ประเด็นสำคัญ
•การส่งออกของไทยไปจีนเดือนพฤษภาคม 2556 หดตัวร้อยละ 16.3 (YoY) ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และหดตัวสูงสุดในรอบ 46 เดือน นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2552 สินค้าส่งออกส่วนใหญ่ชะลอตัวและหลายรายการหดตัวค่อนข้างมาก อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ยางพารา น้ำมันสำเร็จรูป แผงวงจรไฟฟ้า มอเตอร์ ผลไม้ เครื่องจักร และน้ำตาลทราย เป็นต้น
•ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกของไทยไปจีนในปี 2556 น่าจะรักษาการเติบโตในเกณฑ์บวกไว้ได้ที่ใกล้เคียงร้อยละ 1.0 หากเศรษฐกิจจีนครึ่งหลังประคองตัวเติบโตได้ตามเป้าหมายของทางการจีนที่ตั้งไว้ที่ร้อยละ 7.5
การส่งออกของไทยไปจีนในเดือนพฤษภาคมหดตัวเป็นเลขสองหลักครั้งแรกในปี 2556 ในอัตราร้อยละ 16.3 (YoY) และเป็นอัตราต่ำที่สุดในรอบเกือบ 4 ปี จากที่เคยประสบภาวะหดตัวจากผลของวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2551-2552 ที่กดดันภาคการผลิตและการส่งออกของจีนอันเป็นหนึ่งในห่วงโซ่การผลิตโลกและส่งผลโดยอ้อมสู่การส่งออกของไทยไปจีนหดตัว ซึ่งต่างกับในครั้งนี้ที่การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนมีปัจจัยใหม่ประกอบ ที่เกิดจากผลของเศรษฐกิจภายในประเทศจีนอ่อนแรงลง อันส่งผลต่อไทยอย่างเลี่ยงได้ยากเนื่องจากจีนเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย มีสัดส่วนถึงร้อยละ 11.7 ของการส่งออกทั้งหมดของไทยในขณะนี้ จึงต้องจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
เศรษฐกิจจีนที่เริ่มชะลอตัวชัดเจน อาจฉุดรั้งการส่งออกของไทยไปจีนต่อเนื่อง
เศรษฐกิจจีนเติบโตในเกณฑ์สูงมาโดยตลอด จีนจึงเป็นหนึ่งในตลาดหลักที่ช่วยประคองการส่งออกโดยรวมของไทยเติบโตต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา แต่หลายสัญญาณของเศรษฐกิจจีนในปี 2556 นี้เริ่มชะลอตัว โดยในไตรมาสแรกเติบโตร้อยละ 7.7 (YoY) ฉุดให้การส่งออกไทยไปจีนในไตรมาสแรกเติบโตเหลือร้อยละ 7.3 (YoY) ตามมาด้วยในเดือนเมษายนหดตัวร้อยละ 6.6 (YoY) ทั้งยังหดตัวต่อเนื่องเป็นร้อยละ 16.3 (YoY) ในเดือนพฤษภาคม ส่งผลให้ยอดการส่งออกรวมในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ หดตัวร้อยละ 0.9 (YoY) ทั้งนี้ ภาพเศรษฐกิจจีนที่เริ่มชะลอตัวชัดเจน อาจส่งผลฉุดรั้งการส่งออกของไทยไปจีนต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีได้
สินค้าส่งออกของไทยไปจีนส่วนใหญ่ชะลอตัว บางรายการเริ่มหดตัวในเดือนพฤษภาคม โดยสินค้าเกษตรและกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตรหดตัวร้อยละ 9.1 (YoY) และร้อยละ 66.8 (YoY) ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลจากราคาสินค้ายางพาราในปีนี้ปรับตัวลดลงจากปีก่อนที่อยู่ในเกณฑ์สูง และการชะลอการนำเข้าน้ำตาลทรายของจีนที่น่าจะส่งผลต่อเนื่องในช่วงปีนี้ สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 11.8 (YoY) โดยสินค้าที่หดตัวต่อเนื่องหลายเดือน ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และมอเตอร์และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า รวมถึงสินค้าเชื้อเพลิงหดตัวร้อยละ 30.8 (YoY)
ทั้งนี้ การส่งออกของไทยไปจีนที่หดตัวลงน่าจะเป็นภาพสืบเนื่องจากทั้งภาคการส่งออกของจีนที่อ่อนแรงลงชัดเจน กระทบการผลิตของจีนชะลอตัว โดยคำสั่งซื้อจากภาคต่างประเทศกดดันให้การส่งออกของจีนในเดือนพฤษภาคมค่อนข้างน่าผิดหวัง โดยเติบโตเพียงร้อยละ 1.0 (YoY) ต่ำสุดในรอบ 10 เดือน จากที่เติบโตร้อยละ 14.7 (YoY) ในเดือนเมษายน ประกอบกับการบริโภคในประเทศที่ถูกจำกัดจากการคุมเข้มด้วยมาตรการทางการเงินเพื่อสกัดกั้นภาวะเงินเฟ้อและชะลอความร้อนแรงของภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี ด้วยผลทั้ง 2 ด้านประกอบกัน กดดันให้สินค้าจากไทยที่ส่งออกไปจีนเพื่อรองรับการผลิตและการบริโภคในเดือนพฤษภาคมหดตัวสูงดังที่ปรากฏ ซึ่งเป็นแนวโน้มที่สอดคล้องกับภาพรวมการนำเข้าของจีนที่ลดลงร้อยละ 0.3 (YoY) จากที่ขยายตัวถึงร้อยละ 16.8 (YoY) ในเดือนก่อนหน้า
