หลังจาก บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศจับมือร่วมกับ "เอฟแอนด์เอ็น เบเวอเรจเจส มาร์เก็ตติ้ง เอสดีเอ็น บีเอชดี หรือ เอฟแอนด์เอ็นเบเวอเรจเจส” ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ บริษัท เฟรเซอร์ แอนด์ นีซ โฮลดิ้งส์ เบอร์ฮาด ในประเทศมาเลเซีย ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นบริษัทในเครือไทยเบฟไปเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจของโออิชิในการบุกตลาดอาเซียน
จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าว ส่งผลให้โออิชิ ต้องออกมาปรับโครงสร้างภายในองค์กร เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง ด้วยการแต่งตั้ง "นายมารุต บูรณะเศรษฐกุล" ขึ้นดำรงตำแหน่ง "กรรมการบริษัท และกรรมการผู้จัดการคนใหม่" โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. นี้เป็นต้นไป
ขณะที่ "นายแมทธิว กิจโอธาน" ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการ ยังคงดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทต่อไป แต่จะวางมือจากการบริหารงานประจำวันของบริษัทให้อยู่ภายใต้การดูแลของนายมารุต ส่วนนายแมทธิว คาดว่าจะไปดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงในเอฟแอนด์เอ็น เพื่อสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ดีระหว่าง 2 บริษัท
นายแมทธิว กิจโอธาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การดึงนายมารุต เข้ามาร่วมงานในครั้งนี้ เพราะมีความคุ้นเคยและเข้าใจในธุรกิจของเครือโออิชิเป็นอย่างดี จึงถือเป็นบุคคลที่มีความเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะสานต่อภารกิจของโออิชิ โดยตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา นายมารุตได้เตรียมความพร้อมด้วยการเข้ามารับตำแหน่งกรรมการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป และทำงานร่วมกับทีมบริหารของโออิชิอย่างใกล้ชิด
จากความสามารถที่นายมารุต ได้เข้ามาพิสูจน์ฝีมือไว้ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ทำให้นายแมทธิว มั่นใจว่า การเปลี่ยนแปลงผู้บริหารในครั้งนี้จะเป็นไปอย่างราบรื่นไร้รอยต่อ โดยมีนายมารุต เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนโออิชิให้เติบโตตามแผนธุรกิจที่ได้วางไว้ในอนาคต
ก่อนหน้าที่นายมารุต บูรณะเศรษฐกุล จะเข้ามาดำรงเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) นายมารุต เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ดูแลรับผิดชอบงานด้านการตลาด รวมไปถึงดูแลกลุ่มธุรกิจนอนแอลกอฮอล์ และบริหารกลุ่มงานสนับสนุนองค์กรของไทยเบฟ
ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ นายแมทธิว ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป ถือว่ามีส่วนสำคัญในการสร้างความแข็งแกร่งอย่างมาก เช่น การผลักดันให้ โออิชิ ขึ้นเป็นในผู้นำด้านนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ระดับแนวหน้าของประเทศ ด้วยการบริหารงานอย่างมืออาชีพ นอกจากนี้ยังช่วยผลักดันให้ โออิชิ มียอดขายที่เติบโตแบบก้าวกระโดดจาก 8,700 ล้านบาท ในปี 2553 เป็น 11,600 ล้านบาทในปี 2555
จากการเปลี่ยนแม่ทัพบริษัทองค์กรในครั้งนี้ โออิชิ ยังคงเดินหน้าขายธุรกิจเครื่องดื่มสไตล์ญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง เพื่อขึ้นเป็นผู้นำระดับภูมิภาคในตลาดเครื่องดื่มสไตล์ญี่ปุ่น โดยในอีก 5 ปีข้างหน้า โออิชิ คาดว่าจะมียอดขายไม่ต่ำกว่า 31,000 ล้านบาท จากเป้าหมายในสิ้นปีนี้ที่คาดว่าจะมียอดขายอยู่ที่ประมาณ 14,000 ล้านบาท เนื่องจากมีการขยายธุรกิจเครื่องดื่มและอาหารอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ
นายมารุต บูรณะเศรษฐกุล กรรมการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังจากเข้ามารับตำแหน่งในวันที่ 1 ส.ค. นี้ ภารกิจที่มีความสำคัญลำดับแรกที่จะเข้ามาดำเนินการหลังจากการรับตำแหน่ง คือ การมุ่งขยายธุรกิจทั้งในส่วนอาหารและเครื่องดื่มให้เติบโตยิ่งขึ้นในระดับภูมิภาค ควบคู่ไปกับการครองความเป็นผู้นำในประเทศ เพื่อตอกย้ำเจตนารมณ์ของโออิชิ ที่มุ่งเป็นองค์กรที่สามารถสร้างผลกำไรได้อย่างยั่งยืนในระยะยาวในภูมิภาคอาเซียน
