“วรวัจน์” ชูนวัตกรรมไทย เพิ่มมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตร เดินสายเยือนอินเดียเจรจาความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี นำร่องอัพเกรดลำไยพรีเมียม บูรณาการต้นแบบระบบบริหารจัดการ ผลไม้ไทย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เดินทางเยือนประเทศอินเดีย ระหว่างวันที่ 25 มิถุนายน – 28 มิถุนายน 2556 เพื่อศึกษากรณีตัวอย่าง และเจรจาความร่วมมือในการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้บริหารจัดการลำไยอย่างครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงระบบจัดการด้านการตลาด เพื่อเป็นต้นแบบของระบบการบริหารจัดการผลไม้เพื่อการส่งออกอย่างยั่งยืน
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าทางการเกษตรรายสำคัญของโลก โดยเฉพาะการส่งออกผลไม้ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติอีกอย่างหนึ่ง แต่ที่ผ่านมา การส่งออกผลไม้ของไทยประสบปัญหาด้านคุณภาพและขาดการจัดการอย่างเป็นระบบ ทำให้เกิดภาวะความผันผวนทางด้านราคา ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชน ชุมชน ในระดับหมู่บ้าน สังคม กลุ่มเกษตรกร เป็นจำนวนมาก และทำให้รัฐบาลต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะหน่วยงานวิจัย พัฒนา และจัดการองค์ความรู้ จึงได้จัดทำแผนบูรณาการเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ไทยทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ โดยใช้ฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรม บูรณาการการทำงานทั้งหน่วยงานภายในและนอกกระทรวง ซึ่งได้เปิดโครงการนำร่องด้วยการยกระดับการผลิตและระบบการตลาดลำไยคุณภาพในพื้นที่ภาคเหนือ 5 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน พะเยา และน่าน เพื่อสร้างโอกาสด้านการตลาดให้กับเกษตรกรและชุมชน รวมถึงการเปิดตลาดใหม่ อันเป็นการเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับการแข่งขันเสรีจากการเปิดเขตเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)
การเดินทางเยือนประเทศอินเดียในครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการจัดกิจกรรมเพื่อขยายตลาดลำไยในต่างประเทศโดยอาศัยฐานความรู้ด้านนวัตกรรม โดย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้พัฒนาฟิล์มบรรจุภัณฑ์แอคทีฟ ซึ่งมีคุณสมบัติในการยืดอายุและรักษาคุณภาพของผักและผลไม้สด ทำให้สามารถยืดอายุในการเก็บรักษาลำไยเพื่อการส่งออกได้ยาวนานถึง 30 วัน ภายใต้อุณหภูมิ 2-5 องศา ซึ่งเหมาะสำหรับวางจำหน่ายในซุปเปอร์มาเก็ต
“ อินเดียเป็นตลาดผู้บริโภคที่มีศักยภาพมากสำหรับผลไม้ไทย และเป็นเป้าหมายหลักในการขยายตลาดส่งออกลำไย โดยการเดินทางไปประเทศอินเดียในครั้งนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้นำตัวอย่างลำไยคุณภาพดีจากพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งรักษาคุณภาพและความสดโดยฟิล์มบรรจุภัณฑ์แอคทีฟ ที่พัฒนาโดย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ไปนำเสนอเป็นต้นแบบ เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี มาช่วยกระตุ้นและส่งเสริมการส่งออกผลไม้ไทย ซึ่งในเบื้องต้นก็ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากภาคธุรกิจเอกชน และถือเป็นโอกาสขยายผลทางด้านการตลาด ที่จะผลักดันการส่งออกผลไม้ไทยให้มีมูลค่าเติบโตมากกว่าเดิม และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่เกษตรกรไทย อีกทั้งยังช่วยยกระดับลำไยไทยให้เป็นผลไม้เกรดพรีเมี่ยม ซึ่งจะสนับสนุนให้ราคาลำไยมีเสถียรภาพ และสามารถสร้างรายได้ที่ดีให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกลำไยด้วย ” นายวรวัจน์กล่าว
นอกจากนี้ในระหว่างการเดินทางเยือนประเทศอินเดีย นายวรวัจน์มีกำหนดการพบปะหารือกับภาคเอกชน รวมทั้งเยี่ยมชมการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าอาหารไทยและผลไม้ไทยที่ Supermarket Foodhall, Palladium, Phoenix Mill และหารือร่วมกับผู้บริหารบริษัท Future Value Retail Limited ซึ่งเป็นเครือข่ายซูเปอร์มาเก็ตชั้นนำของอินเดีย ที่เมืองมุมไบ ในวันที่ 26 มิถุนายน 2556 ก่อนที่จะเดินทางไปยังกรุงนิวเดลี เพื่อเยี่ยมคารวะและพบปะหารือกับ นาย Jaipal Reddy รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของอินเดีย ในวันที่ 27 มิถุนายน 2556
ทั้งนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกำลังเร่งบูรณาการงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อยกระดับการผลิตและระบบการตลาดของผลไม้ลำไย ทั้งในระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยในระดับต้นน้ำเน้นที่การนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศภาพถ่ายดาวเทียมมาประยุกต์ใช้ในการจัดการโซนนิ่งสวนลำไย รวมถึงการลงทะเบียนเกษตรกร การถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตรเพื่อใช้ในการรับรองมาตรฐาน GAP จากกรมวิชาการเกษตร การถ่ายทอดองค์ความรู้ ตั้งแต่เทคโนโลยีก่อนการเก็บเกี่ยว เทคโนโลยีระยะเก็บเกี่ยวผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ พร้อมการแจ้งข้อมูลให้กับเกษตรกรผ่านระบบ SMS และสื่อโทรทัศน์ดาวเทียมเกี่ยวกับองค์ความรู้ 52 สัปดาห์
ในระดับกลางน้ำ เน้นที่การนำเทคโนโลยีมาปรับปรุงคุณภาพโรงรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ให้ได้มาตรฐานสำหรับลำไยสด เทคโนโลยีการอบแห้งลำไย เทคโนโลยีการปรับคุณภาพห้องอบแห้งและประหยัดพลังงาน เทคโนโลยีการยืดอายุและบรรจุภัณฑ์ การแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มลำไย ส่วนในระดับปลายน้ำ เน้นที่การควบคุมคุณภาพผลผลิตลำไยที่เก็บจากสวนของเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเข้าร่วมโครงการ รวมถึงการตรวจสอบคุณภาพผลผลิตในระดับสวน พร้อมพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับผ่านระบบ QR Code รวมถึงการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการตลาดลำไยในต่างประเทศ ทั้งการพัฒนาระบบการตลาดเดิมในประเทศจีน เวียดนาม และอินโดนีเซีย รวมทั้งการส่งเสริมตลาดใหม่เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาด เช่น ประเทศอินเดีย เกาหลี มาเลเชีย อเมริกา เป็นต้น
ข่าวเด่น