ไอที
"พาสเวิร์ด" โฉมใหม่ ใช้ "รอยสัก-ยาเม็ดไฮเทค-รอยยิ้ม"


ที่ผ่านมากล่าวได้ว่า มีการพัฒนาเทคนิคเพื่อพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลมาหลากหลายวิธี นับจากการใช้รหัสผ่านหรือพาสเวิร์ด วิธีสแกนลายนิ้วมือ เทคโนโลยี RFID การสแกนใบหน้า สแกนม่านตาและก้าวหน้าถึงขั้นสแกนเส้นเลือดในฝ่ามือหรือจดจำเสียง

เทคนิคเหล่านี้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในหลายด้าน รวมถึงนำมาใช้เพื่อล็อกอินหรือเข้ารหัสใช้งานอุปกรณ์อย่างคอมพิวเตอร์หรือโน๊ตบุ้คหรือสมาร์ทโฟนด้วยเช่นกัน โดยที่นำมาใช้กันแพร่หลายอยู่แล้วเป็นพาสเวิร์ด และที่เริ่มนำมาใช้บ้างแล้วเป็นการสแกนลายนิ้วมือ เทคโนโลยีจดจำเสียง แต่ในอนาคตอันใกล้อาจมีวิธีแปลกใหม่เพิ่มมาอีกชนิดที่หลายคนคิดไม่ถึง นั่นคือ การใช้ “รอยสักอิเล็กทรอนิกส์” ที่ใช้แปะผิวหนัง และ “ยาเม็ดไฮเทค” ที่ต้องกลืนเข้าไปเพื่อส่งสัญญาณไปยังอุปกรณ์ภายนอกร่างกาย

 

 

 
ทั้งนี้ วิธีพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล (Identification) ต่าง ๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้นมา ต่างมีข้อดีข้อด้อยแตกต่างกันไป เช่น การใช้พาสเวิร์ด อาจมีปัญหาหลงลืมหรือถูกผู้อื่นนำไปใช้ ส่วนการสแกนลายนิ้วมือเป็นระบบที่ได้รับความนิยมนำไปใช้สูงในอุตสาหกรรมต่างๆ เพราะสะดวกและมีความแม่นยำสูง แต่ยังคงมีวิธีปลอมแปลงได้อีก สำหรับระบบจดจำเสียงเริ่มนำมาใช้บ้างแล้ว แต่ยังไม่แพร่หลายนัก
 
บริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งได้นำเทคนิคสแกนลายนิ้วมือมาใช้เป็นทางเลือกอีกอย่างในการระบุตัวตนของเจ้าของอุปกรณ์  เช่น ค่ายโซนี่ เอเซอร์ และเอชพี ที่นำไปใช้ในโน๊ตบุ้ครุ่น  VAIO Notebook VPC-SA25GH/T (Brown)  , Notebook Acer Aspire 4540 และ  HP Compaq nc6400 Notebook PC  ตามลำดับ

 
 
ส่วนอุปกรณ์พร้อมเซนเซอร์ลายนิ้วมือที่คาดว่าจะได้เห็นกันในอนาคตอันใกล้นี้ ได้แก่ iPhone รุ่นใหม่ ซึ่งก่อนหน้านี้นักวิเคราะห์ของ KGI Securities ได้ออกมาคาดการณ์ว่า  iPhone รุ่นใหม่ อาจจะมาพร้อมเซนเซอร์สแกนล้ายนิ้วมือ หลังจากได้ข้อมูลจากทางบริษัทซัพพลายเออร์ของแอปเปิล ในประเทศญี่ปุ่น และไต้หวันกว่า 10 บริษัทว่า สาเหตุที่ทำให้แอปเปิลต้องเลื่อนวันเปิดตัว iPhone 5S ออกไป เนื่องจากพยายามหาสารเคลือบตัวเครื่องที่จะไม่รบกวนการทำงานของระบบเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือของเครื่อง
 

 
 
