การประชุมคณะกรรมการของ ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือ เฟด มีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น ที่ระดับร้อยละ 0 - 0.25 และยังคงเดินหน้าโครงการซื้อสินทรัพย์ในวงเงินปัจจุบันที่ 8 หมื่นพันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ
แต่แถลงการณ์ของ นายเบน เบอร์นัทเก้ ประธานเฟด ได้ส่งสัญญาณด้านลบต่อตลาด เมื่อระบุว่า จะเริ่มชะลอโครงการซื้อพันธบัตร หรือมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ QE ในปลายปีนี้ หากเศรษฐกิจฟื้นตัวตามที่คาดการณ์ไว้ และหากข้อมูลเศรษฐกิจที่เฟดจะได้รับในวันข้างหน้าบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจฟื้นตัวตามที่คาดการณ์ไว้
ก็เป็นเรื่องเหมาะสมที่เฟดจะชะลอโครงการซื้อพันธบัตร หรือชะลอกการทำ QE ภายในปีนี้ และหากข้อมูลเศรษฐกิจยังคงออกมาสอดคล้องกับที่คาดการณ์ไว้ เฟดก็จะยังคงลดขนาดวงเงินซื้อพันธบัตรไปจนถึงช่วงครึ่งแรกของปีหน้า และจะสิ้นสุดโครงการซื้อพันธบัตรประมาณกลางปีหน้า
การกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนในการยกเลิก QE ของเฟด ทำให้ตลาดเงิน ตลาดทุน และตลาดทองคำ ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง ซึ่งในส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ดูแลด้านตลาดเงิน นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ รองผู้ว่าการ ธปท. ด้านเสถียรภาพการเงิน คาดการณ์ว่า เงินทุนเคลื่อนย้ายจะไหลออกมากขึ้น หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เตรียมปรับลดระดับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (QE) โดยเฉพาะการซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเดือนละ 85,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปลายปีนี้ และอาจจะยุติ QE3 กลางปีหน้า หากเศรษฐกิจขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
อย่างไรก็ตาม ธปท.จะติดตามการเคลื่อนย้ายเงินทุนต่างประเทศอย่างใกล้ชิด หากพบว่ามีการเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงและรวดเร็วจนกระทบกับภาพรวมเศรษฐกิจ ธปท.พร้อมดูแลตามความเหมาะสมต่อไป ส่วนผู้ประกอบการหรือภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยนจะต้องระมัดระวังมากขึ้น เพราะในยามที่เงินทุนเคลื่อนย้ายผันผวน ค่าเงินเปลี่ยนแปลงเร็ว ควรบริหารจัดการให้ดี
ด้าน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเป็นตัวแปรสำคัญที่กำหนดแนวทางการดำเนินการของเฟด ซึ่งหากสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาสอดคล้อง และ/หรือดีกว่าที่เฟดได้ประเมินไว้แล้ว ก็คาดว่า เฟดน่าจะเดินหน้าชะลอมาตรการ QE ตามกรอบเวลาที่วางไว้ในการประชุมรอบนี้ แต่หากสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีความอ่อนแอ เฟดก็คงต้องปรับแผนการถอยมาตรการ QE ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ดังนั้น ความเคลื่อนไหวของตลาดเงิน-ตลาดทุนทั่วโลกในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ก็น่าจะมีกรอบที่ผันผวนมากขึ้น
ซึ่งสำหรับหลายๆ ประเทศในเอเชีย รวมถึงประเทศไทยแล้ว โจทย์ที่ต้องเตรียมรับมือในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า ก็คือ ทิศทางการเคลื่อนย้ายเงินทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกระบวนการถอย QE ของเฟดดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพราะสถานการณ์ดังกล่าว จะมีผลเชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเงิน และระดับสภาพคล่อง (รวมถึงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล) ในประเทศ ซึ่งย่อมเพิ่มความซับซ้อนให้กับการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท.
ขณะที่ สำหรับภาคเอกชนแล้ว (ทั้งผู้ที่ต้องการระดมทุนใหม่ และ/หรือต้องการ Rollover หนี้ก้อนเดิม) ก็คงต้องเตรียมวางแผนการระดมทุนให้สอดคล้องกับสภาพตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากตลาดเริ่มหาคำตอบเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นของการคุมเข้มทางการเงินของสหรัฐฯ ด้วยการปรับลดขนาดงบดุลของเฟด และ/หรือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds (หลังจากยืนที่ระดับใกล้ศูนย์มาตั้งแต่ปลายปี 2551) แม้ว่าระดับความเพียงพอของสภาพคล่องในระบบการเงินไทย จะยังไม่ใช่ประเด็นที่น่ากังวลมากนักในช่วงใกล้ๆ นี้ก็ตาม
ข่าวเด่น