เหลือเพียงอีก 2 ปี ประเทศไทยก็จะก้าวเข้าสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ส่งผลให้หลายธุรกิจเร่งเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการแข่งขันที่จะรุนแรงมากขึ้น ซึ่ง "ธุรกิจนม" ถือเป็นอีกหนึ่งตลาดที่คาดว่าจะมีการแข่งขันที่รุนแรงหลังจากเปิดเออีซี โดยเฉพาะการแข่งขันในประเทศไทย เนื่องจากตลาดนมในประเทศไทยเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน
ปัจจุบันตลาดรวมผลิตภัณฑ์นมในภูมิภาคเอเซียนมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นปริมาณนมที่ 10,000 ล้านลิตร โดยในปีที่ผ่านมามีการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 4.6% และในปีนี้คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตในระดับเดียวกัน เนื่องจากแต่ละประเทศมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์นม และขยายการทำตลาดอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ตลาดผลิตภัณฑ์นมรวมของประเทศไทปัจจุบันมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 50,000 ล้านบาท โดยในแต่ละปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตที่ดีต่อเนื่อง เช่นเดียวกับปีนี้ที่คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 8-9% จากมูลค่าของตลาดรวมผลิตภัณฑ์นมของประเทศไทยที่มีมูลค่าสูง ส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็นตลาดผลิตภัณฑ์นมที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน
เมื่อไทยกลายเป็นประเทศที่มีตลาดผลิตภัณฑ์นมที่ใหญ่ที่สุด ทำให้หลายประเทศในอาเซียนเริ่มเห็นโอกาสในการเข้ามาทำตลาดผลิตภัณฑ์นมในประเทศไทย ซึ่งประเทศคู่แข่งที่น่าจับตามองมากที่สุด คือ เวียดนาม เพราะขณะนี้ประเทศเวียดนามเริ่มมีการพัฒนาคุณภาพนมให้ได้มาตรฐาน
นายวรเทพ รางชัยกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดัชมิลล์ จำกัด ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์นมรายใหญ่ กล่าวว่า จากการแข่งขันที่กำลังจะเพิ่มขึ้น ประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องเตรียมความพร้อมในการก้าวสู่เออีซี เพื่อรักษาการเป็นประเทศผู้ผลิตผลิตนมที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งสิ่งที่ผู้ผลิตนมของไทยต้องทำนับจากนี้ คือ การพัฒนาคุณภาพน้ำนมให้ได้มาตรฐาน เพื่อให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในต่างประเทศได้ เพราะหลังจากเปิดเออีซีแล้วหลายประเทศเตรียมมุ่งหน้าเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย
ทั้งนี้ หากประเทศไทยยังไม่มีการพัฒนาโครงสร้างการผลิตและการจัดการนมอย่างจริงจัง ทั้งในส่วนของระบบ GAP และ GMP ควบคู่กันไป อาจทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งที่กำลังจะเพิ่มขึ้นได้ เพราะตอนนี้คู่แข่งจากประเทศเพื่อนบ้านมีการพัฒนาคุณภาพนมได้มาตรฐานรวดเร็วมาก
