เนื่องจากนักลงทุนจะใช้อันดับความน่าเชื่อถือเป็นตัวชี้วัดในการเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งในบริษัทเอกชนก็มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือและถ้าบริษัทใดได้ระดับเครดิต A ก็จะทำให้การขอสินเชื่อได้ดอกเบี้ยต่ำกว่าระดับ B
ด้าน นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศอาจมีผลต่อการทำธุรกรรมทางการเงิน เพราะความเชื่อมั่นที่ดีกว่าจะทำให้ได้ดอกเบี้ยที่ถูกกว่า แต่ต้องรอดูการประกาศอย่างเป็นทางการว่า ใช้เหตุผลอะไรในการปรับเปลี่ยนอันดับเครดิต
ข่าวเด่น