บอร์ด ธ.ก.ส.จัดวงเงิน 60,000 ล้านบาท และออกมาตรการเพื่อช่วยเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการปรับเงื่อนไขและการลดราคารับจำนำข้าว โดยลดดอกเบี้ยเงินกู้ทั้งสัญญาเดิมและเงินกู้ใหม่ลงร้อยละ 3 พร้อมงดคิดดอกเบี้ยการใช้บัตรสินเชื่อเกษตรกร และช่วยจ่ายสมทบค่าเบี้ยประกันภัยนาข้าว ให้ฟรีอีกครึ่งหนึ่ง หวังช่วยลดต้นทุนการผลิตและลดความเสี่ยงจากการทำการเกษตร เตรียมอัดฉีดเงินทุนดอกเบี้ยพิเศษ MLR-1 ให้สถาบันเกษตรกรนำไปรวบรวมข้าวเปลือกจากสมาชิก
นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ ธ.ก.ส.มีมติเห็นชอบให้ดำเนินมาตรการดูแลเกษตรกร ซึ่งได้รับผลกระทบจากการปรับเงื่อนไขโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2555/56 จำนวนประมาณ 200,000 ราย รวมวงเงินประมาณ 60,000 ล้านบาท แยกเป็น
1. มาตรการลดภาระดอกเบี้ยเงินกู้เดิมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการผลิตข้าวที่เกษตรกรนำมาจำนำลงร้อยละ 3 โดยประมาณการวงเงินกู้เดิมที่เกษตรกรจะได้รับประโยชน์จำนวน 36,969 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยลดภาระดอกเบี้ยให้เกษตรกรได้ประมาณ 1,109 ล้านบาท
2. มาตรการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการผลิตข้าว ปีการผลิต 2556/57 โดยการลดดอกเบี้ยเงินกู้จากอัตราปกติที่เกษตรกรเคยเสียลงอีกร้อยละ 3 ทั้งนี้ต้องเป็นสัญญากู้เงินที่เบิกรับเงินกู้ตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2556 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2557 วงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะลดภาระดอกเบี้ยให้เกษตรกรได้ประมาณ450 ล้านบาท
3. มาตรการสนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ MLR-1 ให้แก่สถาบันเกษตรกร เพื่อนำไปรวบรวมข้าวเปลือกจากสมาชิก วงเงินสินเชื่อ 4,000 ล้านบาท โดยจะช่วยลดภาระดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรจำนวน 40 ล้านบาท 4.งดคิดดอกเบี้ยจากการใช้บัตรสินเชื่อเกษตรกร ตั้งแต่วันที่ใช้บัตรจนถึงวันครบกำหนดชำระ วงเงินบัตรสินเชื่อ 4,000 ล้านบาท โดยช่วยลดภาระดอกเบี้ยให้เกษตรกรได้ประมาณ 280 ล้านบาท และ5. มาตรการให้สิทธิเข้าร่วมโครงการประกันภัยนาข้าวตามนโยบายรัฐบาล โดย ธ.ก.ส.สมทบค่าเบี้ยประกันในส่วนที่เกษตรกรลูกค้าต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยครึ่งหนึ่ง คาดว่ามีพื้นที่เพาะปลูกที่เข้าร่วมโครงการ 6.16 ล้านไร่ ค่าเบี้ยประกันภัย 92 ล้านบาท
นายทนุศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า มาตรการดังกล่าวจะช่วยลดภาระต้นทุนเรื่องดอกเบี้ยให้แก่เกษตรกรได้โดยตรง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,063 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นความตั้งใจของรัฐบาลที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนแก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ อย่างไรก็ตามการดำเนินงานตามมาตรการดังกล่าว ธ.ก.ส.จะขอให้รัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง เป็นผู้จ่ายชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นแทนเกษตรกร ทั้งนี้ เพื่อมิให้ภาระดังกล่าวส่งผลกระทบต่อ ธ.ก.ส.
ข่าวเด่น