เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ตอนที่ 23/2556: คนเคยค้างบัตรเครดิต เคลียร์แล้ว จะกู้บ้าน ควรคิดและทำอย่างไร


 

บทความวันนี้ผมขอเริ่มด้วยคำถามที่มีมายังเครดิตบูโรในลักษณะที่เรียกว่า เป็นคนเคยมีประวัติการค้างชำระหรือ "คนเคยค้าง" ต่อมามีการไปจ่ายส่วนที่ค้างเรียบร้อยแล้ว เคลียร์แล้ว ปัจจุบันบัญชีเป็นปกติ และมีเป้าหมายอยากจะกู้บ้านเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย คำถามที่เป็นคำพูดภาษาชาวบ้านมีดังนี้คือ ....ผมมีภาระผ่อนบัตรเครดิตและผ่อนรถ ก่อนหน้านี้เคยมีปัญหาจ่ายล่าช้า 2 งวด ตอนนี้ผมมีโครงการจะกู้ซื้อบ้าน อยากทราบว่าประวัติการชำระล่าช้าครั้งนั้น จะมีผลทำให้ธนาคารไม่อนุมัติเงินกู้ซื้อบ้านหรือไม่ และถ้าต่อมาผมผ่อนบัตรเครดิตและรถหมดแล้ว ประวัติล่าช้าที่ผ่านมาจะส่งผลต่อการอนุมัติซื้อบ้านด้วยหรือไม่ ผมมีเงินเดือน 18,000 บาท จะขอวงเงินกู้ซื้อบ้านได้ประมาณเท่าไร

คำตอบจะมีดังนี้นะครับ
 
1. ท่านที่ถามมีลักษณะที่เรียกว่า เป็นคนเคยค้าง ต่อมาเคลียร์แล้ว บัญชีเป็นปกติหรือถ้ามีการปิดบัญชีก็จะเรียกว่า บัญชีปิดแล้วยอดหนี้เป็นศูนย์ ไม่มีอะไรที่เรียกว่าติดเครดิตบูโร ติดบัญชีดำ ติดแบล็กลิสต์ เพราะคำเหล่านั้นไม่มีความหมายและไม่ตรงกับข้อเท็จจริง พูดไปก็รังแต่จะเป็นการให้ร้ายกับตัวเราเอง แช่งตัวเองปล่าวๆ
 
2. ท่านที่ถาม ทำถูกแล้วที่กลับไปชำระส่วนที่ค้างเพื่อให้บัญชีกลับมาเป็นปกติ อันนี้เป็นการแสดงความพยายามว่า "เป็นหนี้ก็ใช้หนี้ ไม่หนีหายไปไหน" การสร้างประวัติการชำระเงินที่ดี มีการชำระครบชำระตรงเข้ามาใหม่อย่างต่อเนื่องหลังการชำระล่าช้าเพื่อที่จะให้ประวัติใหม่เกิดขึ้นและดันประวัติเก่าออกไปทีละเดือนจนครบ 36 เดือน
 
3. เมื่อมีการปิดบัญชีแล้ว สถาบันการเงินที่ออกบัตรกับให้กู้รถยนต์จะรายงานข้อมูลเครดยอดหนี้เป็นศูนย์ สถานะปิดบัญชี และหยุดนำส่งรายงานเครดิตบูโร ทำให้สถานะบัญชีแสดงสถานะปิดบัญชีและหยุดนิ่งในเดือนที่ปิดบัญชีนั้น ส่วนของข้อมูลเครดิตบูโรเดือนเก่าๆ ก่อนหน้าเดือนที่ปิดบัญชีนั้นเมื่อครบระยะเวลา 3 ปีนับแต่วันที่ถูกส่งเข้าก็จะถูกลบออกไปทีละเดือน จนชนเดือนที่ปิดบัญชีข้อมูลบัญชีนี้จึงจะถูกลบออกไปทั้งบัญชี เช่น มีประวัติค้างชำระที่ถูกส่งเข้ามาเดือนเมษายน 2554 ข้อมูลนี้จะออกไปในเดือนเมษายน 2557 เป็นต้น ทั้งนี้ตามที่กฎหมายกำหนดและสอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำของสากล
 
4. สถาบันการเงินหรือธนาคารที่จะท่านผู้ถามจะไปขอกู้บ้านนั้นจะพิจารณาเรื่อง ความสามารถในการชำระหนี้หรือ Ability to pay เป็นหลักคือจะดูว่าจากรายได้ปัจจุบันที่ 18,000 บาทต่อเดือน มีภาระค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ (ตามปกติก็ไม่ควรเกิน 30% หรือ 6,000 บาทต่อเดือน) มีการออมเก็บไว้หรือไม่ และมีภาระหนี้อื่นๆ ก่อนที่จะมาขอกู้ครั้งนี้กี่มากน้อย (ตามเกณฑ์มาตรฐานก็ไม่ควรเกิน 40% ของรายได้หรือในที่นี้ก็ไม่ควรเกิน 7,200 บาทต่อเดือน) 
 
5. สถาบันการเงินหรือธนาคารจะพิจารณาประวัติการก่อหนี้ การชำระหนี้บัตรเครดิต กับเงินกู้รถในอดีตว่าที่ผู้ถามมีพฤติกรรมการใช้หนี้เป็นอย่างไรกรณีเคยค้างชำระ 1-2 เดือน ปัจจุบันปิดบัญชี สถาบันการเงินก็อาจนำมาเป็นหลักเกณฑ์หนึ่งในการพิจารณา เพราะหากเพิ่งจะเกิดการชำระหนี้ที่ค้างเมื่อไม่นานมานี้ก็อาจมีผลในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ ดังนั้น จึงต้องมีการอธิบายเพิ่มว่าเพราะอะไรจึงไปเกิดการค้างชำระในเวลานั้น หากเหตุการณ์เกิดมานานมากแล้วเช่นเกิดเมื่อ 2 ปีที่แล้วและอธิบายได้ก็แทบไม่มีผลลบต่อการพิจารณา
 
6. ข้อแนะนำของเครดิตบูโรคือก่อนยื่นขอสินเชื่อ 6 เดือนหรือ 1 ปี แนะนำให้สร้างประวัติการออม โดยฝากเงินเดินบัญชีอย่างสม่ำเสมอกับสถาบันการเงินหรือธนาคารที่ต้องการกู้ สำหรับวงเงินกู้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ของสถาบันการเงินหรือธนาคารนั้นๆ โดยคำนวณจากรายได้ ภาระหนี้จำนวนปีในการผ่อนชำระ อายุของผู้กู้ ท่านผู้ถามสมารถสอบถามกับสถาบันการเงินหรือธนาคารนั้นๆ ได้โดยตรงว่ากู้บ้านได้กี่เท่าของรายได้ปัจจุบัน     
               
 

สุรพล โอภาสเสถียร

 

    ผู้จัดการใหญ่ 

บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด

LastUpdate 26/06/2556 11:24:38 โดย : Admin
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 3:57 pm