ในปัจจุบันเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ (3D Printing) มีความก้าวหน้าและมีการพัฒนาเครื่องพิมพ์ขนาดเล็กลงจนสามารถนำมาใช้ตามบ้านเรือนหรือสถานศึกษาต่าง ๆ ได้สะดวก ไม่ได้มีขนาดใหญ่เทอะทะเหมือนที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมเหมือนดังแต่ก่อน จึงช่วยส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ หลากหลาย รวมถึงด้านการแพทย์
“เครื่องพิมพ์ 3 มิติ” ทำงานโดยรับไฟล์ "โมเดล 3 มิติ" จากเครื่องคอมพิวเตอร์พิมพ์ออกมา โดยวัสดุที่ใช้มักเป็นพลาสติก โลหะหรือยางเรซิน ที่ผ่านมาเทคโนโลยีนี้ทำให้เกิดผลงานมากมาย เช่น เคสโทรศัพท์มือถือ ที่ใส่นามบัตร แก้วน้ำ เสื้อผ้าและรองเท้า แบบจำลองเหมือนจริง ตัวอ่อนมนุษย์จำลอง และรูปปั้นเพื่อการศึกษาทางการแพทย์
แม้แต่สัตว์ก็ได้ประโยชน์จากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ดังเมื่อเร็ว ๆนี้ สถานอนุรักษ์นกน้ำเมืองอาร์ลิงตัน รัฐเทนเนสซีของสหรัฐ ยังทำเท้าเทียมให้ลูกเป็ดน้อยที่พิการช่วยให้มันเดินได้คล่องตัวขึ้น
เวลานี้มีผลงานทางการแพทย์ใหม่ที่คาดว่า จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ป่วยจำนวนมาก ได้แก่ เฝือกที่ได้จากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ซึ่งเป็นผลงานของ นายแจค อีวิล นักศึกษาวิชาเอกการออกแบบสื่อและการออกแบบอุตสาหกรรม แห่งมหาวิทยาลัยวิกตอเรีย ในเมืองเวลลิงตันของนิวซีแลนด์ ซึ่งเขาได้ร่วมกับทางภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ของมหาวิทยาลัย พัฒนาต้นแบบเฝือกรุ่นใหม่ที่สวมใส่ได้พอดีกับผู้ป่วยกระดูกหักโดยใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ อนาคตอาจจะมาแทนที่เฝือกปูนพลาสเตอร์หรือไฟเบอร์กลาสที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันก็เป็นได้
เฝือกรุ่นใหม่มีชื่อว่า “Cortex” ทำจากพลาสติกพอลิเอไมด์ หรือมีชื่อทางการค้าว่า "ไนล่อน" ออกแบบเป็นโครงสร้างคล้ายตาข่ายบางเบา แต่แข็งแรงและคงทน ขณะเดียวกันยังระบายอากาศได้ดีจึงช่วยขจัดปัญหากลิ่นเหม็นอับและคันของเฝือกแบบเก่า และยังสามารถซักได้ด้วย
การผลิตเฝือกใหม่สามารถทำได้ง่าย เพียงใช้เครื่องเอ็กซเรย์และสแกนสร้างภาพ 3 มิติอวัยวะผู้ป่วยให้สัมพันธ์กับจุดที่กระดูกแตกหัก จากนั้นซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ออกแบบเฝือกตามที่ลูกค้าหรือผู้ป่วยต้องการ ก่อนสั่งงานเครื่องพิมพ์ ซึ่งจะได้เฝือกที่ตรงและพอดีกับความต้องการของผู้ป่วย โดยมีด้านหนึ่งเปิดสำหรับให้สอดแขนเข้าไป
การพิมพ์ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงเท่านั้น ในขณะที่เฝือกทำจากปูนพลาสเตอร์ใช้เวลา 3-9 นาที แต่กว่าจะเสร็จสมบูรณ์ต้องใช้เวลา 24-72 ชั่วโมงและด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติที่ก้าวหน้าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ต่อไปจะช่วยลดเวลาในการผลิตได้อีก
ข้อดีของการผลิตเฝือกแนวใหม่นี้อีกอย่าง คือ การใช้วัสดุเป็นปริมาณน้อยในการผลิต จึงช่วยลดขยะเหลือทิ้งหลังการใช้งาน และยังสามารถนำไปรีไซเคิลเพื่อทำชิ้นใหม่สำหรับผู้มีปัญหากระดูกหักได้อีก
สำหรับแนวคิดการพัฒนาเฝือกรุ่นใหม่ ๆ ที่เคยมีก่อนหน้านี้เป็นของนักศึกษาเช่นกัน คือ นักศึกษาของมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียของสหรัฐ ซึ่งพัฒนาเฝือก "The PuzzleCast" ทำจากพลาสติกที่สามารถปรับรูปร่างได้เมื่อโดนความร้อน มีราคาถูก ทำเป็นชิ้นส่วนแยกกัน 6 ชิ้น เพื่อให้ถอดออกและประกอบใหม่ได้ตามความต้องการ
ส่วนอีกผลงานเป็นของนายเพโดร นาคาซาโตะ ชาวบราซิลออกแบบเฝือกไฮเทคที่สามารถติดตามสถานะของกระดูกได้ โดยใช้เซนเซอร์วัดคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อหลายชิ้นก่อนส่งข้อมูลแจ้งแพทย์ทางอินเทอร์เน็ต เพื่อช่วยให้แพทย์ติดตามกล้ามเนื้อและกระดูกของผู้ป่วยได้ตลอดจากระยะไกล ซึ่งช่วยประหยัดเวลาในการเดินทางไปพบแพทย์ด้วย ไปพบตามนัดเป็นครั้งคราวเท่านั้น
ข่าวเด่น