ไอที
ติดมือถือ-เน็ตระวัง"สมองเสื่อม"








 

 
 
 
 ที่ผ่านมานับว่า มีรายงานถึงผลพวงจากการใช้เวลาอยู่ในโลกดิจิตอลมากเกินไป ทั้งการโทร การแชท ท่องโลกออนไลน์ เล่นเกมส์ หรือพูดคุยกับเพื่อนพ้องในเครือข่ายสังคมออนไลน์ผ่านอุปกรณ์ต่าง ๆ ทั้งคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และแทบเล็ต เช่น โรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม (Computer Vision Syndrome)ที่เกิดจากการเพ่งหน้าจอตลอดเวลา ทำให้เกิดอาการดวงตาตึงเครียด ตาล้า,โรค BB Thumbที่เกิดจากแชตคุยกับเพื่อน ๆ มากไป, โรคติดเกม และที่เพิ่งมาใหม่หน่อย คือ โรคแชตในขณะหลับ หรือที่เรียกว่า "Sleep Texting"  
 
 
 
 
ล่าสุดมีโรคเพิ่มมาอีก คือ "digital dementia" หรือ "ความจำเสื่อมจากโลกดิจิตอล"  ใครที่คิดว่า ใช้อุปกรณ์คู่กายเกือบตลอดเวลา คงต้องระมัดระวังกันมากกว่าใคร
 
 
กล่าวได้ว่า โรคต่าง ๆ ที่เกิดจากการใช้อุปกรณ์สื่อสารไฮเทคที่ผ่านมา มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในยุคปัจจุบันที่ช่วยอำนวยความสะดวกสบายทั้งในด้านการสื่อสาร การค้นหาข้อมูล อีกทั้งยังช่วยให้แสวงหาความบันเทิงสนุกสนานส่วนตัวได้อย่างง่ายดายขึ้น จึงส่งผลให้คนส่วนใหญ่ใช้เวลากับอุปกรณ์ที่อาจเป็นมือถือ แทบเล็ต หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ภายในบ้านมากเกินไป โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นมักใช้อุปกรณ์เหล่านี้มากกว่าวัยอื่นๆ
 
 
 
 
สำหรับ "digital dementia" ได้รับการเปิดเผย โดย ดร.ยุน จี-วอน แพทย์ประจำศูนย์วิจัยสมดุลสมอง จากแดนเกาหลีใต้ โดยกล่าวว่า  ภาวะที่ชาวโลกใกล้ชิดอุปกรณ์ไฮเทคหรือโลกดิจิตอลเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดโรคใหม่ที่เขานิยามว่า  "โรคความจำเสื่อมจากโลกดิจิตอล" ซึ่งหมายถึง การมีปัญหาความจำเสื่อมถอย จนจดจำรายละเอียดในชีวิตประจำวันต่างๆ ไม่ได้ เช่น หมายเลขโทรศัพท์และอื่น ๆ เกาหลีใต้ก็เป็นประเทศหนึ่งที่ประสบปัญหานี้มากเมื่อเทียบกับเมื่อช่วงปี 1990  
  
 
 
 
 
สาเหตุที่ทำให้พลังสมองของผู้ที่ติดอยู่ในโลกดิจิตอลมากเกินไปลดลง มาจากการใช้สมาร์ทโฟนหรือเล่นเกมส์ออนไลน์บ่อยๆ มีผลทำให้พัฒนาการของสมองชะงักงัน โดยสมองซีกซ้ายจะมีการพัฒนามากกว่าซีกขวา หรืออีกนัยหนึ่ง สมองซีกขวามีการพัฒนาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งสมองซีกขวานั้นนับว่ามีความสำคัญ เนื่องจากเป็นส่วนที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการใช้สมาธิหรือรวบรวมข้อมูล การพัฒนาที่ต่ำจึงกระทบต่อความจำและความสนใจ ทำให้มีอาการความจำเสื่อมก่อนวัย 15% โดยเด็กเสี่ยงสูงกว่าผู้ใหญ่ เพราะเด็กมีสมองที่จะต้องพัฒนามากกว่าผู้ใหญ่
 
 
 
 
สิ่งที่น่ากังวลคือ มีแนวโน้มว่า สถานการณ์หรือโรคไฮเทคล่าสุดนี้จะยิ่งเลวร้ายลงไปอีกมาจากความจริงที่ว่า ในยุคปัจจุบันมีเด็ก ๆ อายุน้อย 10-19 ปี ใช้มือถือกันแล้ว และใช้เวลาอยู่กับอุปกรณ์สื่อสารชนิดนี้กันนานด้วย โดยจาก ที่ดร.ยุนศึกษาเฉพาะในเกาหลีใต้ พบว่า  เด็ก ๆใช้มือถือกันมากกว่า 7 ชั่วโมงต่อวัน มีอยู่ประมาณ 18.4% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 7% ส่วนผู้ใช้มือถือหรือสมาร์ทโฟนเป็นวัยรุ่นมากกว่า 64% เพิ่มจากปีที่แล้วที่มีเพียง 21.4 % เท่านั้น
 
 
 
 
แม้จะเป็นผลงานการศึกษาในแดนโสม แต่ประเทศอื่น ๆ ก็ไม่ควรประมาท เพราะอุปกรณ์สื่อสารสมัยใหม่นี้มีใช้กันแพร่หลายทั่วโลก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากจะเกิดขึ้นได้ภายในครอบครัว
 
 
 
 
ดังนั้นบรรดาผู้ปกครองควรระมัดระวัง จำกัดเวลาในการเล่นอุปกรณ์ต่าง ๆของบุตรหลาน ไม่ให้มากเกินไป ชักชวนให้ทำกิจกรรมหรือพบปะกับเพื่อน ๆ นอกบ้านบ้าง  แต่ไม่ได้หมายถึง การคุมเข้มจนเป็นการปิดกั้นความรู้ในการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ไป ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบให้ต้องตามแก้ไขกันในภายหลัง

LastUpdate 04/07/2556 08:05:07 โดย : Admin
20-04-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2025, 1:50 am