หลังจาก "บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) หรือ SPC" ได้เข้าลงทุนใน "บริษัท สห ลอว์สัน จำกัด" เมื่อเดือน พ.ย. ปีที่ผ่านมา ด้วยการเข้าถือหุ้นในสัดส่วน 20% ร่วมกับบริษัทในเครือสหพัฒน์ ที่ร่วมเข้าถือหุ้นอีก 30% ส่วนที่เหลืออีก 49% เป็นการถือหุ้นโดยบริษัท ลอว์สัน เอเชีย แปซิฟิก โฮลดิ้ง หรือ LAP และอีก 1% ถือหุ้นโดยบริษัท ไทย-เอ็มซี หรือ TMC ภายใต้ทุนจดทะเบียนบริษัท 70 ล้านบาท
ร้านลอว์สัน ถือเป็นร้านสะดวกซื้อที่มีชื่อเสียงเป็นอันดับ 2 ของประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากมีจำนวนสาขามากเป็นอันดับ 2 รองจากเซเว่น อีเลฟเว่น จุดเริ่มต้นของร้านลอว์สัน เป็นร้านสะดวกซื้อที่ถือกำเนิดจากรัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งโดยนาย เจ. เจ. ลอว์สัน ในปี ค.ศ. 1939 หรือปี พ.ศ. 2492 ต่อมาได้ขายกิจการและเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "แดรี มาร์ท" ในปี ค.ศ. 1985 หรือประมาณปี พ.ศ. 2528
ในประเทศญี่ปุ่น ร้านลอว์สัน เป็นกิจการร่วมทุนระหว่าง ลอว์สัน อิงค์ กับ ไดเอะอิ เครือข่ายซูเปอร์มาร์เกตจากเมืองโคเบะ ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1975 หรือประมาณปี พ.ศ. 2518 ปัจจุบัน ลอว์สัน เจแปน อิงค์ ถือหุ้นทั้งหมด โดยไดเอะอิ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของมิตซูบิชิ ดำเนินกิจการร้านสะดวกซื้อในญี่ปุ่น, ต้าเหลียน เซี่ยงไฮ้ และฉงชิ่ง ประเทศจีน, จาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ,ฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา และขณะนี้กำลังดำเนินกิจการในประเทศไทยผ่านร้าน 108 ช็อป จำนวน 600 สาขา ของบริษัทสหพัฒนพิบูล
สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ร้านลอว์สัน ได้เริ่มเข้ามาเปิดให้บริการในรูปแบบร้านสะดวกซื้อภายใต้ชื่อ “ลอว์สัน 108” แล้ว 3 สาขา เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ประกอบด้วย สาขาถนนเพชรบุรีตัดใหม่ สาขาซอยลาดพร้าว 101 และสาขาถนนร่มเกล้า
นายเวทิต โชควัฒนา กรรมการบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) กล่าว ในช่วง 3 เดือนที่ผ่าน มาบริษัทได้มีการปรับปรุงร้าน 108 ช็อป ให้เป็น ร้านลอว์สัน 108 ไปแล้วจำนวน 8 สาขา ซึ่งหลังจากเปิดให้บริการได้ผลการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้บริโภค ส่งผลให้แผนการดำเนินงานในปีนี้บริษัทมีแผนที่จะปรับปรุงร้าน 108 ช็อป เป็นร้าน ลอว์สัน 108 และเปิดสาขาใหม่ของร้านลอว์สัน 108 ให้ครบ 50 สาขาในสิ้นปี