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดน้ำนมไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดเออีซี คือ การพัฒนาเกษตรกรไทยให้มีความรอบรู้จริงตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพัฒนาฟาร์มโคนมให้มีคุณภาพ การพัฒนาสายพันธุ์วัว และการเพิ่มปริมาณน้ำนมดิบคุณภาพต่อวัน รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิต ระบบการจัดส่งที่ได้คุณภาพจากศูนย์รับน้ำนมดิบมายังแหล่งผลิต
นอกจากนี้ ควรมีการบริหารต้นทุนการผลิตที่เหมาะสม ซึ่งในส่วนของภาครัฐเองควรเข้ามาช่วยสนับสนุนในเรื่องนี้ เพราะถือเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะการสนับสนุนในด้านการเงินและการวางยุทธศาสตร์ให้เกษตรกร รวมไปถึงการพัฒนาโครงสร้างสหกรณ์แบบใหม่ การพัฒนาระบบอาหารแก่วัว และการผลัดเปลี่ยนวัวเมื่อถึงวัยอันควร เพื่อให้ได้ปริมาณการผลิตน้ำนมต่อวันมากขึ้น
นายวรเทพ กล่าวต่อว่า ในส่วนของดัชมิลล์ ได้ดึงเอาเกษตรกรที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพน้ำนมโคดิบเข้ามาเป็นคอนแทร็คท์ฟาร์มมิ่งจำนวนทั้งสิ้น 3,587 ฟาร์ม มีศูนย์รับน้ำนมดิบ 18 แห่ง จัดตั้งเป็นสหกรณ์ เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่แก่ฟาร์ม พร้อมส่งนักวิชาการมาดูแลและให้คำแนะนำแก่เกษตรกรอย่างจริงจัง ส่งเสริมพัฒนาให้ได้น้ำนมคุณภาพ ปัจจุบันเรามีสมาชิกสหกรณ์ที่ร่วมกันพัฒนามาตรฐาน GAP อยู่ที่ 40% ใน 10 ศูนย์ ซึ่ง ดัชมิลล์ มีเป้าหมายจะพัฒนาให้ได้มาตรฐาน GAP เพิ่มเป็น 70-80% ภายในเวลา 3 ปี
นอกจากจะเดินหน้าพัฒนาคุณภาพของน้ำนมแล้ว ในด้านของการทำตลาดในประเทศ ดัชมิลล์ยังคงเดินหน้าพัฒนาสินค้าให้เข้าทำตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อครองความเป็นผู้นำตลาดนมอย่างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นนมเปรี้ยว นมพลาสเจอร์ไรส์ นมถั่วเหลือง โยเกิร์ตพร้อมดื่ม โยเกิร์ตถ้วย หรือ มอลต์สกัดเข้มข้น
นางสาวสินีเนตร โชติเชย ผู้จัดการกลุ่มผลิตภัณฑ์ บริษัท ดัชมิลล์ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายนมเปรี้ยวพร้อมดื่ม ภายใต้แบรนด์ "ดัชมิลล์" กล่าวว่า แผนการดำเนินธุรกิจของบริษัทนับจากนี้จะเดินหน้าสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์นม ด้วยการนำเสนอสินค้าวัตกรรมใหม่เข้าทำตลาดอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าปัจจุบันบริษัทจะมีสินค้าในเครือที่หลากหลายแล้ว แต่จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ส่งผลให้บริษัทต้องเดินหน้าพัฒนาสินค้าใหม่ เพื่อตอบสนองให้ทันกับความต้องการของผู้บริโภค
จากการสำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภคพบว่า อัตราการบริโภคนมของคนไทยยังถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับในหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น กลุ่มประเทศในยุโรปมีอัตราการบริโภคนมอยู่ที่ประมาณ 300 ลิตร/คน/ปี ในขณะที่อเมริกามีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 255 ลิตร/คน/ ปี และญี่ปุ่น 76 ลิตร/คน/ ปี เกาหลีใต้ 57 ลิตร/คน/ ปี ส่วนไทยมีอัตราการดื่มนมเฉลี่ยอยู่แค่ 13.02 ลิตร/คน/ ปีเท่านั้น จึงถือเป็นโอกาสที่ ดัชมิลล์ จะพัฒนาสินค้าใหม่เข้ามาทำตลาด เพื่อกระตุ้นการดื่มนมของผู้บริโภค