นอกจากได้นายมารุต บูรณะเศรษฐกุล เป็นแม่ทัพใหญ่และคุมภาพรวม โออิชิ ยังมีื"นายไพศาล อ่าวสถาพร" เป็นแม่ทัพดูธุรกิจอาหาร ดำรงตำแหน่งเป็นรองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร และมี "นายอนิรุทธิ์ มหธร" เป็นแม่ทัพดูแลด้านธุรกิจเครื่องดื่ม ดำรงตำแหน่งเป็นรองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจเครื่องดื่ม
นายไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในส่วนของธุรกิจอาหารปีนี้มีแผนที่จะขยายสาขาใหม่เพิ่มอีก 50 แห่ง ภายใต้งบลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท แบ่งเป็นงบการเปิดสาขาใหม่ 500 ล้านบาท และงบการทำตลาด 500 ล้านบาท โดยสาขาที่จะขยายสาขามากที่สุด คือ ร้านชาบูชิประมาณ 20 สาขา ตามด้วยร้านนิกูยะ 10 สาขา และทาคาชิ 10 สาขา
ปัจจุบัน โออิชิ มีร้านอาหารที่ดำเนินธุรกิจอยู่จำนวน 7 แบรนด์ รวม 143 สาขา ประกอบด้วย โออิชิ แกรนด์ 1 สาขา โออิชิ บุฟเฟต์ 17 สาขา ชาบูชิ 64 สาขา โออิชิ ราเมน 42 สาขา โออิชิ เดลิเวอรี่ 5 สาขา คาโซกูเตะ 8 สาขา นิคูยะ 5 สาขา และ คาคาชิ 1 สาขา
สำหรับผลการดำเนินงานของธุรกิจอาหารในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา มีการเติบโตประ มาณ 20% ซึ่งหลังจากทยอยเปิดสาขาอย่างต่อเนื่องคาดว่าภายในปี 2559 โออิชิ จะมีจำนวนร้านอาหารในเครือเปิดให้บริการทั้งหมดประมาณ 275 สาขา โดยในแต่ละปีจะเปิดสาขาใหม่อย่างต่ำปีละ 50 สาขา ภายใต้งบลงทุนปีละ 500 ล้านบาท โดยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้เปิดให้บริการไปแล้ว 13 สาขา
หลังจากเดินหน้าขยายสาขาใหม่อย่างต่อเนื่อง โออิชิ คาดว่าจะมียอดขายในสิ้นปีนี้ไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาท ขณะที่เป้าหมายตามแผนธุรกิจระยะยาว 5 ปี โออิชิ ตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 13,000 ล้านบาท เนื่องจากในอนาคต โออิชิ มีแผนที่จะขยายธุรกิจสู่การผลิตและจำหน่ายขนมขบเคี้ยว อาหารแช่เย็น และอาหารแช่แข็งครบวงจรเข้าทำตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ
นายอนิรุทธิ์ มหธร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจเครื่องดื่ม บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เป้าหมายการดำเนินธุรกิจเครื่องดื่มในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 7,000 ล้านบาท เนื่องจากล่าสุดได้เพิ่มกำลังการผลิตที่โรงงานนวนคร ด้วยงบการลงทุน 1,150 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 15 ล้านขวดต่อเดือน จากมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 65 ล้านขวดต่อเดือน เป็น 75 ล้านขวดต่อเดือน
นอกจากจะเดินหน้าขยายธุรกิจเครื่องดื่มในประเทศแล้ว ตลาดต่างประเทศก็เป็นอีกหนึ่งตลาดที่ โออิชิ จะให้ความสำคัญ โดยเฉพาะตลาดในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งหลังจากจับมือกับ เอฟแอนด์เอ็น จะทำให้ โออิชิมีความแข็งแกร่งในด้านของการทำตลาดต่างประเทศ
ด้วยเหตุนี้ โออิชิ จึงตั้งเป้าจะขึ้นแท่นหนึ่งในผู้นำธุรกิจเครื่องดื่มในระดับภูมิภาค ด้วยยอดขาย 18,000 ล้านบาท ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า ภายหลังจากการลงนามแต่งตั้งเอฟแอนด์เอ็น เป็นผู้จัดจำหน่ายของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มของโออิชิ ในตลาดมาเลเซียและสิงคโปร์เมื่อต้นเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ โออิชิ ยังมีแผนที่จะใช้ความแข็งแกร่งของบริษัท ไทยเบฟ ขยายตลาดในภูมิภาคยุโรปผ่านเครือข่ายการจัดจำหน่ายระหว่างประเทศของบริษัท ไทยเบฟ จากแผนการดำเนินธุรกิจดังกล่าวทำให้ โออิชิ วางเป้าหมายธุรกิจขึ้นเป็นผู้นำตลาดชาพร้อมดื่มในประเทศและการเป็นแบรนด์ชั้นนำระดับโลกในตลาดชาเขียวพร้อมดื่มและเครื่องดื่มสไตล์ญี่ปุ่น
ข่าวเด่น