ในด้านของงบการลงทุนสำหรับการปรับปรุงร้านจากร้าน 108 ช็อป เป็นร้าน ลอว์สัน 108 นั้น จะใช้งบอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านบาทต่อสาขา ขณะที่การเปิดสาขาใหม่ที่มีขนาดตั้งแต่ 100 ตร.ม.ขึ้นไป คาดว่าจะใช้งบลงทุนอยู่ที่ประมาณ 5 ล้านบาทต่อสาขา ซึ่งภายในปี 2557 สหพัฒน์คาดว่าจะสามารถเปิดร้าน ลอว์สัน 108 ได้ครบ 200 สาขา
จำนวนสาขาที่จะเปิดให้บริการจำนวน 50 สาขาในปีนี้ สหพัฒน์ วางแผนไว้ว่า จะเน้นการเปิดให้บริการในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นหลัก ด้วยการเริ่มจากชานเมืองเข้าหาในเมือง เพื่อศึกษาทำเลและศักยภาพของพื้นที่นั้นๆ ว่าการแข่งขันเป็นอย่างไร และได้ผลการตอบรับจากลูกค้าดีแค่ไหน
อย่างไรก็ตาม เวทิต ยอมรับว่า การแข่งขันของธุรกิจร้านสะดวกซื้อในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ มีความรุนแรงสูง แต่ก็มั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาในเรื่องของการจับจองโลเคชั่นในการขยายสาขาร้านลอว์สัน 108 เนื่องจากยังมีช่องว่างให้เข้าไปขยายสาขาได้อีกมาก เมื่อนำอัตราส่วนของประชากรต่อพื้นที่มาเทียบกับจำนวนร้านสะดวกซื้อที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน ซึ่งถือว่ายังน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศญี่ปุ่นและประเทศเกาหลีใต้
ส่วนแผนการปรับปรุงร้าน 108 ช็อป ที่เหลืออีกกว่า 300 สาขานั้น สหพัฒน์จะดูที่ศักยภาพของทำเลที่ตั้งเป็นหลักว่ามีศักยภาพเพียงพอต่อการปรับปรุงเป็นร้านลอว์สัน 108 หรือไม่ ถ้ามีศักยภาพพอก็จะดำเนินการปรับปรุงเป็นร้านลอว์สัน 108 แต่ถ้าศักยภาพน้อยก็จะทำตลาดภายใต้แบรนด์ 108 ช็อปต่อไป
สำหรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจร้านลอว์สัน 108 ในประเทศไทยนั้น สหพัฒน์ได้วางรูปแบบการขยายธุรกิจออกเป็น 2 โมเดล คือ ร้านสะดวกซื้อภายใต้แบรนด์ ลอว์สัน 108 และร้าน 108 ช็อป ซึ่งในอนาคต สหพัฒน์ มีแผนที่จะเพิ่มโมเดลร้านลอว์สัน 108 ในเมืองและชานเมืองเข้ามาทำตลาด
จากรูปแบบการทำตลาดดังกล่าวถือว่าแตกต่างไปจากร้านลอว์สัน ในประเทศญี่ปุ่น ที่มีเพียง 3 โมเดลหลักในการทำตลาดเท่านั้น คือ 1.ลอว์สัน 100 เยน (สีเขียว) 2.ลอว์สัน เนอเชอรัล (สีขาว) ขายสินค้าสำหรับผู้หญิง 3.ลอว์สัน (สีฟ้า) ที่มีโมเดลแตกต่างกันออกไปตามพื้นที่
ในด้านรายการสินค้าที่จะนำเข้ามาทำตลาดภายในร้านลอว์สัน 108 จะเน้นสัดส่วนกลุ่มสินค้าอาหารประมาณ 70% ส่วนที่เหลืออีก 30% จะเป็นกลุ่มสินค้าของใช้ต่างๆ ซึ่งถือเป็นกลยุทธที่ใกล้เคียงกับร้านสะดวกซื้อทั่วไป แต่สิ่งที่แตกต่าง ซึ่งสหพัฒน์พยายามหยิบขึ้นมาทำตลาด คือ การเพิ่มรายการอาหารในกลุ่มอาหารพร้อมทานสไตล์ญี่ปุ่นที่ปรุงสดทันที เช่น ทาโกยากิ โอเด้ง ราคาเริ่มต้นที่ 8-25 บาท อุด้งเริ่มต้นที่ 40-60 บาท อาหารทอด เช่น ไก่ทอด และข้าวปั้น (โอนิงิริ) ซึ่งทำสดทุก 1-2 ชั่วโมง เบเกอรี่สไตล์ญี่ปุ่นแบรนด์ลอว์สัน และเพรทเซล เข้ามาทำตลาด
