หุ้นทอง
"CKP" ลุยโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำลาว เล็งเข้าตลาดหุ้นปลายมิ.ย.




 


 

 ในปัจจุบันไทยก็ไม่ต่างไปจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่ตื่นตัวและมองหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ มาใช้เพื่อหวังสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ในขณะที่พลังงานฟอสซิล ซึ่งธรรมชาติสร้างสรรค์ไว้ให้กำลังร่อยหรอลงไปเรื่อย ๆ อีกทั้งเพื่อตอบสนองต่อความต้องการใช้เพิ่มจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น โดยแหล่งพลังงานใหม่ ๆ เช่น พลังงานชีวภาพจากพืชพลังงาน พลังงานแสงอาทิตย์ คลื่น ลมและน้ำ บริษัทซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP เป็นบริษัทหนึ่งที่มุ่งลงทุนด้านพลังงาน ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญต่อการดำรงชีวิตและช่วยตอบสนองความต้องการของประเทศได้ ขณะเดียวกันยังเป็นการลงทุนที่มีศักยภาพสูง ให้รายได้มั่นคงเป็นระยะยาว โดยการลงทุนส่วนหนึ่งได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงอย่างลาวด้วยเช่นกัน
 
 

 

 บริษัทซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP เป็นบริษัทใหม่ที่ก่อตั้งขึ้นในเดือนมิถุนายนปี 2554 โดยบริษัทช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และพันธมิตรในกลุ่มช.การช่าง โดยบมจ.ช.การช่างถือหุ้น 38% บริษัททางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 30% บริษัทน้ำประปาไทย จำกัด (มหาชน)30% และบจ.ที่ดินบางปะอิน 2% มุ่งเน้นการลงทุนในธุรกิจพลังงานทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นสำคัญ โดยดำเนินธุรกิจในรูปแบบบริษัทโฮลลดิ้ง (Holding Company) ด้วยการถือหุ้นในบริษัทพลังงานต่าง ๆทั้งโรงไฟฟ้าพลังน้ำ โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน  
 

 
 
 
ในส่วนของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ CKP เริ่มต้นด้วยการเข้าถือหุ้นในบริษัทเซาท์อีสท์ เอเซีย เอนเนอร์จี จำกัด (SEAN) 56% ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 ในสปป.ลาว 75% การลงทุนในโครงการนี้ประมาณ 30,000 ล้านบาท มีกำลังการผลิต  615 เมกะวัตต์ ซึ่งทำสัญญาขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) 100%  เป็นเวลา 25 ปี โดยเริ่มจ่ายไฟฟ้าอย่างเป็นทางการในวันที่  26 มีนาคม 2554 เป็นต้นมา  
 
 

 

สำหรับโครงการที่จะตามมาในอนาคต ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำบาก กำลังผลิต 160 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างการเจรจาทำข้อตกลงคาดว่า จะสรุปได้ในปีนี้ คาดว่าจะเริ่มงานก่อสร้างได้ในช่วงปลายปี 2557  และเสร็จราวปี 2562  เป็นโครงการผลิตไฟฟ้าขายให้สปป.ลาว 100% และโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีกำลังผลิต 1,285 เมกะวัตต์ ลงทุนราว 115,000 ล้านบาท กำลังก่อสร้างแล้วประมาณ 10% คาดจะเสร็จปี 2562 ซึ่งจะขายไฟฟ้าให้ไทย 95% ขายให้ลาว 5%

นายสมควร วัฒกีกุล ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริษัท SEAN เปิดเผยว่า อนาคตโลกต้องประสบปัญหาท้าทายหลายอย่างได้แก่ เรื่องน้ำ พลังงานและอาหาร เนื่องจากประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นจากประมาณ 7,000 ล้านคนเป็น 9,000 ล้านคนในช่วง 40 ปีข้างหน้า ความต้องการน้ำจะเพิ่มขึ้น 200% ความต้องการพลังงานจะเพิ่มขึ้น 300%  สำหรับไทยความต้องการพลังงานจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน  โดยมีการประเมินกันว่า ในอนาคต 40 ปีข้างหน้าความต้องการจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าจาก 26,000 เมกะวัตต์ เป็น 80,000 เมกะวัตต์ ความต้องการผลิตเพิ่มอยู่ที่ปีละ  2,000 เมกะวัตต์  จึงจำเป็นต้องหาทางเลือกอื่น ๆ ทั้งการใช้พลังงานจากถ่านหิน พลังงานทดแทนต่าง ๆ พลังแสงอาทิตย์ พลังงานจากความร้อนและพลังน้ำ แต่การสร้างเขื่อนพลังน้ำในไทยไม่สามารถทำได้ เนื่องจากไม่มีที่ที่จะสร้าง จึงต้องหาที่ใหม่ซึ่งเพื่อนบ้านใกล้เคียงอย่างสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว)พร้อมให้ลงทุน

