ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “สถานะเศรษฐกิจและการเงินของประเทศไทย” ในงานประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ประจำภูมิภาคเอเซียน เมื่อวันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคม 2556 ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ โดยช่วงหนึ่งของการปาฐกถาพิเศษ ผู้ว่ากาธปท. ได้กล่าวถึงบทบาทการดำเนินนโยบายการเงินและคลังในปัจจุบันว่า
นโยบายการเงินมีบทบาทสำคัญในการรักษาสมดุลระหว่างการขยายตัวและเสถียรภาพของเศรษฐกิจ ทำหน้าที่คล้ายกับการเหยียบหรือผ่อนคันเร่งให้เศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยความเร็วที่เหมาะสม เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น แม้ว่านโยบายการเงินจะไม่มีบทบาทโดยตรงในการเพิ่มศักยภาพของประเทศ แต่อย่างน้อยต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ เช่น บทเรียนวิกฤตซับไพรม์ในสหรัฐฯ ได้แสดงให้เห็นว่า การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายยาวนานเกินไปอาจนำไปสูวิกฤตการณ์ทางการเงินในที่สุด
สำหรับนโยบายการคลัง มีบทบาทโดยตรงในการเพิ่มศักยภาพของประเทศ จึงควรให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นและการยกระดับศักยภาพของประเทศในระยะยาวควบคู่กันไป ที่ผ่านมาเราเห็นนโยบายภาครัฐ มุ่งเน้นแต่การเพิ่มรายได้ กระตุ้นรายจ่ายของครัวเรือนแต่การกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นลักษณะนี้มีข้อจำกัด คือ 1) ไม่ยั่งยืน 2)เสียโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของประเทศ 3) บิดเบือนกลไกตลาดและไม่จูงใจให้ภาคเอกชนพัฒนาตัวเอง ดังนั้นการทำนโยบายแบบอุ้มชูจะทำให้ศักยภาพภาคเอกชนล้าหลังในระยะยาว
นโยบายภาครัฐที่ดีสำหรับประเทศไทยเวลานี้ ควรเน้นที่ด้าน supply โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังมีอยู่หลายด้าน ทั้งระบบการขนส่งและด้านตลาดแรงงาน รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่จูงใจให้ภาคเอกชนพัฒนาศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่
ประการแรก คือ การลงทุนพัฒนาระบบขนส่ง ต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยยังสูงมากเมื่อเทียบกับสหรัฐฯ โดยในปี 2554 มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 14 ของ GDP ขณะที่ต้นทุนของสหรัฐฯ อยู่ที่ร้อยละ 8 เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าเกือบเท่าตัว ส่วนหนึ่งเนื่องจากการขนส่งของไทยพึ่งพาการขนส่งทางถนนเป็นหลัก ซึ่งเป็นรูปแบบที่ต้นทุนพลังงานสูงกว่าทางรางมากกว่า 3 เท่า ทำให้ไทยมีสัดส่วนการพึ่งพาพลังงานน้ำมันต่อ GDP (oil intensity) สูงถึงร้อยละ 13 ขณะที่สหรัฐฯ มีสัดส่วนการพึ่งพาพลังงานน้ำมันเพียงร้อยละ 5 ต่อ GDP ทำให้ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุน ล้าหลังประเทศที่พัฒนาแล้วค่อนข้างมาก
ประการที่สอง คือ การลดข้อจำกัดด้านตลาดแรงงาน ในที่นี้ผมขอไม่กล่าวถึงปัญหาการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเนื่องจากเราคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ และทุกท่านคงทราบดีอยู่แล้ว แต่ผมจะกล่าวถึงปัญหาที่สำคัญในตลาดแรงงาน 3 ข้อ
