บทความของผมในวันนี้จะเป็นการชี้แจงข้อเท็จจริง ขั้นตอนการดำเนินการ และสิ่งที่ท่านผู้อ่านที่อาจพบปัญหาดังกล่าว โดยผมได้เอาเนื้อหามาจากสิ่งที่มีการสอบถามผ่านสื่อว่า เมื่อตนเองมีหนี้ที่ค้างชำระกับสถาบันการเงิน ต่อมาสถาบันการเงินได้โอนขายหนี้ที่ค้างชำระหนี้รายการนี้ออกไปให้กับบริษัทติดตามหนี้ หรือบริษัทบริหารสินทรัพย์ บริษัทที่รับซื้อหนี้ไปจากสถาบันการเงินก็จะจ่ายเงินค่าซื้อหนี้รายการนั้นโดยอาจจะซื้อหนี้แบบมีส่วนลดก็ได้ เช่น มูลหนี้ตามสิทธิตามบัญชีเท่ากับ 100บาทเขาอาจซื้อในราคา 50-60 บาท จะมากจะน้อยขึ้นอยู่กับว่าเขาจะไปตามหนี้ที่ซื้อมานั้นได้ยากหรือง่าย ตามตัวอย่าง ถ้าเขาไปตามหนี้นั้นมาได้ 70 บาท จากลูกหนี้ที่ไม่ยอมชำระกับสถาบันการเงิน บริษัทติดตามหนี้ หรือบริษัทบริหารสินทรัพย์ก็จะมีกำไร 10 บาท
ตัวลูกหนี้เองเมื่อได้ชำระหนี้กับบริษัทติดตามหนี้ หรือบริษัทบริหารสินทรัพย์แล้วก็จะถือว่า เข้าใจว่าตนเองไม่ได้เป็นหนี้เป็นสินกับสถาบันการเงินที่ตนเองค้างชำระไม่ยอมจ่าย และตนเองก็ไม่มีหนี้กับบริษัทที่รับซื้อหนี้มาอีกต่อไป เวลานี้อาจอยากจะไปทำธุรกิจธุรกรรมกับใครต่อใครก็ย่อมทำได้ไม่มีข้อห้าม แต่คนที่เราอยากจะไปทำธุรกิจธุรกรรมด้วยนั้น เขาอยากจะทำด้วยหรือไม่ก็เป็นสิทธิของเขานะครับจะไปบังคับเขาให้ทำตามแต่ใจเราอยากได้ อยากให้เป็นไม่ได้นะครับ
ลองมาดูคำถามจากคนที่เขาไปชำระหนี้ที่บริษัทติดตามหนี้สินเพราะเขาถูกทวงถาม เขาถูกเสนอให้ชำระหนี้ที่อาจน้อยกว่าที่ตนเองค้างชำระไว้กับสถาบันการเงินก็ได้ เรื่องมีดังนี้
...เมื่อผมได้รับแจ้งว่าหนี้ของผมที่มีการค้างชำระกับ Non Bank แห่งหนึ่งนั้นได้ถูกขายถูกโอนมายังบริษัทติดตามหนี้ชื่อ... (ขออนุญาตไม่ระบุนาม)... ต่อมาผมได้เจรจาจนตกลงชำระหนี้ให้ครบถ้วน เสร็จสมบูรณ์ซึ่งยอดหนี้ที่ชำระนั้นต่ำกว่าหนี้ที่ผมเคยมีอยู่กับสถาบันการเงิน ประกอบกับผมสามารถระดมเงินมาจ่ายได้ ผมจึงตัดสินใจชำระหนี้ตามยอดที่ตกลงกันและได้โอนเงินไปให้ พร้อมเก็บใบนำฝาก-Pay in ไว้เป็นหลักฐานเรียบร้อย ผมสบายใจมากขึ้นและตั้งใจจะไปขอสินเชื่อกับธนาคารแห่งหนึ่งเพื่อมาทำทุนดำเนินธุรกิจต่อไป จากวันที่ผมโอนเงินผมรอ 45 วันจึงได้รับหนังสือยืนยันการชำระหนี้และปิดบัญชีกับบริษัทติดตามหนี้ (หนังสือไม่ได้บอกว่าผมปิดบัญชีกับ Non Bank นะครับอันนี้ผู้เขียนขอแจ้ง)
