สุขภาพ
เข้าห้องน้ำสาธารณะระวัง HPV


 

 

ในขณะนี้เชื้อไวรัสเอชพีวี(HPV) กำลังได้รับความสนใจจากคนส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นหลังจาก “ไมเคิล ดักลาส” นักแสดงชื่อดังชาวอเมริกันให้สัมภาษณ์ถึงสาเหตุของการเป็นมะเร็งที่ลำคอว่า ไม่ได้เป็นเพราะสูบจัดหรือดื่มหนัก แต่เกิดจากเชื้อHPV  ที่สามารถเกิดขึ้นได้จากการมีเพศสัมพันธ์ พฤติกรรมทางเพศแบบออรัลเซ็กซ์ อย่างไรก็ดีเวลานี้มีรายงานที่น่าตกใจเพิ่มมาอีกว่า เราอาจติดเชื้อชนิดได้จากห้องน้ำสาธารณะ เช่น ผับ ห้างและโรงเรียนกวดวิชา จึงควรป้องกันตัวเองด้วยการล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้งเพื่อลดความเสี่ยง

ทั้งนี้HPV (Human Papilloma Virus)เป็นกลุ่มของไวรัส ที่ทำให้เกิดหูด หรือตุ่มเล็กๆ ในทุกส่วนของร่างกายเช่น ปาก ผิวหนัง อวัยวะเพศ และทวารหนัก และไวรัส HPV บางชนิด อาจทำให้เกิดตุ่มบริเวณลำตัว ในขณะที่ HPV บางชนิดมักทำให้เกิดตุ่มบริเวณอวัยวะเพศ และทวารหนัก เชื้อนี้สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้จากการมีเพศสัมพันธ์ การสัมผัสผิวหนัง หรือใช้ของใช้เช่นผ้าเช็ดตัวร่วมกัน

การติดเชื้อไวรัส HPV แบบเรื้อรังเป็นสาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิง สำหรับผู้ชายการติดเชื้อทำให้มีความเสี่ยงเกิดมะเร็งอวัยวะเพศ มะเร็งทวารหนักหรือแม้แต่มะเร็งในลำคอ โดยเฉพาะหากมีพฤติกรรมเสี่ยง  เช่น การมีเพศสัมพันธ์ในแบบออรัลเซ็กซ์กับฝ่ายหญิงที่มีเชื้อHPV บริเวณปากมดลูก ในขณะที่ช่องปากของฝ่ายชายไม่สะอาด มีแผล การเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ เป็นต้น

ไวรัส HPV จึงเป็นเชื้อร้ายที่น่ากลัวอีกอย่างหนึ่งและเมื่อเร็ว ๆ นี้ยังมีรายงานการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า เราอาจติดเชื้อไวรัสนี้ได้จากห้องน้ำสาธารณะ โดยศ.ดร.วสันต์ จันทรานิตย์ หัวหน้าหน่วยไวรัสวิทยา ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีและหัวหน้าหน่วยไวรัสวิทยา ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยระหว่างแถลง“เผยผลการตรวจพบไวรัสเอชพีวีในสถานที่สาธารณะ” ที่ จัดโดยราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และหน่วยไวรัสวิทยา รพ.รามาฯ ณ โรงแรมโนโวเทล เพลินจิตว่า หลังจากมีการศึกษาวิจัยในต่างประเทศ พบว่า HPV สามารถติดต่อทางการสัมผัสได้ จึงเกิดคำถามว่าเราสามารถติดเชื้อเอชพีวีจากการสัมผัสโดยตรงจากสิ่งแวดล้อมได้หรือไม่ จากนั้นทางราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ และหน่วยไวรัสวิทยา รพ.รามาฯ จึงร่วมกันเก็บตัวอย่างจากสิ่งแวดล้อม โดยใช้สำลีปราศจากเชื้อชุบน้ำยาตรวจหาไวรัสเอชพีวี เช็ดถูบริเวณต่างๆ เช่น ราวบันไดเลื่อน ปุ่มกดลิฟต์ ลูกบิดประตูห้องน้ำ ก๊อกน้ำที่อ่างล้างมือ ก้านกดชักโครก ที่รองนั่งโถส้วม เป็นต้น จำนวน 100 ตัวอย่างจากสถานที่ต่างๆ คือ ห้างสรรพสินค้า 4 แห่ง โรงเรียนกวดวิชา 3 แห่ง สนามเด็กเล่น 2 แห่ง โรงพยาบาล 2 แห่ง สถานีบริการน้ำมัน 2 แห่ง สถานบันเทิง (ผับ) 3 แห่ง รถไฟฟ้า 3 ขบวน และรถประจำทาง 2 คัน

 

 

 