ข้อแรก ปัญหาความไม่พอดีกันระหว่างความต้องการของผู้ประกอบการ กับ ทักษะและความสามารถของแรงงาน (skill mismatch) ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่ภาคธุรกิจยังขาดแคลนแรงงานประเภทช่างที่มีการศึกษาด้านวิชาชีพ ปวช./ปวส. อย่างมาก แต่เรามีแรงงานระดับปริญญาตรีล้นตลาด เห็นได้จากมีคนหนุ่มสาวเข้าสอบครูเป็นจำนวนมาก
ข้อสอง ภาคการผลิตยังพึ่งพาแรงงานไร้ทักษะอยู่มาก ส่วนหนึ่งจากค่าจ้างแรงงานที่อยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลานาน ทำให้ไม่จูงใจให้ผู้ประกอบการคิดที่จะปรับตัวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อลดการพึ่งพาแรงงาน หรือปรับเปลี่ยนไปสู่อุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อนและมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดของตลาดแรงงานในประเทศ
ข้อสาม นโยบายอุดหนุนราคาสินค้าเกษตร จูงใจให้แรงงานย้ายจากภาคอุตสาหกรรมไปสู่ภาคเกษตร ทำให้ผลิตภาพของแรงงานโดยรวมของประเทศโตช้าลง
นโยบายภาครัฐประการที่สาม คือ การสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี ฟังดูเหมือนเป็นนโยบายที่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจอย่างอ้อม ๆ แต่ผมมองว่าเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน ได้แก่ สภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันจากการเปิดประเทศออกไปเผชิญกับคนเก่งของประเทศอื่น ๆ อย่างในกรณีของ AEC การอนุญาตให้ต่างชาติสามารถเข้ามาลงทุนในประเทศและแข่งขันกับสินค้าในบ้านเรา จะเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้ประกอบการไทยตื่นตัวที่จะต้องออกไปสร้างโอกาส สร้างความได้เปรียบในต่างประเทศ ตื่นตัวที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการทำธุรกิจ และยกระดับคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐานสากล
ด้านสภาพแวดล้อมทางการเงิน แบงก์ชาติเองก็ดูแลให้อัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหวตามกลไกตลาดมากที่สุด และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรู้จักบริหารความเสี่ยงด้วยตนเอง ขณะเดียวกัน ก็ผ่อนคลายกฎเกณฑ์ให้คนไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศได้สะดวกขึ้น ส่งเสริมให้คนเก่งในประเทศออกไปแสวงหาโอกาสในต่างประเทศ พร้อมกันนี้ก็เป็นการสร้างสมดุลในกับการไหลเวียนของเงินทุนของไทยด้วย
ผมเชื่อว่า นโยบายของภาครัฐที่ส่งเสริมภาคเอกชนแต่ไม่อุ้มชู แก้ไขปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน และสร้างสภาพแวดล้อมที่จูงใจให้ภาคเอกชนพัฒนาศักยภาพ จะส่งเสริมให้ภาคเอกชนไทยแข็งแรง พอที่จะรับมือกับความผันผวนต่างๆ และพร้อมที่จะเปิดรับโอกาสทางธุรกิจได้ในอนาคต
ผู้ว่าการธปท.ยังได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยด้วยว่า หากเปรียบประเทศไทยเป็นเสมือนเรือที่แล่นอยู่ในทะเล วันนี้เรือลำนี้ได้เดินทางมาไกลพอสมควร แต่ยังต้องเดินทางอีกไกลกว่าจะถึงเป้าหมายที่ได้วาดไว้ ซึ่งอาจจะยังไม่เห็นจุดหมายเองด้วยตา เพราะที่ผ่านมาการเดินทางของเราสะดุดระหว่างทางกับมรสุมต่าง ๆ ที่พัดผ่านมา ทำเราเสียสมาธิออกนอกเส้นทางในบางครั้ง และเผลอคลุกตัวอยู่กับปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้า ซึ่งทำให้เสียเวลาและทรัพย์สินไปบ้าง แต่ขอแค่เรามีสติกลับมาที่เสาหลัก กางใบออกเต็มที่ นำพาเรือลำนี้มุ่งหน้าอย่างมีทิศทาง เมื่อนั้นเราจะไม่อ่อนไหวต่อมรสุมต่าง ๆ ข้างหน้า และจะสามารถเดินทางไปถึงจุดหมายได้อย่างรวดเร็วและมั่นคง
ข่าวเด่น