“ลาวตั้งเป้ายกระดับประเทศให้พ้นจากความยากจนภายในปี 2563 (2020) ต้องการมีชีวิตที่ดีขึ้นโดยใช้วิธีพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งปัจจุบันนับว่า ลาวประสบความสำเร็จ ยกระดับรายได้ของประชาชนอยู่ที่ 2,700 ดอลลาร์สหรัฐต่อปีจาก 100 ดอลลาร์ต่อปี”

ทั้งนี้ที่ปรึกษาของ SEAN ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า โครงการโรงไฟฟ้าน้ำงึม2 ยังให้ประโยชน์หลายอย่าง ที่แน่ ๆ คือ ทำให้ไทยได้มีพลังไฟฟ้าใช้เพิ่มขึ้นในราคาที่เป็นธรรม ทำให้ภาคเอกชนมีประสบการณ์ในการลงทุนในต่างประเทศ ลาวได้ประโยชน์จากการจ้างงาน สร้างรายได้ พัฒนาสังคมชุมชนและเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวม นอกจากนี้ยังเป็นประโยชน์ในด้านการบริหารจัดการน้ำด้านน้ำท่วม น้ำแล้งและมีผลพลอยได้ในด้านการทำประมง นอกจากนี้การสร้างเขื่อนน้ำเพื่อผลิตพลังงานยังไม่ก่อมลพิษให้กับโลก

 

 
การลงทุนธุรกิจพลังงานฉายแววสดใสโดย ดร.สุภามาส ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ CKP เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาสแรกของบริษัทในปี 2556 นี้มีรายได้รวมกว่า 1,200 ล้านบาทและมีกำไรสุทธิในส่วนที่เป็นของบริษัท 92 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วซึ่งมีกำไรสุทธิประมาณ 33 ล้านบาท เนื่องจากในไตรมาสนี้บริษัทรับรู้รายได้จากการลงทุนในโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ซึ่งรวมถึง โรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำงึม 2 ด้วยเช่นกัน

ในอนาคตอันใกล้ CKP กำลังจะเป็นบริษัทน้องใหม่อีกแห่งหนึ่งที่เข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยนางสาวปิยนุช มริตตนะพร ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงินของ CKP เปิดเผยถึงความคืบหน้าเมื่อเร็ว ๆนี้ว่า หลังจากยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (filing) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 เวลานี้ได้ผ่านการอนุมัติแล้ว ซึ่งCKP จะเสนอขายหุ้นสามัญแก่ประชาชน(IPO)จำนวน 220 ล้านหุ้นโดยแบ่งเป็นการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 180 ล้านหุ้นและการเสนอขายหุ้นสามัญเดิม 40 ล้านหุ้น ด้วยมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 5 บาท 

แม้สภาพตลาดหุ้นในเวลานี้ค่อนข้างผันผวน แต่บริษัทฯ ไม่ได้หวั่นไหวเนื่องจากเชื่อมั่นในพื้นฐานที่แข็งแกร่งและฐานะการเงินเยี่ยมของบริษัท โดยได้จองวันเข้าซื้อขายหุ้น CKP วันแรก ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ไว้ระหว่างวันที่ 26-28 มิถุนายนนี้ ซึ่งจะมีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) บริษัทกรุงไทยแอดไวซ์เซอร์รี่ จำกัดและบริษัท แอดไวเซอรี่ พลัส จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน โดยเงินที่ระดมทุนได้จะนำมาชำระคืนเงินกู้ทั้งหมดและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน รวมถึงขยายกิจการต่อไป

ถือเป็นธุรกิจที่นอกจากช่วยผลิตพลังงานไฟฟ้าเพิ่มให้ชาติแล้ว ยังมีแนวโน้มมีอนาคตที่สดใสอีกแห่งหนึ่ง

 


LastUpdate 23/06/2556 09:06:08 โดย : Admin
22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 6:35 pm