สรุปการเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา
หมายเหตุ ข้อมูลที่นำมาคำนวนมาจาก Bisnews และ DailyFX.com และการเปลี่ยนแปลงมูลค่าของสินทรัพย์คิดจากราคาเปิดและราคาปิดในรอบสัปดาห์ ขณะที่การเหวี่ยงตัวคิดจากราคาสูงสุดและต่ำสุดของสัปดาห์
สรุปการเคลื่อนไหวในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา
อันเนื่องมาจากราคาทองคำได้กลับมาเคลื่อนไหวที่บริเวณต่ำกว่าบริเวณ 1,400 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ประกอบกับในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมายังไม่มีประเด็นสำคัญในการชักนำทิศทางราคาทองคำอย่างมีนัยสำคัญได้ โดยตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯทั้งตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานประจำสัปดาห์ ยอดค้าปลีก และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ส่งผลต่อการแกว่งตัวของราคาทองคำในระหว่างวันได้บ้าง ทำให้การเคลื่อนไหวของราคาทองคำเป็นไปตามกรอบแคบๆ บริเวณ 1,365-1,395 ดอลลาร์ต่อออนซ์เพื่อปรับฐานราคาเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามในส่วนของราคาทองคำในประเทศกลับโดนกระทบจากค่าเงินบาทค่อนข้างมาก ซึ่งในช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินยังคงอ่อนค่าลง แต่เมื่อช่วงท้ายสัปดาห์ค่าเงินบาทกลับมาอยู่ในสถานะของการแข็งขึ้น ส่งผลให้ในบางช่วงเวลาราคาทองคำในประเทศไม่ได้มีการเคลื่อนไหวตามราคาทองคำในตลาดโลก
ประเมินสถานการณ์และทิศทางราคาทองคำในสัปดาห์นี้
ราคาทองคำ : แนวรับ 1,370(19,750) 1,340(19,350) 1,320(19,050)
แนวต้าน 1,420(20,500) 1,450(20,900) 1,480 (21,300)
แน่นอนว่าสำหรับสัปดาห์นี้ นักลงทุนต่างรอคอยผลการประชุมนโยบายการเงินจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน(FOMC) และการแถลงการณ์ของประธานเฟด ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 18-19 มิถุนายน นี้ว่าจะมีข้อสรุปเกี่ยวกับมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) อย่างไร โดยหากพิจารณาจากคำแถลงการณ์ล่าสุดของประธานเฟดที่มีต่อสภาคองเกรสและรายงานผลการประชุมนโยบายการเงินรอบเดือนเมษายน (FOMC MEETING MINUTES) ก็ย่อมมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีการลดขนาดของการเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงินภายใต้มาตรการดังกล่าวได้ หากทางคณะกรรมการเฟดมีมุมมองทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่ดีขึ้น ดังนั้นการประชุมในครั้งนี้จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อทิศทางของตลาดการเงินโลก ซึ่งถ้าทางเฟดตัดสินใจลดขนาดการเข้าแทรกแซง ก็อาจจะส่งผลต่อการปรับลดลงของราคาสินทรัพย์ทางการเงินต่างๆ รวมทั้งราคาทองคำในตลาดโลกด้วย
นอกจากนี้ประเด็นเรื่องตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ก็อาจส่งผลต่อการแกว่งตัวของราคาทองคำ โดยในสัปดาห์นี้มีตัวเลขสำคัญ อาทิ ดัชนีภาวะธุรกิจโดยรวม (Empire State Manufacturing Index) ตัวเลขในตลาดอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ รวมทั้ง ตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานประจำสัปดาห์ด้วย
ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศนั้นคงต้องติดตามความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่เริ่มมีความผันผวนมากขึ้น โดยหลังจากช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทก็มีแนวโน้มอ่อนค่าลง แต่พอในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมากลับพบว่า ค่าเงินบาทได้มีการกลับมาแข็งค่ามากขึ้นจากการที่นักลงทุนต่างชาติได้ทยอยเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้และตลาดหลักทรัพย์ไทยเพิ่มมากขึ้น และในสัปดาห์นี้ก็มีประเด็นเรื่องของมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณจากสหรัฐฯด้วย ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินต่างๆทั่วโลก ครั้นแล้วนักลงทุนอาจต้องติดตามประเด็นเรื่องค่าเงินบาทเพิ่มเติมด้วย เพราะจะส่งผลต่อการทำกำไรในระยะสั้นในการซื้อ-ขายทองคำในประเทศได้
กลยุทธ์การลงทุน
ราคาทองคำยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบราคาระหว่าง 1,340-1,420 ดอลลาร์ต่อออนซ์มาหลายสัปดาห์ ทำให้กลยุทธ์การลงทุนระยะสั้นยังคงเน้นการซื้อ-ขายเก็งกำไรในกรอบราคาดังกล่าวไปก่อน จนกว่าจะเกิดการทะลุ(break out) กรอบราคาข้างต้น จึงจะทำการซื้อหรือขายตาม(follow buy/sell) ได้อีกครั้ง สำหรับกรอบแนวรับแนวต้านที่สำคัญ ได้แก่แนวรับที่ 1,370 - 1,340 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และแนวต้านที่ 1,420 - 1,450 ดอลลาร์ต่อออนซ์
การประกาศตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์หน้า
* ที่มา Bisnews และ foexfactory.com ข้อมูลวันที่ 15 มิถุนายน 2556 ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงในภายหลังได้
ข่าวเด่น