แบงก์-นอนแบงก์
อ่านเกมสินเชื่อบ้านครึ่งปีหลัง แบงก์เข้มสินเชื่อ ระวังคุณภาพหนี้ โตเบาๆ แค่ 10% ไร้แคมเปญแรงเขย่าตลาด


 




"ตลาดสินเชื่อบ้าน" ที่ปีนี้ถูกยกให้เป็นหนึ่งในประเด็นร้อนที่ทุกธนาคารระมัดระวังและจับตาดูอยู่ตลอดเวลา เพราะมีข่าวออกมาเป็นระยะว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์อยู่ในภาวะขยายตัวอย่างร้อนแรง เกรงว่าจะนำไปสู่ภาวะเก็งกำไรและฟองสบู่ในที่สุด หรือแม้แต่ลูกค้าที่ตั้งใจซื้อจริงก็อาจจะสูญเสียกำลังความสามารถที่จะผ่อนชำระไปมากแล้วกับโครงการรถคันแรก

แม้ทุกแบงก์จะพูดไปในทิศทางเดียวกันว่าระมัดระวัง แต่ผ่าน 6 เดือนแรกไป ทุกแบงก์ก็ยังเติบโตในตลาดนี้ได้ "พอสมควร" ขณะเดียวกันก็เริ่มยอมรับว่า สัญญาณการปฏิเสธสินเชื่อเริ่มขยับขึ้นบ้างแล้ว สะท้อนว่า กลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ที่เดินเข้ามาขอสินเชื่อบ้านนั้น มีภาระหนี้ที่แบกมาแล้วอยู่ไม่น้อยเช่นกัน

 


 
"ชาติชาย พยุหนาวีชัย" รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวยอมรับว่าอัตราการปฏิเสธสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปัจจุบันขยับขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 35% จากเดิมอยู่ที่ประมาณ 25-30% เท่านั้น ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ก็เนื่องจากพบว่าลูกค้ามีภาระหนี้สูงอยู่แล้ว โดยเฉพาะการผ่อนสินเชื่อรถ จึงอาจจะไม่มีความสามารถผ่อนชำระค่างวดได้เพิ่มเติมอีก ขณะเดียวกันก็มีบางส่วนที่เป็นหนี้เสียแล้ว

 
 
 
ดังนั้น ในครึ่งปีหลังแต่ละแบงก์ก็คงต้องระมัดระวังมากขึ้น โดยเขาได้ยกตัวอย่างกรณีธนาคารกสิกรไทยที่เข้มงวดขึ้นสำหรับกรณีลูกค้าที่ขอสินเชื่อเพื่อซื้อบ้านเป็นหลังที่ 3 ว่าจะปรับลดวงเงินให้สินเชื่อลงจากเดิมอีก 15% จากเดิมที่ให้วงเงินสินเชื่อ 95% ของราคาบ้าน และ 90% ของราคาคอนโดมิเนียม ส่วนใครที่จะซื้อบ้านหลังที่ 4 เป็นต้นไปก็ขอปฏิเสธปล่อยกู้ เพื่อป้องกันปัญหาเก็งกำไร

 
 
 
มาตรการนี้ถูกนำมาใช้เช่นเดียวกับในหลายๆ ธนาคาร เช่น ธนาคารยูโอบี โดย "ยุทธชัย เตยะราชกุล" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บุคคลธนกิจ บอกว่า กรณีสินเชื่อบ้านที่มีมูลค่าตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไปนั้น ธนาคารจะปรับลดวงเงินสินเชื่อลงมา 10% จากปกติที่ให้วงเงินสูงสุดถึง 90% ก็จะลดลงมาเหลือแค่ 80% และกรณีที่ซื้อเป็นบ้านหลังที่ 2-3 ก็ลดวงเงินสินเชื่อลงไป 10% เช่นกัน


ประเภทที่อยู่อาศัยที่จับตามองเป็นพิเศษก็คือ กลุ่มคอนโดฯ ที่อยู่ใจกลางเมืองและบ้านในพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เพราะเป็นทำเลที่ดี มีปริมาณความต้องการค่อนข้างสูง หากเข้ามาเก็งกำไรก็จะสามารถปล่อยขายต่อได้ง่าย จึงถือเป็นทำเลที่มีการเก็งกำไรค่อนข้างสูง

