แบงก์-นอนแบงก์
กสิกรไทยงัดแพ็คเกจรอบ 2 อัดสินเชื่ออุ้มรายเล็กหืดจับค่าแรงพุ่ง จับมือ สสว. หั่นดอกเบี้ยลง 6% แถมพักชำระเงินต้นได้ 3 เดือน


 
หลังจากเมื่อต้นปี ธนาคารกสิกรไทยได้ออกมาตรการเสริมพิเศษเพื่อช่วยเหลือลูกค้าเอสเอ็มอีที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการปรับเพิ่มขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ด้วย 3 ข้อเสนอพิเศษ ทั้งการพักชำระเงินต้นได้นานถึง 6 เดือน วงเงินสินเชื่อหมุนเวียนที่เพิ่มให้อีก 20% จากเดิม และบริการสินเชื่อเครื่องจักรแบบผ่อนน้อยในช่วงแรก เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจปรับปรุงคุณภาพการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
 
นายพิภวัตว์ ภัทรนาวิก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ล่าสุด ธนาคารได้จับมือกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ออกโครงการ "SME ไม่หวั่นค่าแรง" เป็นทางเลือกเพิ่มเติมสำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และต้องการวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเพื่อยืดระยะการบริหารสภาพคล่อง โดยสามารถให้วงเงินใหม่ได้สูงสุดถึง 1 ล้านบาท และส่วนลดดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าปกติได้อีกสูงสุดถึง 6%

สำหรับลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคารกสิกรไทย ที่สนใจขอเข้าร่วมโครงการนี้ ต่อที่ 1 จะได้รับสินเชื่อด้วยส่วนลดดอกเบี้ย 3% ซึ่ง สสว. เป็นผู้สนับสนุนค่าดอกเบี้ยส่วนนี้ให้ และถ้าเป็นลูกค้าเดิมของธนาคารกสิกรไทย 700 รายแรกที่เข้าร่วมโครงการนี้ ธนาคารก็จะลดดอกเบี้ยให้อีก 3% รวมเป็น 6% ดังนั้น ปกติสินเชื่อเอสเอ็มอีซึ่งอยู่ที่ประมาณ 9-10% ก็จะมีต้นทุนดอกเบี้ยเงินกู้ส่วนนี้เหลือเพียง 3-4% เท่านั้น ส่วนต่อที่ 2 ยังสามารถเลือกรูปแบบการผ่อนชำระสินเชื่อนี้แบบปลอดเงินต้นได้นานถึง 3 เดือนอีกด้วย

"โครงการนี้ ทางกระทรวงอุตสาหกรรม โดย สสว. ได้รับงบประมาณสำหรับอุดหนุนค่าดอกเบี้ยส่วนนี้ประมาณ 193 ล้านบาท น่าจะช่วยสนับสนุนสินเชื่อได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งธนาคารกสิกรไทยก็ร่วมโครงการนี้ด้วย แต่เราก็พยายามทำเพิ่มเติมเข้าไปเพื่อช่วยเหลือลูกค้าให้มากขึ้น ตอกย้ำกลยุทธ์เรื่องการดูแลลูกค้าตลอดเวลา และช่วยป้องกันก่อนเกิดปัญหา ส่วนเพิ่มตรงนี้เป็นสิทธิพิเศษของธนาคารกสิกรไทยเพียงแห่งเดียว"

นายพิภวัตว์ กล่าวอีกว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีที่จะเข้าโครงการนี้ได้จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท ในพื้นที่ภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และใต้ รวม 51 จังหวัด และอยู่ใน 12 กลุ่มธุรกิจที่ใช้แรงงานสูง คือ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อาหารและเครื่องดื่ม ผลิตผลิตภัณฑ์ที่ทำจากโลหะประดิษฐ์ ภัตตาคาร ขายอาหาร ผลิตไม้-ผลิตภัณฑ์จากไม้และไม้ก๊อก ก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ขายปลีก โรงแรมและที่พักชั่วคราว ขนส่ง บำรุงรักษาการซ่อมแซมยานยนต์-จักรยานยนต์ ขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง และการผลิตเครื่องเรือน เฟอร์นิเจอร์และอัญมณีเครื่องประดับ

การคัดกรองลูกค้า จะดูจากกระแสเงินสดที่ได้รับผลกระทบ เพราะค่าแรงที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นทันที ซึ่งโครงการนี้ต้องการช่วยเรื่องสภาพคล่องของธุรกิจเป็นหลัก สินเชื่อที่ให้จึงเป็นระยะสั้นเพียง 1 ปี เพื่อยืดเวลาให้ธุรกิจปรับตัว ฉะนั้น ระหว่างนี้ธุรกิจก็ต้องเริ่มหาวิธีที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดต้นทุนส่วนต่างๆ ลง

ขณะเดียวกันเงินทุนที่กู้มาได้นี้ก็เพื่อเสริมสภาพคล่องในกิจการ จึงไม่ควรนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ เช่น นำไปลงทุนซื้อเครื่องจักรใหม่ หรือเพิ่มประสิทธิภาพในส่วนงานต่างๆ เพิ่มเติม หากเห็นควรว่าธุรกิจต้องการจะลงทุนเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางธุรกิจ แนะนำให้มาปรึกษาทางธนาคารเพื่อพิจารณารูปแบบสินเชื่อที่เหมาะสมต่อไป

ส่วนโครงการที่ออกมาก่อนหน้านี้ ซึ่งมีข้อเสนอพิเศษให้แก่ลูกค้านั้น นายพิภวัตว์ กล่าวว่า ถือว่ามีลูกค้าเข้าร่วมโครงการในระดับหนึ่ง ส่วนใหญ่เป็นการขอวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนเพิ่มเติม แต่ขณะเดียวกันก็มีลูกค้าอีกพอสมควรที่ได้รับผลกระทบ และเริ่มพูดคุยปรึกษาธนาคารเนื่องจากเห็นโครงการดังกล่าว แต่นำไปสู่การบริหารจัดการในรูปแบบสินเชื่ออื่นๆ แทน จึงไม่ได้บันทึกรวมอยู่ในโครงการนี้

"เรามองว่าการออกมาตรการลักษณะนี้มาก็เป็นรูปแบบหนึ่งในการดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด เปิดประเด็นให้ลูกค้าที่รู้สึกว่าตัวเองได้รับผลกระทบสามารถเดินเข้ามาคุยกับธนาคาร ซึ่งในที่สุดแล้วจะใช้ทางเลือกไหนคงไม่ใช่ประเด็น แต่สำคัญตรงที่ทำให้เรารู้ปัญหาของเขา และช่วยแก้ไขได้ก่อนจะเกิดปัญหาจริงๆ" นายพิิภวัตว์ กล่าว

 
 


LastUpdate 21/06/2556 15:36:57 โดย : Admin
27-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 27, 2024, 6:21 am