จากการตรวจสิ่งส่งตรวจ 100 ตัวอย่างด้วยชุดตรวจทางอณูชีววิทยาความไวสูง พบว่า พบเชื้อ HPV จำนวน4 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 4% เป็นสายพันธุ์ 6, 11, 16, 18 และอื่นๆ โดยพบเชื้อที่ก้านกดชักโครกห้องน้ำหญิงในโรงเรียนกวดวิชาแห่งหนึ่งจากจำนวน 3 แห่งที่จัดเก็บตัวอย่าง ก๊อกน้ำที่อ่างล้างมือห้องน้ำชายในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งจากจำนวน 4 แห่งที่จัดเก็บ ที่รองนั่งโถส้วมในห้องน้ำหญิงจากผับแห่งที่ 1 และที่รองนั่งโถส้วมในห้องน้ำชายจากผับแห่งที่ 2 จากจำนวน 3 แห่งที่จัดเก็บ

ที่น่าสนใจคือ สถานที่ที่พบเชื้อ HPV จะเป็นสถานที่เย็น ชื้น ไม่มีแสงแดดส่องเข้าถึง โดยตรวจพบบริเวณห้องน้ำทั้งหมด และพบในสถานบันเทิงมากกว่าแห่งอื่นๆ ซึ่งสอดคล้องกับกลุ่มคนที่เข้าไปในสถานบันเทิงที่เป็นกลุ่มวัยรุ่นและผู้ใหญ่ตอนต้น ซึ่งอยู่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์เป็นกลุ่มที่มีการติดต่อและแพร่เชื้อสูงสุด

คุณหมอได้อธิบายว่า สาเหตุที่พบเจอเชื้อ HPV ในห้องน้ำสาธารณะ เนื่องจากเวลาปัสสาวะแล้วมีการจับอวัยวะเพศของตนเอง ทำให้เชื้อที่มีอยู่ติดมือ เมื่อมาจับสิ่งของต่างๆ ต่อ จึงทำให้ในห้องน้ำมีเชื้อดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องกังวลว่าการนั่งบนส้วมที่มีเชื้อ HPV จะทำให้ติดเชื้อแล้วเป็นมะเร็งปากมดลูก เพราะเชื้อไม่สามารถเข้าถึงช่องคลอดได้ แต่กลัวเป็นหูดมากกว่าเพราะเป็นภายนอก

แต่ไม่ควรจะตื่นตระหนกกันมากเกินไปว่าเข้าห้องน้ำสาธารณะแล้วจะติดเชื้อ HPV เพราะเราสามารถป้องกันได้ ด้วยการล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังการเข้าห้องน้ำทุกครั้ง เพื่อลดปริมาณเชื้อโรคที่อาจจะติดมาแบบไม่รู้ตัว

เพื่อป้องกันความเสี่ยงอาจใช้วิธีฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสกลุ่มนี้ได้ ซึ่งปัจจุบันมีวัคซีนสำหรับป้องกันไวรัส HPV เพื่อช่วยป้องกันสายพันธ์เสี่ยงสูงที่เป็นสาเหตุของมะเร็งได้  โดยที่มีใช้ในประเทศไทยมี 2 ชนิด คือ วัคซีน 4 สายพันธุ์ (Quadrivalent vaccine) สามารถป้องกันเชื้อ HPV สายพันธุ์ 6, 11, 16, 18  สายพันธุ์ 16, 18 เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งส่วนสายพันธุ์ 6, 11 อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงต่ำ แต่เป็นสาเหตุสำคัญในการเกิดโรคหูดหงอนไก่ ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธุ์ที่พบได้บ่อย อีกชนิดเป็นวัคซีน 2 สายพันธุ์ (Bivalent vaccine) สามารถป้องกันเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16, 18

 

วัคซีนทั้ง 2 ชนิดฉีดได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย โดยสามารถเริ่มได้ตั้งแต่เด็กวัย 11-12 ปี ดังที่ออสเตรเลียได้ดำเนินการแล้ว ส่วนการฉีดนั้นแพทย์จะฉีดเข้ากล้ามเนื้อทั้งหมด 3 ครั้ง ครั้งที่สองและสาม ห่างจากเข็มแรก 1 – 2 เดือน และ 6 เดือน ตามลำดับ ซึ่งทั้ง 2 ชนิด สามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันต่อ HPV 16, 18 ได้ 90 - 100% สามารถป้องกันการติดเชื้อรวมทั้งป้องกันรอยโรคระยะก่อนเป็นมะเร็งของทั้งช่องคลอดและปากมดลูกได้ นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันโรคจากสายพันธุ์อื่นที่มีสารพันธุกรรมที่คล้ายกันอีกด้วย

จากการคำนวณทางสถิติคาดว่าภูมิคุ้มกันน่าจะอยู่ได้อย่างน้อย 20 - 30 ปี ไม่แน่ในอนาคตคอาจจะมีการพัฒนาวัคซีนที่ครอบคลุมสายพันธุ์ต่าง ๆได้กว้างขึ้นก็เป็นได้

 


LastUpdate 12/06/2556 13:51:59 โดย : Admin
22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 4:54 pm