 
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตอาจมีระบบใหม่ๆมาใช้เพิ่มอีก เมื่อบริษัทโมโตโรลาประกาศในที่ประชุม the 11th All Things D conference (D11) ที่จัดขึ้นโดยหนังสือพิมพ์รายวัน the Wall Street Journal ในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐว่า เวลานี้กำลังให้ความสนใจหรือมองหาทางเลือกใหม่ๆ เพื่อ log in หรือเข้าใช้อุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้มีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น โดยวิธีหนึ่งที่จะนำมาใช้ คือ การใช้แทตทู หรือ “รอยสักอิเล็กทรอนิกส์” สำหรับใช้ติดบนผิวหนัง
 
 
แทตทูดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า "Biostamps" ออกแบบและพัฒนาโดยบริษัทวิศวกรรม MC10 ในรัฐแมสซาชูเสตส์ ทำจากซิลิกอนและบรรจุแผงวงจรไฟฟ้าอยู่ภายใน สามารถโค้งงอและยืดหยุ่นได้ตามการเคลื่อนไหวของร่างกาย  เดิมมันถูกออกแบบเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ โดยใช้แปะเพื่อติดตามสุขภาพของผู้ป่วย แต่โมโตโรลาเชื่อว่า เทคโนโลยีนี้จะสามารถนำมาใช้แสดงเอกลักษณ์บุคคลได้หรือใช้แทนพาสเวิร์ดแบบเก่า ๆ นั่นเอง  ซึ่งยามใช้งานเพียงนำสมาร์ทโฟนมาอยู่ใกล้รอยสักเท่านั้น  โดยในงานนี้ นายเรจินา ดูแกน รองประธานบริษัทอาวุโสฝ่ายวิจัยเทคโนโลยีก้าวหน้าของโมโตโรลาได้นำแทตทู มาติดที่ท่อนแขนโชว์ด้วย
 
 
 
 
ส่วนอีกวิธีหนึ่งที่อาจดูไฮเทคมากกว่า คือ อยู่ในรูปของ “ยาเม็ด” เพื่อให้กลืนลงไป จากนั้นเม็ดยาจะส่งสัญญาณไปยังอุปกรณ์ภายนอกร่างกาย โดยยาเม็ดพาสเวิร์ดนี้มีชื่อว่า “Proteus Digital Health” ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้แบตเตอรีด้วย เพราะถูกออกแบบให้ใช้พลังงานจากกรดในกระเพาะอาหารแทน เป็นอุปกรณ์ไฮเทคที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐแล้ว (U.S. Food and Drug Administration -FDA) และได้รับอนุญาตจากคณะผู้กำกับดูแลกฎระเบียบของยุโรปในปี 2010
 
 
 
แต่ผู้บริหารของโมโตโรลา บอกว่า ยาเม็ดพาสเวิร์ดนี้ยังอยู่ในขั้นทดลองเท่านั้น ยังต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะสามารถนำมาใช้ได้จริง ใครที่อยากลองใช้ของใหม่คงต้องรอไปก่อน
 
 
 
 
นอกจากนี้ ยังมีระบบพาสเวิร์ดใหม่ที่น่าสนุกยิ่งขึ้นไปอีก นั่นคือ การแสดงออกบนใบหน้าเพื่อเข้าใช้สมาร์ทโฟน ซึ่ง ค่ายกูเกิลเพิ่งยื่นจดสิทธิบัตรใหม่เพิ่มอีกอย่าง หากผ่านการอนุมัติต่อไปเราอาจสามารถปลดล็อกใช้สมาร์ทโฟนง่าย ๆ ด้วยการ กระพริบตาถี่ ๆ ขมวดคิ้ว ทำจมูกย่นหรือจะยิ้มหวาน ๆ เท่านั้น ส่วนสิทธิบัตรกูเกิลที่เพิ่งจดไปก่อนหน้านี้เป็นระบบพาสเวิร์ดจดจำใบหน้าที่ใช้ภาพถ่ายแทนใบหน้าจริง
 

LastUpdate 09/06/2556 20:28:10 โดย : Admin
19-04-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2025, 6:30 pm