 
 
 
นอกจากนี้แล้ว สัญญาณที่พบอีกอย่างหนึ่งก็คือ บริษัทผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ฯ หรือที่เรียกว่า "ดีเวลอปเปอร์" นั้น ก็พยายามควบคุมคุณภาพของลูกค้าเช่นกัน โดยเฉพาะการปรับเพิ่มเงื่อนไขให้ลูกค้าวางเงินดาวน์สูงขึ้นกว่าปกติ เพื่อให้แน่ใจว่าลูกค้าที่เข้ามาซื้อบ้านหรือคอนโดฯ จากโครงการนั้นต้องการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง มิใช่ลงทุนวางเงินดาวน์ต่ำๆ เพื่อหวังเก็งกำไรจากการขายต่อ 

มิฉะนั้น ก็จะเป็นผลเสียต่อดีเวลอปเปอร์เช่นกัน เพราะหากลูกค้าจองโดยวางเงินดาวน์ต่ำเอาไว้ แล้วไม่สามารถขายต่อให้ผู้ซื้อจริงได้ ลูกค้าก็อาจจะไม่มีความสามารถผ่อนชำระได้ ก็ต้องทิ้งดาวน์ในที่สุด ยิ่งมีลูกค้าลักษณะนี้มากก็ยิ่งเสียหายมาก



 
 
เพื่อสกัดปัญหานี้ด้วยนั้น "พิกุล ศรีมหันต์" ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่า ครึ่งปีหลังจะยิ่งไม่เห็นแคมเปญในลักษณะดอกเบี้ยต่ำ 0% ออกมา เพราะการใช้ลูกเล่นนี้เป็นการเปิดช่องให้ลูกค้าสามารถเก็งกำไรได้ง่ายขึ้น เนื่องจากไม่มีต้นทุนการเงินในการกู้ในช่วงแรก แม้จะไม่มีแคมเปญลักษณะดังกล่าว แต่เชื่อว่าตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยครึ่งปีหลังก็ยังคงแข่งขันกันรุนแรง

พิกุลประเมินว่า ตลาดคงต้องแข่งขันไปในมุม "ดูแลลูกค้า" ที่มุ่งพัฒนาบริการหรือรูปแบบสินเชื่อให้ตอบได้ตรงใจลูกค้ามากที่สุด นอกจากเรื่องดอกเบี้ยแล้วก็ยังมีเรื่องความสะดวกในการขอสินเชื่อ การตรวจสอบข้อมูล ประวัติเครดิตและความสามารถผ่อนชำระ เป็นต้น ก็จะเป็นจุดตัดที่สำคัญ

 
 
 
แม้จะแข่งขันรุนแรง แต่บรรดานายแบงก์เหล่านี้ก็ยังเชื่อมั่นว่า มาตรการควบคุมคุณภาพสินเชื่อที่อยู่อาศัยยังจำเป็นสำหรับการเติบโตในช่วงครึ่งปีหลัง และที่สำคัญแต่ละแบงก์มองเป้าหมายการเติบโตสินเชื่อเพียง 8-10% เท่านั้น ซึ่งสอดคล้องไปกับทิศทางของตลาดที่อยู่อาศัยในปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัวในอัตราเดียวกัน 

ฉะนั้น การแข่งขันรุนแรงแบบห้ำหั่น เพื่อแย่งกันโกยสินเชื่อเข้ามานั้นคงไม่เกิดขึ้น เพราะไม่มีแรงกดดันเรื่องเป้าหมายสินเชื่อ หากแต่ทุกคนต้องการให้แน่ใจว่าเติบโตแบบไม่ได้เปิดช่องให้นำไปสู่การเก็งกำไรโดยอาศัยสินเชื่อของธนาคารนั่นเอง

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 17 ก.ค. 2556 เวลา : 09:35:58
28-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 28, 2024, 2:02 am