เชฟรอนประเทศไทยและ CAT แถลงความสำเร็จของการเริ่มใช้งานระบบโครงข่ายเคเบิลใยแก้วใต้น้ำอ่าวไทย ที่ออกแบบมาเพื่อพัฒนาการสื่อสารและรองรับการเติบโตในอนาคตของอุตสาหกรรมการสำรวจและผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของประเทศ
โครงการระบบเคเบิลใยแก้วใต้น้ำอ่าวไทยเป็นความร่วมมือระหว่างเชฟรอนประเทศไทย หนึ่งในบริษัทชั้นนำด้านการสำรวจและผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติของประเทศ และ CAT บริษัทชั้นนำด้านการสื่อสารและการโทรคมนาคมของไทย โครงการนี้ได้รับการออกแบบเพื่อพัฒนาการทำงานและการสื่อสารระหว่างสำนักงานบนฝั่งและฐานปฏิบัติการกลางทะเลผ่านระบบเครือข่ายเคเบิลใยแก้ใต้น้ำล้ำสมัยความเร็วสูง โดยระบบใหม่นี้มีแบนด์วิธที่มากกว่าระบบสัญญานดาวเทียมและคลื่นวิทยุไมโครเวฟเดิมถึง 100 เท่า ซึ่งจะช่วยให้เชฟรอนประเทศไทยสามารถส่งผ่านข้อมูลต่างๆ ได้ด้วยความเร็วสูง
นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า “เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ถือเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้เชฟรอนสามารถดำเนินงานได้อย่างปลอดภัย ราบรื่น และมีประสิทธิภาพ ที่เชฟรอน ระบบไอทีทำหน้าที่เชื่อมต่อการสื่อสาร ทั้งจากสำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพมหานคร สำนักงานสาขาที่สงขลา ชลบุรี และนครศรีธรรมราช ไปยังฐานปฏิบัติการบนแท่นผลิตปิโตรเลียมกลาง ซึ่งเปรียบเสมือนโรงผลิตพลังงานกลางทะเล ดังนั้นระบบไอทีที่รวดเร็วและมีความเสถียรจึงมีบทบาทสำคัญต่อศักยภาพการทำงาน"
“ด้วยระบบเคเบิลใยแก้วใต้น้ำใหม่นี้ เราสามารถติดตามและประมวลผลข้อมูลต่างๆ จากฐานปฏิบัติการทั้ง 8 แห่งกลางอ่าวไทยได้อย่างแม่นยำและฉับไว เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการดำเนินงานหรือการตัดสินใจอย่างถูกต้องและทันท่วงที โดยในปัจจุบัน พนักงานบนแท่นผลิตกลางของเราสามารถสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลได้ด้วยความเร็วเทียบเท่ากับการทำงานในสำนักงานบนฝั่งทั่วไป นอกจากนั้น ยังเปิดโอกาสให้เชฟรอนสามารถคิดค้นพัฒนาไปข้างหน้าเพื่อตอบโจทย์แผนธุรกิจของเราในอนาคตได้อีกด้วย” นายไพโรจน์ กวียานันท์ กล่าวสรุป
นายสุรพล สงวนศิลป์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานผลิตภัณฑ์ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)กล่าว “CAT เรามีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้จัดสร้างระบบเคเบิลใต้น้ำซึ่งมีมาตรฐานระดับสูง ให้กับการใช้งานในองค์กรของเชฟรอน ซึ่งทั้งจากการทดสอบและการใช้งานจริงยังไม่เคยเกิดปัญหาใดๆ จึงสามารถยืนยันได้ถึงคุณภาพการใช้งานบนระบบที่ดีที่สุดระบบหนึ่งในขณะนี้ สำหรับการวางโครงข่ายเพื่อการให้บริการสื่อสารข้อมูลซึ่งปีนี้ CAT มีเป้ารายได้อยู่ที่ 5,000 กว่าล้านบาท เราก็ได้มีแผนธุรกิจรองรับทั้งการขยายโครงข่ายเพื่อการพัฒนาตลาดไปสู่ระดับภูมิภาค โดยการจัดสร้างระบบเคเบิลใต้น้ำอ่าวไทยเพื่อการให้บริการกับกลุ่มธุรกิจพลังงาน แล้วยังเป็นการเสริมศักยภาพโครงข่ายสำหรับการส่งผ่านข้อมูลภายในประเทศ และการระหว่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้บริการในกลุ่มประเทศอินโดไชน่าหรือประเทศเพื่อนของเราอย่าง ลาว พม่า กัมพูชา ซึ่งยังไม่มีระบบโครงข่ายออกต่างประเทศของตนเอง ทำให้สามารถสร้างรายได้ให้กับเราเพิ่มขึ้นปีละกว่า 600 ล้านบาท อีกส่วนคือการพัฒนาบริการเพื่อรองรับการขยายไปในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเปิดให้ไลเซนต์ดิจิตอลทีวีในปีนี้ เราได้เตรียมความพร้อมโครงข่ายเพื่อรองรับ Digital TV Network ซึ่งจะเป็นการให้บริการ Facility และ Transmission แก่กลุ่ม Network Provider และ กลุ่ม Content Provider เพื่อช่วยให้โครงข่ายดิจิตอลทีวีสามารถครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศรวดได้อย่างรวดเร็วที่สุด รวมไปถึงการพัฒนาระบบ GPS Tracking ผ่านโครงข่ายดาวเทียม เพื่อติดตามยานพาหนะขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทั้งทางบกและทางทะเล รองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และสำหรับทั้งหมดนี้เรามั่นใจว่า CAT เป็นผู้ให้บริการที่มีความพร้อมในทุกโครงข่ายมากที่สุดขณะนี้ที่จะพัฒนาต่อยอดการให้บริการที่หลากหลายไปสู่การเพิ่มรายได้ให้กับ CAT ได้อีกมาก”
ข่าวเด่น