หุ้นทอง
มาตรการ QE ปัจจัยหลัก กดดันตลาดหุ้นผันผวน


 

 

 

ตลาดหุ้นในช่วงที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่ามีความผันผวนสูงมาก แม้จะมีบางวันที่ตลาดหุ้นปรับเพิ่มขึ้นได้บ้าง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการปรับลดลงมากกว่า โดยเฉพาะการขายสุทธิของนักลงทุนต่างประเทศ

ซึ่งฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุว่า เป็นการปรับพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนสถาบัน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ  เนื่องจากมีความกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) อาจชะลอซื้อพันธบัตรในไม่ช้านี้ หลังจากที่นักวิเคราะห์ออกมามองว่า เฟดน่าจะเริ่มชะลอการซื้อพันธบัตรตั้งแต่เดือน ก.ย.นี้ เป็นต้นไป ทำให้นักลงทุนต่างชาติเทขายเพื่อปรับพอร์ตการลงทุน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 5 มิ.ย. นักลงทุนต่างชาติเทขายสุทธิ 33,712.60 ล้านบาท

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นไทยยังเจอแรงกดดันจากเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว จากการให้ข้อมูลของภาครัฐที่ออกมาไปในทิศทางที่อ่อนแอลง อีกทั้งทางสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ก็เล็งว่าจะลดเครดิตไทยอีก ดังนั้นตลาดบ้านเราจึงเจอปัจจัยกดดันทั้งในประเทศและนอกประเทศ

ด้าน นายจรัมพร โชติกเสถียร  กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยถึงดัชนีหุ้นไทยที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องว่า  เป็นความเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับตลาดภูมิภาค ซึ่งมีสาเหตุมาจากปัจจัยต่างประเทศที่มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนเป็นหลัก หลังมองว่าทางการสหรัฐจะลดมาตรการ QE น้อยลง ขณะที่ปัจจัยในประเทศไม่มีผลเกี่ยวข้อง อีกทั้งมองว่าบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ยังมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง

การเคลื่อนไหวดัชนีหุ้นไทย ระหว่างวันที่ 29 พ.ค.- 7 มิ.ย. 2556

วันที่ 29 พ.ค.  ลดลง 17.96 จุด

วันที่ 30 พ.ค.  ลดลง 20.29 จุด

วันที่ 31 พ.ค.  ลดลง 19.25 จุด

วันที่ 3 มิ.ย.  ลดลง  22.81 จุด

วันที่ 4 มิ.ย. ปรับขึ้น 16.35 จุด

วันที่ 5 มิ.ย. ลดลง 32.95 จุด

วันที่ 6 มิ.ย. ลดลง 32.45 จุด

วันที่ 7มิ.ย.ปรับขึ้น 26.03 จุด

 

 

สำหรับกระแสข่าวการยกเลิกมาตรการ QE ของสหรัฐฯ มีขึ้นหลังการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ในช่วงปลายเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา โดย นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟด ได้กล่าวในระหว่างการแถลงต่อคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจร่วมของสภาคองเกรสเมื่อช่วงปลายเดือนที่แล้วว่า การลดขนาดโครงการซื้อสินทรัพย์  ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการผ่อนคลายการเงินเชิงปริมาณ หรือ QE นั้น อาจจะมีขึ้นในการประชุมครั้งใดครั้งหนึ่งในอีกไม่กี่ครั้งข้างหน้า ซึ่งก็จะขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจด้านต่างๆ เช่น การใช้จ่ายของผู้บริโภค และตัวเลขจ้างงาน-ว่างงานของสหรัฐ  

ขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟดต่างก็ออกมาแสดงความคิดเห็น ทั้งในทำนองสนับสนุนและไม่สนับสนุนให้เฟดดำเนินมาตรการ QE ต่อ ส่งผลให้ตลาดหุ้นเคลื่อนไหวผันผวนมากในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา   

ทั้งนี้ การประกาศใช้มาตรการ QE ของประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วงที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าทำให้ตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียปรับเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง และยังส่งผลต่อค่าเงินที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างมาก  ดังนั้นการยกเลิกหรือชะลอการใช้มาตรการ QE  ก็จะทำให้เกิดการไหลออกของเงินทุน  ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ นักลงทุนจึงควรต้องมีการตั้งรับกับความผันผวนที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า

 

 


LastUpdate 10/06/2556 17:00:47 โดย : Admin
22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 6:36 pm