ภายหลังจากการประกาศปรับลดราคารับจำนำข้าวที่ตันละ 15,000 บาท เหลือ 12,000 บาท ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในช่วงที่ผ่านมา ก็ทำให้เกิดกระแสการต่อต้านจากชาวนาทั่วประเทศ จนกระทั่งมีการขู่จะฟ้องศาลปกครองว่ารัฐบาลไม่ทำตามที่ได้มีการหาเสียงไว้ในช่วงเลือกตั้ง ซึ่งการปรับลดราคาจำนำดังกล่าวยังอาจกระทบต่อฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องพยายามทุกวิถีทางเพื่อชดเชยผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชาวนา
โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงถึงเหตุผลความจำเป็น 4 ด้าน ที่รัฐบาลต้องลดราคาจำนำข้าวลงว่า เพื่อรักษาสมดุลวินัยการเงินการคลัง ควบคู่กับการสร้างชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้น รวมถึงเน้นคุณภาพข้าว และความสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ พร้อมย้ำการดำเนินการในโครงการทุกขั้นตอนต้องมีความโปร่งใส และป้องกันไม่ให้มีการทุจริต
ขณะเดียวกัน ได้กำชับให้คณะกรรมการตรวจสอบที่คณะรัฐมนตรีตั้งขึ้น รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งลงไปตรวจสอบโกดังข้าวทั้งหมด หากพบความผิดให้ดำเนินการตามขั้นตอนทันที แต่หากพบปัญหาให้แยกว่า เกิดจากนโยบาย ขั้นตอน หรือผู้ปฏิบัติ เพื่อแก้ปัญหาได้ตรงจุด
ด้านตัวแทนเกษตรกร เครือข่ายสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กว่า 40 จังหวัด นำโดย นายวิเชียร พวงลำเจียก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย บอกว่า ชาวนาต้องการให้คงราคารับจำนำข้าวเปลือกที่ตันละ 15,000 บาท ไว้ แต่หากจะปรับลดราคามาที่ตันละ 12,000 บาท ให้เริ่มในฤดูกาลผลิตหน้า และในฤดูกาลผลิตนี้ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย. ให้รับจำนำที่ตันละ15,000 บาทตามเดิม
ในส่วนของเงื่อนไข การสิ้นสุดโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังรอบ 2 ในพื้นที่ภาคใต้และจังหวัดลพบุรี ขอให้สิ้นสุดโครงการในสิ้นเดือน พ.ย.ปีนี้ เพราะมีการเพาะปลูกข้าวล่าช้ากว่าพื้นที่อื่น
รวมถึงรัฐบาลต้องเร่งทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เพราะต้นทุนการทำนาสูงไร่ละเกือบ 7,000 บาท จากต้นทุนเรื่องปุ๋ยและยาฆ่าแมลง และเมื่อเมื่อหักความชื้นประมาณตันละ 3,000 บาท ทำให้เหลือราคาข้าวเพียงตันละ 9,000 บาท
ส่วนแนวทางลดผลกระทบนั้น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้พิจารณามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ได้รับผลกระทบ โดยเตรียมวงเงินสินเชื่อให้แก่เกษตรกรกลุ่มดังกล่าวจำนวน 1 หมื่นล้านบาท พร้อมลดอัตราดอกเบี้ยลงจำนวน 3% ต่อปี จากปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยลูกค้าชั้นดีอยู่ที่ 7% ต่อปี
ซึ่งจากการสำรวจเบื้องต้น พบว่า มีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจำนวนประมาณ 2 แสนรายที่คาดว่า จะไม่สามารถเข้าโครงการรับจำนำในราคาเดิมได้ โดยเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปรังที่ขึ้นทะเบียนเข้าโครงการมีจำนวนประมาณ 5 แสนราย จำนวนข้าว 7 ล้านตัน คิดเป็นวงเงิน 1.05 แสนล้านบาท ที่ผ่านมามีเกษตรกรเข้าโครงการแล้วประมาณ 3 แสนราย จำนวนข้าว 4 ล้านตัน เป็นเงินกว่า 6 หมื่นล้านบาท
การปรับลดราคารับจำนำข้าวของรัฐบาล นอกจากจะกระทบต่อรายได้ของชาวนาแล้ว ยังจะส่งผลกระทบไปถึงการใช้จ่าย การบริโภคในประเทศ ที่คาดว่าจะต้องลดลงในช่วงครึ่งปีหลัง เพราะต้นทุนค่าครองชีพที่กำลังรอเวลาปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาก๊าซหุงต้ม
ข่าวเด่น