ปัจจัยหนุนยังอ่อนแรง กดดันเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน
ล่าสุด (12 มิถุนายน 2556) ธนาคารโลก (World Bank) ได้ประกาศปรับลดประมาณการเศรษฐกิจจีนในปี 2556 ลงเหลือเติบโตร้อยละ 7.7 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 8.4 เนื่องจากหลายเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจของจีนในช่วงที่ผ่านมาตอกย้ำภาพเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวชัดเจนมากขึ้น ทั้งภาคการผลิตและการค้ากับต่างประเทศ สอดคล้องกับนักวิเคราะห์หลายสถาบันต่างปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจีนลงเช่นกัน พร้อมทั้งมีบางมุมมองที่คาดว่าเศรษฐกิจจีนอาจเติบโตต่ำกว่าเป้าหมายของรัฐบาลจีนที่ตั้งไว้ที่ร้อยละ 7.5 ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ก็หมายความว่าเศรษฐกิจจีนอาจเติบโตพลาดเป้าหมายเป็นครั้งแรกในรอบ 16 ปี จากที่ล่าสุดเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจของเอเชียปี 2541 ที่ขยายตัวร้อยละ 7.8 คลาดเคลื่อนจากเป้าหมายที่ร้อยละ 8.0
นอกจากนี้ เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ที่เป็นอีกแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจจีนได้อ่อนแรงลง สะท้อนจาก FDI ในช่วง 5 เดือนแรกมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง หลังจากที่ในเดือนกุมภาพันธ์พลิกมาขยายตัวเป็นบวกได้ที่ร้อยละ 6.3 (YoY) แต่จากนั้นกลับชะลอตัวลงมาเป็นลำดับจนกระทั่งในเดือนพฤษภาคมขยายตัวต่ำที่ร้อยละ 0.29 (YoY) ซึ่งตอกย้ำภาพเศรษฐกิจจีนในระยะข้างหน้าที่อาจเผชิญความท้าทายในการประคองเศรษฐกิจช่วงที่เหลือของปี 2556 ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเศรษฐกิจจีนเองบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนและบรรยากาศการลงทุนในประเทศ แม้ว่าทางการจีนจะมีความพยายามดึงดูด FDI โดยผ่อนคลายกฎระเบียบการลงทุนตั้งแต่ช่วงปลายปี 2555 สืบเนื่องถึงต้นเดือนพฤษภาคม 2556 ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกกฎระเบียบขั้นตอนการขออนุมัติการลงทุน ปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวเนื่องกับการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของนักลงทุน และการกระจายอำนาจในการอนุมัติการลงทุนไปยังส่วนภูมิภาคมากขึ้น
โดยภาพรวมแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การส่งออกของไทยไปจีนในช่วงที่เหลือของปีคงหลีกเลี่ยงแรงกดดันจากภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนได้ยาก เนื่องจากจีนเองต้องเผชิญความไม่แน่นอนจากปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจโลก รวมทั้งความเปราะบางเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจที่ต้องเร่งปฏิรูปเพื่อสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ นับเป็นความท้าทายของทางการจีนในพลิกฟื้นเศรษฐกิจจีนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ว่าจะสามารถประคองตัวในช่วงที่เหลือของปีเติบโตได้ใกล้เคียงกับเป้าหมายของทางการจีนได้หรือไม่ โดยมองว่า หากทางการจีนสามารถประคองเศรษฐกิจตลอดปีเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ร้อยละ 7.5 การส่งออกของไทยไปจีนในปีนี้น่าจะยังคงรักษาระดับการเติบโตในแดนบวกไว้ได้ในระดับต่ำใกล้เคียงร้อยละ 1.0 และหากเศรษฐกิจเติบโตต่ำกว่าเป้าหมายดังกล่าวมีความเป็นไปได้อย่างมากที่การส่งออกของไทยไปจีนจะร่วงลงสู่แดนลบอย่างเลี่ยงได้ยาก
ข่าวเด่น