ปัจจุบัน ดัชมิลล์ มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์นมค่อนข้างหลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค เช่น นมถั่วเหลือง ซึ่งดัชมิลล์ได้นำสินค้าภายใต้แบรนด์ "ดีน่า" เข้ามาทำตลาด ด้วยการวางตำแหน่งเป็นนมถั่วเหลืองเพิ่มมูลค่า เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งในตลาดที่เน้นการดื่มแล้วอิ่มท้อง ล่าสุด ดัชมิลล์ ได้ทำการเปิดตัว "ดีน่า บริ้ง" เข้ามาทำตลาดมุ่งเน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ที่ต้องการดื่มนมเพื่อความสวยความงาม
ในด้านของตลาดนมเด็ก ดัชมิลล์ยังคงเดินหน้าพัฒนาสินค้าใหม่ๆ เข้ามาทำตลาดอย่างต่อเนื่องเช่นกัน เพื่อสร้างฐานลูกค้าจากวัยเด็กสู่วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ โดยในส่วนของผลิตภัณฑ์ที่มุ่งเจาะกลุ่มเป้าหมายเด็กเล็กอายุตั้งแต่ 1-6 ปี ดัชมิลล์มีสินค้า "มอลต์ ทริปเปิ้ล ทรีพลัส" ทำตลาด ขณะที่กลุ่มลูกค้าเด็กโตอายุประมาณ 6-12 ปี ดัชมิลล์ยังมุ่งนำเสนอสินค้านวัตกรรมใหม่ๆ เข้าทำตลาดอย่างต่อเนื่อง เช่น นมเปรี้ยวพร้อมดื่ม ดัชมิลล์ 4 อิน 1 และดัชมิลล์ ไมโครแอคทีฟ
ด้านตลาดโยเกิร์ตถ้วย ดัชมิลล์มีสินค้า "ดัชชี่ ไบโอ" เข้าทำตลาด ซึ่งปัจจุบันยังคงมุ่งหน้าพัฒนาสินค้าใหม่ๆ สู่ตลาดพรีเมี่ยม ด้วยการนำผลไม้เข้ามาเป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ขณะเดียวกันยังทำแคมเปญ "ดัชชี่ ไบโอ" การันตีสำหรับกินแล้วไม่ได้ผลคืนเงินภายใน 7 วัน เนื่องจากการแข่งขันของตลาดโยเกิร์ตถ้วยค่อนข้างรุนแรง ภายหลังจากมี "แอคทีเวีย๐" เข้ามาทำตลาด
สำหรับแผนการทำตลาดของดัชมิลล์ ในปีนี้ได้เตรียมงบกว่า 1,000 ล้านบาท ในการทำกิจกรรมการตลาดและโฆษณาสินค้าตลอดทั้งปี ด้วยการเน้นการสื่อสารที่กระตุ้นอารมณ์ให้ผู้บริโภคอยากดื่มนมและบริโภคโยเกิร์ตมากขึ้น ซึ่งหลังจากออกมาทำการตลาดมากขึ้น ดัชมิลล์ตั้งเป้าว่า ผลิตภัณฑ์ทั้ง 6 กลุ่มสินค้าจะขึ้นมาติดอันดับ 1 ใน 2 ของทุกตลาด
สำหรับ 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ดัชมิลล์ต้องการมีส่วนแบ่งการตลาดขึ้นเป็นอันดับ 2 คือ กลุ่มนมถั่วเหลือง กลุ่มนมเปรี้ยว ดีไลท์ และ กลุ่มนมสดพาสเจอไรซ์ ขณะที่กลุ่มสินค้าที่สามารถขึ้นเป็นอันดับ 2 ได้แล้วคือ กลุ่ม มอลต์สกัดเข้มข้น และกลุุ่มที่ดัชมิลล์ขึ้นเป็นผู้นำตลาดอยู่แล้ว คือ โยเกิร์ตชนิดถ้วยที่ครองส่วนแบ่งอยู่ 69% และนมเปรี้ยวพร้อมดื่มครองส่วนแบ่งตลาดอยู่กว่า 90%
จากการเดินหน้าพัฒนาคุณภาพนมดังกล่าว ประกอบการเดินหน้าขยายช่องทางการทำตลาดอย่างต่อเนื่อง ดัชมิลล์ได้ตั้งเป้าหมายการเติบโตในปีนี้ไว้ที่ 21% หรือมีรายได้ที่ประมาณ 21,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 14% หรือมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 17,000 ล้านบาท และการมุ่งมั่นในการพัฒนาโครงสร้างฟาร์มโคนมให้ได้มาตรฐานและพัฒนาน้ำนมดิบให้ได้นมคุณภาพสูง ดัชมิลล์คาดว่าภายในปี 2558 จะมียอดขายอยู่ที่ 30,000 ล้านบาท
ข่าวเด่น