แบงก์-นอนแบงก์
ฟิทช์ประกาศเครดิตพินิจ "แบงก์กรุงศรี" แนวโน้มเป็นบวก หลัง BTMU เข้าถือหุ้นใหญ่


บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศเครดิตพินิจ ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY  แนวโน้มเป็นบวก (Rating Watch Positive หรือ RWP) แก่อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Issuer Default Rating (IDR)) ที่ ‘BBB’ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น (Short-Term IDR) ที่ ‘F3’ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ที่ ‘AA-(tha)’ และ อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ (Support Rating) ที่ ‘3’  

การประกาศเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นบวกเป็นผลมาจากการที่ Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ, Ltd. (BTMU; ‘A’/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) ประกาศแผนการที่จะเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ BAY โดยการเสนอซื้อหุ้นสามัญในสัดส่วนไม่เกิน 75% และฟิทช์คาดว่าสัดส่วนการถือหุ้นดังกล่าวน่าจะส่งผลให้มีความเป็นไปได้อย่างสูงที่ BTMU จะให้การสนับสนุนกับ BAY

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ อันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิ
         

อันดับเครดิตและอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Rating) ของ BAY สะท้อนถึงความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร รวมถึงการสนับสนุนในด้านการดำเนินงานโดยรวม (ordinary support) จาก GE Capital International Holdings Corporation (GECIH) ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ถือหุ้นของธนาคารและมีสัดส่วนการถือหุ้นที่ 25%

BTMU เป็นบริษัทลูกที่มี Mitsubishi UFJ Financial Group (MUFG) เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดในธนาคาร MUFG เป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น ทั้งในด้านขนาดสินทรัพย์และส่วนแบ่งทางการตลาด (เงินฝาก 20% และสินเชื่อ 15%) และมีเครือข่ายธุรกิจแข็งแกร่งในประเทศต่างๆ ทั่วโลก แผนการเข้าซื้อกิจการ BAY ของ BTMU สอดคล้องกับกลยุทธ์การเติบโตของธุรกิจในต่างประเทศของกลุ่ม โดยเฉพาะการขยายการดำเนินงานไปยังธุรกิจธนาคารเพื่อลูกค้ารายย่อย (retail segment) ในภูมิภาคเอเชีย

BTMU จะทำการเสนอซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดของ BAY โดยสมัครใจ (Voluntary Tender offer หรือ VTO) ในเดือนพฤศจิกายน 2556 GECIH ได้ทำข้อตกลงในการเสนอขายหุ้นทั้งหมดใน BAY ให้กับ BTMU แต่ผู้ถือหุ้นดั้งเดิม ซึ่งคือกลุ่มรัตนรักษ์ จะยังคงถือหุ้นในสัดส่วนเดิมที่ 25% ก่อนการทำ VTO BTMU ต้องได้รับการอนุมัติในการทำรายการดังกล่าวจากหน่วนงานรัฐและผู้ถือหุ้นของธนาคาร โดยเฉพาะจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง ในการอนุมัติผ่อนผันในเรื่องสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติที่จำกัดไว้ที่ไม่เกิน 25% ตามกฎหมาย เนื่องจากนโยบายสถาบันการเงิน 1 รูปแบบของ ธปท. ส่งผลให้ BAY และ สาขาในประเทศไทยของ BTMU จะต้องรวมกิจการกัน หลังจากที่ BTMU เข้ามาถือหุ้นใน BAY แม้ว่าสัดส่วนการถือหุ้นจะต่ำกว่า 50% ก็ตาม

การประกาศอันดับเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นบวกแก่อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันสกลุลเงินบาท เนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวมีอันดับเครดิตอยู่ที่ระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ BAY เพราะหุ้นกู้ดังกล่าวเป็นภาระผูกพันที่ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกันของธนาคาร

อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกัน (ตามเกณฑ์ Basel II) ได้รับการประกาศอันดับเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นบวกด้วยเช่นกัน อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวมีอันดับเครดิตต่ำกว่าอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ BAY อยู่ 1 อันดับ เพื่อสะท้อนถึงลักษณะด้อยสิทธิของหุ้นกู้ และฟิทช์เชื่อว่าหากธนาคารมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการสนับสนุนจากธนาคารแม่ การสนับสนุนดังกล่าวน่าจะครอบคลุมถึงการชำระหนี้หุ้นกู้ด้อยสิทธิด้วย

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ อันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิ
         

การเข้าถือหุ้นของ BTMU ใน BAY เกินกว่า 50% น่าจะส่งผลให้อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวและระยะสั้น และอันดับเครดิตภายในประเทศของ BAY ได้รับการปรับเพิ่มอันดับอย่างน้อย 1 อันดับ อย่างไรก็ตามจำนวนอันดับที่จะได้รับการปรับขึ้น จะขึ้นอยู่กับพิจารณาของฟิทช์ในเรื่องระดับความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของ BAY ต่อ BTMU และระดับความร่วมมือในการดำเนินงาน (Integration) ระหว่าง BAY และ BTMU

อย่างไรก็ตาม การปรับเพิ่มอันดับเครดิตไม่น่าจะมีการปรับขึ้นเกินกว่า 2 อันดับ เนื่องจากเพดานอันดับเครดิต (Country Ceiling) ของประเทศไทยปัจจุบันอยู่ที่ ‘A-’ และธนาคารพาณิชย์ไทยอื่นที่ถือหุ้นโดยธนาคารต่างประเทศโดยทั่วไปแล้วจะมีอันดับเครดิตอยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตของธนาคารแม่อยู่ 1 อันดับ ทั้งนี้อันดับเครดิตอาจจะไม่เปลี่ยนแปลง หาก BTMU ไม่สามารถเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่หรือไม่มีการรวมงบการเงิน (consolidate) ของ BAY เข้ากับกลุ่ม BTMU

อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิและหุ้นกู้ด้อยสิทธิของ BAY จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคาร

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – อันดับเครดิตสนับสนุน
         

เครดิตพินิจเป็นบวกของอันดับเครดิตสนับสนุนสะท้อนถึงความคาดหมายของฟิทช์ที่มองว่าจะมีความเป็นไปได้สูงขึ้นที่ BAY จะได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นสถาบันรายใหม่ หากการเข้าซื้อหุ้นสามัญดังกล่าวประสบความสำเร็จ ทั้งนี้อันดับเครดิตสนับสนุนในปัจจุบันสะท้อนถึงความเป็นไปได้ในระดับหนึ่งที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เนื่องจากความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของธนาคาร ในฐานะธนาคารพาณิชย์ขนาดกลาง โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ค่อนข้างจะมีนัยสำคัญที่ 7%-8%

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับเครดิตสนับสนุน
         

การที่ BTMU สามารถเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ (majority stake) ใน BAY น่าจะส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิตสนับสนุนขึ้นเป็น ‘2’ เนื่องจากมีความเป็นไปได้ในอย่างสูงที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นใหญ่ระยะยาวรายใหม่


อนึ่ง BAY ก่อตั้งขึ้นในปี 2488 และเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ของประเทศไทย GECIH ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ General Electric Capital Corporation Inc ปัจจุบันถือหุ้นในสัดส่วน 25.3% ขณะที่กลุ่มตระกูลรัตนรักษ์ถือหุ้นในสัดส่วน 25% บริษัทภายใต้กลุ่มการเงินของธนาคารมีการดำเนินกิจการในธุรกิจต่างๆ เช่น สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อเพื่อการบริโภค ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจจัดการกองทุน

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 05 ก.ค. 2556 เวลา : 17:53:16
28-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 28, 2024, 2:30 pm