เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
"จำนำข้าว "ทุจริตทุกขั้นตอน






 

 

 

การรับจำนำข้าวทุกเมล็ดของรัฐบาล "ทุจริตทุกขั้นตอน" นี่เป็นคำยืนยันจาก "น.ส.สุภา ปิยะจิตติ" รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว ที่ได้เข้าชี้แจงกับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การพาณิชย์ และอุตสาหกรรม วุฒิสภา เพื่อพิจารณาเรื่องโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล โดยได้มีการชี้แจง ตัวเลขเลขขาดทุนการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดรวมถึง การทุจริตและแนวทางการระบายข้าวคงค้างสต๊อก กว่า 18 ล้านตัน

โดยระหว่างการชี้แจงข้อซักถาม นางสุภา กล่าวว่า การรับจำนำข้าวทุกเมล็ด เกิดการทุจริตทุกขั้นตอน ตั้งแต่การจดทะเบียนเกษตรกร ที่แจ้งตัวเลขเกินความจริง โดยการสุ่มตรวจได้เพียง 10% เนื่องจากขาดกำลังคน รวมทั้งมีการนำข้าวเปลือกมาเวียนในโครงการ เพราะขั้นตอนการสีแปรข้าวต้องเก็บที่โรงสี ประมาณ 50 วัน เนื่องจากข้าวมีจำนวนมากเกินความสามารถในการสีแปรของโรงสี จึงมีมติให้รับข้าวได้ 50 เท่า ของความสามารถของโรงสี

ส่วนตัวเลขขาดทุนของโครงการรับจำนำข้าวใน 3 ฤดูกาลผลิต คือ ฤดูกาลผลิต 54/55 ฤดูกาลผลิต 55 และฤดูกาลผลิต 55/56 เบื้องต้น ตัวเลขขาดทุน 220,968 ล้านบาท หากรวมการดำเนินการถึงเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ตัวเลขการขาดทุนอาจจะมากกว่า ที่ประมาณการจากฝ่ายต่างๆ ที่มีการเปิดตัวเลขวันที่ 31 ม.ค.56 ใช้วงเงินกว่า 4.96 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลต้องจ่ายคืนให้ ธ.ก.ส.

ทั้งนี้โครงการรับจำนำข้าว แม้จะขาดทุนและมีการทุจริต แต่การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 ก.ค.56 ก็ยังมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ หรือ กขช. เสนอให้คงราคารับจำนำข้าวที่ตันละ 15,000 บาท จนถึง 15 ก.ย.56 และ 30 พ.ย.56 สำหรับพื้นที่ภาคใต้ โดยพิจารณาและตรวจสอบจากตัวเลขต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรวมถึงการตรวจสต๊อกข้าวแล้วเห็นว่ารัฐบาลอยู่ในฐานะที่พอจะช่วยได้

ด้านภาคเอกชน นายนิวัฒน์ กาญจนภูมินทร์ กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ได้เตือน กรณีที่รัฐบาลคงราคาการรับจำนำข้าวที่ตันละ 15,000 บาท ว่า รัฐบาลจะต้องมีความระมัดระวังต่อการใช้งบประมาณ เพราะอาจส่งผลต่อเครดิตของประเทศ

เนื่องจากสถาบันจัดอันดับเครดิต เคยประเมินแล้วว่า โครงการรับจำนำข้าวมีผลเสียต่องบประมาณ ซึ่งเครดิตของประเทศจะมีผลต่อแผนการลงทุนในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท เพราะจะมีผลต่อต้นทุนดอกเบี้ย

แม้มั่นใจว่า เสถียรภาพทางการเงินของไทยยังคงมีความมั่นคงจากทุนสำรองที่สูง ขณะที่หนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่กว่าร้อยละ 40 ยังไม่เกินขีดความสามารถในการชำระหนี้ โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล หากจะได้ผลดีทำให้เกษตรกรได้รับผลประโยชน์อย่างแท้จริง ตามนโยบายของรัฐบาล ก็จำเป็นที่รัฐบาลควรจะต้องวางแนวทางที่ชัดเจน มีการกำกับดูแลที่เข้มงวด เพื่อป้องกันการทุจริต และกลโกงที่เกิดขึ้นในทุกขั้นตอน 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 03 ก.ค. 2556 เวลา : 13:13:35
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 5:55 pm