หลังจากนั้นผมได้สอบถาม Non Bank ปรากฏว่า ผมยังมีประวัติว่าเคยเป็นหนี้ Non Bank อยู่ มาตรวจสอบประวัติเครดิตบูโร ในรายงานแสดงสถานะ 42 โอนหรือขายหนี้ให้กับนิติบุคคลหรือบริษัทบริหารสินทรัพย์ แต่มียอดหนี้คงค้างเท่ากับ 0 บาท เมื่อติดต่อไปที่บริษัทติดตามหนี้ ก็ได้คำแนะนำว่าให้ผมนำใบปิดบัญชีที่บริษัทตามหนี้ออกให้ มาดำเนินการที่เครดิตบูโร แต่เมื่อไปติดต่อยื่นเรื่องกับเครดิตบูโรแล้วทำไมไม่แก้ข้อมูลที่ผมมีกับ Non Bank ว่าปิดบัญชี ทำไมทำไม่ได้ครับ
เครดิตบูโรขอเรียนตอบอย่างนี้นะครับ
1. Non Bank ขายหนี้ออกไปและได้รับชำระค่าซื้อหนี้จากบริษัทติดตามหนี้แล้ว ยอดหนี้จึงเป็นศูนย์ ตามหนี้กับลูกหนี้ที่ค้างชำระไม่ได้แล้วเพราะสิทธิเรียกร้องได้โอนไปยังบริษัทติดตามหนี้แล้ว ที่เขาระบุในบัญชีนั้นว่าโอนหนี้
2. ตัวลูกหนี้ไปจ่ายหนี้กับคนที่ซื้อหนี้มา ดังนั้นก็ปิดบัญชีกับเจ้าหนี้คนปัจจุบัน ได้เอกสารมาว่ายืนยันการชำระหนี้แต่ตัวลูกหนี้ต้องดูเอกสารดีๆนะครับว่าเอกสารนั้นต้องระบุว่ารับรองการชำระหนี้ ไม่มีหนี้ต่อกัน ที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่าใบรับรองปิดบัญชี ที่เข้าใจผิดคิดว่าเอาเอกสารข้อเสนอให้ชำระหนี้กับใบนำฝากหรือ Pay in มาประกอบกันไม่ได้นะครับ
3. เนื่องจากบริษัทติดตามหนี้ไม่ได้เป็นสมาชิกเครดิตบูโร เขาจึงส่งเอกสารข้อมูลมาให้ไม่ได้ เพราะเขาไม่มีหน้าที่ เขาได้แต่แนะนำ และเขาควรจะแจ้งจะแนะนำตั้งแต่ตอนต้น เพื่อป้องกันการเข้าใจผิด
4. ตัวลูกหนี้เอาเอกสารใบรับรองการปิดบัญชีมาที่เครดิตบูโร เครดิตบูโรจะบันทึกข้อมูลไว้เหนือบัญชีของ Non Bank ว่าหนี้ตามบัญชีนี้ได้ถูกขายออกไปให้กับบริษัทติดตามหนี้ ต่อมาลูกหนี้ได้ชำระหนี้ มีการรับรองว่าไม่มีหนี้ต่อกันแล้ว ตามความจริง
5. เวลาจะไปขอเงินกู้ที่ใหม่ก็แล้วแต่ เขาว่าจะพิจารณาพร้อมเรื่องอื่นๆ เช่น รายได้ อาชีพ ความมั่นคง ภาระต่างๆ หลักประกันรวมมาถึงประวัติการชำระหนี้ เขาก็จะเห็นข้อมูลทั้งหมดตามข้อ 4 ครับ
เล่ามาถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านคงจะมองออกนะครับว่า เครดิตบูโรให้ข้อมูลตามจริง การวิเคราะห์ว่าจะให้หรือไม่ให้ เครดิตบูโรไม่ได้ร่วมพิจารณา ไม่มีอำนาจไปยุ่งเกี่ยวครับ เป็นเรื่องคนที่ขอกู้กับคนที่ให้กู้โดยแท้จริงครับ
สุรพล โอภาสเสถียร
ผู้จัดการใหญ่
บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด
ข่าวเด่น