นายเวทิตกล่าวต่อว่า สหพัฒน์ยังมีการปรับเปลี่ยนสินค้าภายในร้าน พร้อมๆ กับการพัฒนาคุณภาพภายใน เพื่อรองรับการแข่งขันที่สูงขึ้น โดยในช่วงแรกของการทำตลาดร้านลอว์สันช่วง 2 ปีแรก สหพัฒน์จะเน้นการขยายสาขา ด้วยการลงทุนเองเป็นหลัก หลังจากนั้นหากร้านลอว์สันได้ผลการตอบรับที่ดีอย่างต่อเนื่องจะทำการขยายสาขาในรูปแบบแฟรนไชส์
นอกจากจะเน้นการขยายสาขาร้านสะดวกซื้อในประเทศแล้ว ในด้านของตลาดประเทศเพื่อนบ้าน สหพัฒน์ก็มีความสนใจที่จะเข้าไปขยายธุรกิจร้านสะดวกซื้อภายใต้แบรนด์ 108 ช็อป เช่นกัน โดยเมื่อต้นปี 2555 ที่ผ่านมา สหพัฒน์ ได้เข้าไปแต่งตั้งบริษัท เมียนมาร์ คอนวีเนียนสโตร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท ซิตี้ มาร์ท โฮลดิ้ง จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ในประเทศพม่า และกลุ่มบริษัท ทูเดย์ กรุ๊ป ธุรกิจสื่อการตลาดชั้นนำของพม่า เพื่อเป็นตัวแทนบริหารธุรกิจแฟรนไชส์ร้าน 108 ช็อป ในกรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า
ปัจจุบัน สหพัฒน์ มีร้าน 108 ช็อป เข้าไปเปิดให้บริการในประเทศพม่าแล้ว 13 สาขา และสิ้นปีนี้คาดว่าจะเปิดให้บริการครบ 20 สาขา ซึ่งทำเลหลักในการเข้าไปเปิดร้าย 108 ช็อป ในประเทศพม่า สหพัฒน์ยังคงเน้นไปที่กรุงย่างกุ้งเป็นหลัก เนื่องจากยังมีความจำกัดด้านการขนส่งและระบบฐานข้อมูลออนไลน์
ส่วนความคืบหน้าของการเข้าไปสร้างนิคมอุตสาหกรรมในประเทศพม่านั้น สหพัฒน์ยังคงเดินหน้าต่อไม่ชะลอการลงทุนเหมือนกับประเทศอื่นๆ ที่สหพัฒน์มีแผนที่จะชะลอการลงทุนออกไปก่อน เนื่องจากค่าเงินบาทของไทยยังคงผันผวน โดยขณะนี้สหพัฒน์ยังคงเดินหน้าหาที่ดินในประเทศพม่า เพื่อก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ สหพัฒน์ยังมีแผนที่จะเดินหน้าลุยธุรกิจค้าปลีก ล่าสุด นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ ได้ออกมาเปิดเผยว่า มีความสนใจที่จะลงทุนโครงการคอมมูนิตี้มอลล์ ภายใต้ชื่อ "เจ พาร์ค ช็อปปิ้งมอลล์" ซึ่งจะดำเนินการโดย บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ภายใต้งบลงทุนประมาณ 300 ล้านบาท แบ่งการก่อสร้างออกมาเป็น 2 เฟส บนเนื้อที่ 22 ไร่ ติดกับสวนเสือศรีราชา จ.ชลบุรี
สำหรับเฟสแรกสหพัฒน์ จะใช้พื้นที่ในการก่อสร้าง “เจ พาร์ค ช้อปปิ้งมอลล์” จำนวน 10 ไร่ ในรูปแบบของคอมมูนิตี้มอลล์ สไตล์ญี่ปุ่น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปลายปีนี้ ขณะที่เฟส 2 จะพัฒนาเป็นคอนโดมิเนียม ในรูปแบบเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์
พร้อมกันนี้ นายบุญยสิทธิ์ ยังแย้มออกมาอีกว่า หากโครงการคอมมูนิตี้มอลล์ที่ จ.ชลบุรี ประสบความสำเร็จ ก็มีแผนที่จะนำที่ดินอีกประมาณ 1,000 ไร่ ใน จ.ลำพูน มาพัฒนาเป็นคอมมูนิตี้มอลล์ต่อไปในอนาคต
ข่าวเด่น